Tuesday, January 21, 2020

Get more senses

เมื่อกายมองโลกรอบด้าน
      เราคุ้นเคยกับการพูดถึงและการใช้ประสาทสัมผัสห้าทาง (หู ตา จมูก ลิ้นและกาย). ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาควบคู่กับเทคโนโลยี บอกให้รู้ว่า ยังมีประสาทรับรู้ประเภทอื่นๆที่ถูกละเลย เพราะขาดข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยัน แม้จะมีตัวอย่างชัดเจนมาก. โดยเฉพาะในหมู่สัตว์บางชนิดที่มีระบบรับรู้โลกรอบข้างระบบอื่นๆที่คนไม่มี ทำให้คนไม่อาจอธิบายได้เพราะขาดประสบการณ์ตรง.
     สัตว์หลายชนิด มีประสาทรับรู้สนามไฟฟ้า (electroperception)  เหมือนเป็นประสาทสัมผัสที่หก โดยเฉพาะในหมู่สัตว์น้ำ (เพราะน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีกว่าอากาศ) เช่นฉลามและปลาอื่นๆอีกมาก  ปลาบางชนิด(ที่เคยเห็นในหนังสารคดีที่มีแสงเรืองรอง เช่นปลาไหลไฟฟ้า) ยิ่งบอกชัดเจนว่า รับรู้สนามไฟฟ้าได้ดีมาก. ยังมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางชนิด ปลาโลมาพันธุ์หนึ่ง ก็มีประสาทรับรู้ไฟฟ้าเช่นกัน. ประสาทรับรู้สนามไฟฟ้านี้ มีประโยชน์อะไรหรือ?
        ความรู้ทั่วไปสอนว่า สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ (รวมคนด้วย) แผ่กระแสไฟฟ้าออกนอกตัว สร้างสนามไฟฟ้าเล็กๆ เหมือนออร่าของแต่ละคน. กระแสไฟฟ้าที่แผ่ออกจากตัว กล่าวสั้นๆคือเกิดจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ประสาทและการทำงานของหัวใจ. สิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์น้ำ ที่มีประสาทรับรู้สนามไฟฟ้า มีอวัยวะพิเศษจับความถี่ของกระแสไฟฟ้า ที่บอกมันว่า มีปลามีกุ้งอยู่ที่ไหน ทำให้มันว่ายไปในทิศทางของอาหารหรือเหยื่อของมันได้ และแม้ว่าเหยื่อของมันจะหลบจะแฝงตัวอย่างไรด้วยวิธีใด มันก็ไปถึงเหยื่อได้ไม่ผิดพลาด. ประสาทรับรู้ไฟฟ้านี้ เป็นตัวเจาะจงพิกัดพื้นที่อยู่ของเหยื่อ (เป็น passive electrolocalisation). สัตว์บางชนิด ส่งกระแสไฟฟ้าออกจากตัวของมันเอง แผ่เหมือนแหออกไปรอบตัว เป็นการสำรวจพื้นที่ในบริเวณนั้น (เป็น active electrolocalisation).  
        ยิ่งกว่านั้น ปลาบางชนิดที่มีไฟฟ้าอ่อนๆ ใช้กระแสไฟฟ้าโต้ตอบสื่อสารกันในหมู่ปลาสายพันธุ์เดียวกัน สัญญาณไฟแบบต่างๆ (ข้าพเจ้าคิดเดาว่าคงเป็นคลื่นแบบสั้นยาว หรือสั้นๆยาวๆ หรือสั้นยาวสั้นยาว) เป็นข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่เข้าใจกันในหมู่ปลาพันธุ์เดียวกัน. ปลาสายพันธุ์อื่น ใช้สัญญาณไฟฟ้าทำความรู้จักกัน จับคู่กัน. น่าเสียดายว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันในกรณีของคน ว่าสร้างใยสัมพันธ์กัน จับคู่กัน ด้วยสัญญาณไฟฟ้า เพราะคน(ปกติ)ไม่มีประสาทรับรู้สนามไฟฟ้า. (แต่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปแล้วในหมู่โดรน รวมทั้งในหมู่หุ่นยนต์ ที่ส่งกระแสไฟฟ้าถึงกันและแบ่งปันข้อมูลแก่กัน แล้วชวนกัน มีพฤติกรรมตอบโต้และสนองกัน โดยที่ผู้สร้างมิได้จัดโปรแกรมให้ไว้เลย).  
        งานวิจัยหลังๆมา พบว่า ไฟฟ้ามีบทบาทหลักในหมู่ผึ้ง ในการผสมพันธุ์ด้วยละอองเกสรหรือการสื่อสารระหว่างกัน. รู้กันดีว่า ผึ้งเป็นแมลงสังคม อยู่กันเป็นระบบสังคมแบบหนึ่งในรวงผึ้งแต่ละรวง.  งานวิจัยเกี่ยวกับแมลงสาบ ก็ระบุว่า แมลงสาบรับรู้กระแสไฟฟ้าและรู้จักหลีกเลี่ยงสนามไฟฟ้า แต่ยังไม่มีใครชี้ชัดลงไปว่า อวัยวะส่วนไหนของผึ้ง ของแมลงสาบที่เป็นตัวรับส่งไฟฟ้า นอกจากสังเกตความสั่นสะเทือนน้อยๆของหนวดผึ้งหรือหนวดแมลงสาบ.

      ในหมู่สัตว์(บางชนิด) ยังมีประสาทรับรู้สนามแม่เหล็กอีกด้วย (เป็น magnetoreception) คือรับรู้พิกัดที่ตั้งและทิศทางของสนามแม่เหล็ก เช่นสนามแม่เหล็กโลก. ประสาทส่วนนี้เองที่ช่วยให้นกบินไปในทิศทางที่มันต้องการไป ไม่เคยหลงทาง ราวกับว่ามันมีเข็มทิศนำทาง. ให้จินตนาการว่าเมื่อนกย้ายถิ่นฐานจากขั้วโลกลงมาสู่ดินแดนที่อบอุ่นกว่า บินข้ามผืนน้ำอันไพศาล ที่ไม่มีอะไรเป็นแลนด์มาร์คให้พวกมันจดจำเลย แล้วย้ายกลับไปเมื่อฤดูหนาวสิ้นสุดลง. นกทำได้อย่างไร? มันอาศัยประสาทรับรู้สนามแม่เหล็กของมันเอง. กรณีของนกเป็นกรณีที่มีการศึกษาวิจัยเข้ม จนยืนยันเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ ว่านกมีศักยภาพรับรู้สนามแม่เหล็ก.   
         นกมิได้เป็นสัตว์กลุ่มเดียว ยังมีสัตว์อื่นๆอีกมาก เช่นเต่าทะเล ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กุ้งมังกร แมลง ค้างคาว ฯลฯ. แต่การวิจัยในสัตว์จำพวกอื่นที่กล่าวมา ยังน้อยและนักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจหรือระบุได้ชัดเจนว่า ประสาทรับรู้สนามแม่เหล็กในสัตว์เหล่านี้นั้น มันมีกระบวนปฏิบัติการอย่างไร. เมื่อเทียบกัน ประสาทรับรู้สนามไฟฟ้าในสัตว์ที่กล่าวมาในตอนต้นนักวิทยาศาสตร์สามารถเจาะจงอวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องและทำหน้าที่ส่งหรือรับไฟฟ้าอย่างถูกต้องชัดเจนกว่าประสาทรับรู้สนามแม่เหล็ก. ประสาทรับรู้สนามแม่เหล็กในตัวคนก็เช่นกัน ยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน แนวโน้มทั่วไปคือบอกว่าคนไม่มีประสาทพิเศษนี้. 

         ในกรณีของคน บางคนคงเคยประสบมาแล้วว่า เมื่อไปสัมผัสไฟฟ้าสถิต ขนที่แขนหรือผมตั้งชัน ที่ทำให้รู้ว่า มีกระแสไฟฟ้าในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ.  แต่นี่ไม่เหมือนกับประสาทรับรู้สนามไฟฟ้าของสัตว์ที่เรากล่าวถึงข้างต้น. เพราะคนเห็น ได้ยิน หรือสัมผัสไฟฟ้า ด้วยประสาทห้าทางของเราตามปกติ เช่นเราเห็นฟ้าแล็บฟ้าผ่า เรารับรู้ด้วยการมองและการฟัง, เราเห็นกระแสไฟแปล็บๆจากปลั๊กไฟ ได้ยินเสียงไฟด้วย. ตัวอย่างทั้งหมดเป็นการรับรู้ของหนึ่งในห้าของประสาทสัมผัสปกติของคน. ในทำนองเดียวกัน คนเห็นทิศทางของสนามแม่เหล็กได้ ด้วยเข็มทิศ หรือเมื่อโรยเศษผงเหล็กลงบนแผ่นโลหะ เศษเหล็กเหล่านั้น รวมตัวชี้ไปในทิศทางของขั้วแม่เหล็กที่ใกล้ที่สุดหรือสนามแม่เหล็กโลก.
       เรายึดกันมานานว่า คนมีประสาทสัมผัสรับรู้โลกรอบข้างห้าทาง (ทางหู ตา จมูก ลิ้นและกาย) แต่ละประสาทรับรู้แล้วส่งข้อมูลเกี่ยวกับโลกภายนอกตัวเราในแต่ละขณะ ให้แก่สมอง. งานวิจัยใหม่ๆสรุปให้เห็นว่า แท้จริงคนมีทางรับรู้โลกภายนอกมากกว่าห้าทาง มี(อย่างน้อย) 9 ทาง สรุปสั้นๆ ดังนี้.
ประสาทที่หกของคน (thermoception) คือ ศักยภาพในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ. ผิวหนังทั้งร่างกาย จดบันทึกทั้งความร้อน ความเย็นและการเปลี่ยนอุณหภูมิแบบฉับพลัน แล้วส่งข้อมูลไปกับเซลล์ประสาท ต่อไปถึงสมอง.  (หากศักยภาพนี้เสื่อมลง เกิดปัญหาที่เรียกว่า ciliopathy ที่อาจส่งผลกระทบต่อไปยังระบบทำงานอื่นๆของร่างกายเช่น ทำให้ตาบอด, หูหนวก, ระบบทางเดินหายใจอักเสบ ฯลฯ)

ประสาทที่เจ็ด (nociception) คือ การรับรู้ความเจ็บปวด เป็นระบบเซลล์ประสาทที่ตอบรับสิ่งที่มากระทบร่างกาย ที่อาจทำร้ายหรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย. นักวิทยาศาสตร์แบ่งความเจ็บปวดออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ 
๑. ความเจ็บทางกาย ที่เกิดจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย ด้วยปัจจัยสารพัดชนิด (nociceptive pain) เป็นความเจ็บทางกายที่ทุกคนเคยประสบหรือคุ้นเคย เช่นถูกยุงกัด โดนน้ำร้อนลวก ถูกไฟจี้  นิ้วบวมระบมเพราะไปชนขาเตียง คลื่นไส้อาเจียน เนื้องอก ข้ออักเสบฯลฯ  ความเจ็บตัวประเภทนี้ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ท่าทางการยืนการนั่ง น้ำหนักตัวเป็นต้น. 
๒. ความเจ็บในระบบเซลล์ประสาท (neuronpathic pain) ส่วนกลางหรือประสาทส่วนนอก เกิดจากสาเหตุหลากหลายชนิดเช่นจากการติดเชื้อ บาดเจ็บ.  ความเจ็บที่เกิดในระบบประสาทรักษายากกว่า ไม่หายสนิททีเดียว.
        อีกประการหนึ่ง เมื่อเจ็บกาย ก็อาจส่งผลไปกระทบระบบประสาท สร้างวิกฤติการณ์ในระบบประสาทได้.  ความเจ็บปวดทั้งสองชนิด จึงอาจเกิดขึ้นได้ด้วยกัน หรือซ้อนกัน. ยังมีความเจ็บประเภทอื่นๆที่จัดเข้าในสองประเภทที่กล่าวมาไม่ได้ เช่นซินโดรม (syndrome) หรือการทำงานผิดปกติ (dysfunction) ของอวัยวะใด. ความเจ็บผิดปกติของคน มีหลายชนิดที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ทางคลีนิค. 
      ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ มันขึ้นในสมองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดแบบใด. ฟังดูพิกล แต่เป็นความจริงทางคลีนิค. สมองมีระบบจัดการ อะไรต้องเกิดก่อน อะไรตามมาทีหลัง ที่แต่ละคนไม่อาจรู้ได้. เช่นหากระบบประสาทถูกกระทบกระเทือน สมองได้ข้อมูลที่ไม่ดี ความเจ็บแย่ลง, หรือเมื่อระบบประสาทประพฤติตัวผิดปกติ ความเจ็บปวดรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดความเจ็บปวดแบบใหม่ตามมา(เหมือนจะถ่วงอำนาจกัน).

ประสาทที่แปด (equilibrioception หรือ sense of balance). ส่วนของสมองที่อยู่ด้านหลัง เรียกว่า เซเลเบลลุม-cellebellum ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว การประสานกันของกล้ามเนื้อ เช่น การเดิน. ทำหน้าที่รักษาอิริยาบถและความสมดุลของร่างกาย (ไม่หกล้มเมื่อยืนหรือเคลื่อนไหว). อวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวที่จำเป็นอย่างยิ่ง อยู่ในหูชั้นใน (inner ear). โดยทั่วไป หูชั้นใน ตาและระบบประสาท ร่วมกันทำหน้าที่รักษาการทรงตัว. หากอวัยวะสองในสามนี้ เสียไป คนจะหกล้มหกลุก เสียการทรงตัว.

และประสาทที่เก้า (proprioception) คือ การรับรู้ตำแหน่งส่วนต่างๆของร่างกายในแต่ละขณะ(แม้หลับตา) เช่นรู้ว่ากำลังยกมือขึ้น หรือรู้ว่าพื้นที่ยืนอยู่เป็นอย่างไร ราบ ขรุขระ โดยไม่ต้องมองพื้นนั้น. นั่นคือคนมีศักยภาพในการจับสิ่งที่มากระทบร่างกายที่เจาะจงตำแหน่งที่นั่งหรือยืนอยู่ ที่กระทบต่อการเคลื่อนไหวและการทรงตัว. แม้คนตาบอด ก็มีศักยภาพในการรับรู้อิริยาบถของร่างกาย รู้ว่าเขายกมือขึ้น, ก้าวไปข้างหน้าหรือถอยไปข้างหลัง.

        นอกจากประสาทรับรู้เก้าทางที่กล่าวมา ร่างกายยังรับรู้จากทางเล็กทางน้อยอื่นๆอีก แต่ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับการรับรู้สนามไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กที่เรากล่าวถึงในตอนต้นบทเขียนนี้. ดังนั้นความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยเกี่ยวกับประสาทรับรู้สนามไฟฟ้าและประสาทรับรู้สนามแม่เหล็กของสัตว์หลายประเภท (เช่นฉลามหัวฆ้อน ค้างคาว) จึงยังคงมีอะไรลึกลับที่คนเข้าไม่ถึงเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกัน, เหมือนเราพยายามอธิบายสีต่างๆแก่คนตาบอด.  เรารู้เพียงว่า ประสาทพิเศษของสัตว์ ช่วยให้มันหาเหยื่อ(อาหารของมัน) หาพิกัดพื้นที่เป็นต้น. กระบวนการอธิบายด้วยเทคโนโลยีแบบใดก็ตาม อาจทำให้เราเข้าใจ แต่ไม่ทำให้เราเข้าถึงประสาทสัมผัสของฉลามหัวค้อน หรือรู้จิตรู้ใจของฉลามหัวค้อนด้วยเลือดเนื้อของเราเองได้เลย หรือหยั่งความรู้สึกของค้างคาวที่รับรู้สีต่างๆด้วยเสียง (มิใช่ด้วยการมอง) เป็นต้น. เช่นนี้ความเข้าใจในเรื่องที่อยู่นอกประสาทการรับรู้ของคน จึงไม่เต็มร้อยแน่นอน. อย่าว่าแต่สัตว์เลย เราเองยังไม่อาจเข้าถึงจิตใจของคนด้วยกัน ที่มีประสาทรับรู้ทุกอย่างเหมือนกับเรา หรือเรายืนยันได้ว่าโลกที่เรารับรู้กับโลกที่คนอื่นรับรู้นั้น เหมือนกัน, หรือเมื่อฉันและเธอเห็นสีฟ้า เราสองคนรับรู้สีฟ้าด้วยวิธีเดียวกันหรือ.  มันกลายเป็นปัญหาเชิงปรัชญามากกว่าปัญหาวิทยาศาสตร์. 
          เมื่อรู้ว่า เรามีประสาทอื่นๆรับรู้โลกภายนอกและโลกภายในของเราได้ ก็เท่ากับมีโอกาสลับประสาทเหล่านั้นให้คมกริบและมีสมรรถภาพมากขึ้นด้วย.
          เหนือกว่าการรับรู้โลกด้วยประสาททั้งห้าหรือทั้งเก้าชนิดที่เล่ามาสั้นๆข้างต้น ที่มี “กาย” เป็นเครื่องมือ  คน(อาจรวมสิ่งมีชีวิตทุกประเภทด้วย) สามารถรับรู้แทบทุกอย่างด้วยวิญญาณ (หรือ พลังจิต) นั่นคือไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นร่างกาย. การทำฌาณสมาบัติที่พราหมณ์ นักบวชหรือนักพรต ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากโบราณกาลเช่นในหลายลัทธิของอินเดีย (พระพุทธองค์ก็ได้ศึกษาจากสำนักพราหมณ์เกือบทุกสำนักมาแล้ว) ได้เป็นฐานความรู้ที่โลกตะวันตกและโดยเฉพาะในวงการแพทย์แขนงประสาทวิทยา จิตวิทยา จิตวิเคราะห์ กลุ่มวิสัญญีแพทย์ กลุ่มแพทย์บริบาลคนป่วยในระยะสุดท้ายเป็นต้น นำไปพินิจพิจารณา วิเคราะห์ วิจัยเจาะลึกและต่อยอดออกไปมากขึ้นๆในปัจจุบันนี้. (โอกาสหน้าจะนำตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟัง).   
โชติรส รายงาน
๒๑ มกราคม ๒๕๖๓.
--------------------------------------
เอกสารข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับประสาทรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และ ciliopathy ดูเว็บเพจต่อไปนี้ 

No comments:

Post a Comment