ทุกคนคงยังจำได้ว่า
เด็กๆถูกเอ็ดถูกสอนกิริยามารยาทเวลากิน เช่น นั่งตัวตรงๆ, ไม่ท้าวแขน, ไม่กางข้อศอกบนโต๊ะ,
ค่อยๆกิน, อย่ากินเร็วเกินไป, อย่ารีบกลืน, อย่าอม, เคี้ยว, จิบน้ำ,
หยุดเล่นกับช้อน, กินทีละชิ้น, จับช้อนให้ถูก, กินให้หมด, อย่าพูดเมื่อมีอาหารเต็มปาก,
อย่าเคี้ยวเสียงดัง, เช็ดปากก่อน เป็นต้น
ยามนั้น ทุกคนคงนึกเบื่อหน่ายที่ถูกจ้ำจี้จ้ำไช.
มาคิดดูในตอนนี้ ยิ่งเมื่อได้เลี้ยงลูกและหลาน ยิ่งตระหนักว่า
การสอนให้กินอย่างเรียบร้อยและกินดีๆนั้น ผู้สอนต้องมีความอดทนเพียงใด. กวีฝรั่งเศส
Jean
Cocteau, 1889-1963, ในงานเขียนชื่อ Petite Lettre à la
dérive กล่าวว่า เรา(แต่ละคน)ใช้เวลานานมาก กว่าจะเข้าใจว่า อาหารมื้อเย็น (le dîner ที่รวมทุกสมาชิกในครอบครัว และโดยเฉพาะเมื่อมีเพื่อนฝูงหรือญาติผู้ใหญ่มาร่วมรับประทานด้วยกันแล้ว)
หากเด็กๆกินอย่างเรียบร้อย ประพฤติตัวถูกต้องที่โต๊ะอาหาร ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี
นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่งดงามทีเดียว (un dîner
peut être un véritable chef-d’oeuvre). หากเด็กงอแง ไม่กิน คว่ำจาน
ทำอะไรเลอะเทอะ พ่อแม่หน้าเสียเพราะเสียหน้า คนอื่นๆที่ร่วมโต๊ะ
คงกินไม่อร่อยแน่นอน. เราเข้าใจแล้วว่า
มันเป็นการเรียนการสอนระยะยาว กว่าที่เด็กแต่ละคนจะเติบโตและกินเรียบร้อย.
1. ตาวาว (แสดงความสนใจผู้ร่วมโต๊ะ)
2. เสียงราบเรียบ สม่ำเสมอ
3. มือสะอาด
4. ข้อมือผ่อนคลาย วางบนโต๊ะ
5. ผ้าเช็ดปากพาดบนเข่า
6. หลังตรง
7. ศอกติดลำตัว
8. นั่งชิดติดพนักเก้าอี้
เมื่อเทียบกับกระบวนการกินในบ้านเรา ที่มีอาหารทุกอย่างรวมกันบนโต๊ะ กินไปด้วยกัน แบ่งปันกัน
มีช้อนส้อมคนละคู่ และช้อนกลางในแต่ละจานอาหาร การกินมีกฎระเบียบน้อยกว่า แต่มีจิตสำนึกที่คอยควบคุมมารยาทในการกินและความอยากของแต่ละคน
ที่อาจมากกว่าการกินแบบตะวันตก เมื่อต่างคนมีอาหารส่วนตัวอยู่ในจานตรงหน้า. ว่าไปแล้ว
การกินแบบไทย จีน เกาหลี เวียตนาม พม่า เขมร ลาว เป็นบทเรียนฝึกจิตสำนึกที่ยากทีเดียว
เพราะตัวเองเป็นผู้บัญชากิริยามารยาทของตัวเอง (ยกเว้นในวัยเด็กที่พ่อแม่คอยเตือนคอยสอน).
เช่นเมื่อมีปลาหนึ่งตัวสำหรับทั้งครอบครัว ใครจะกินส่วนไหน ใครยอมให้ใครกินส่วนดีที่สุดฯลฯ.
กรณีในครอบครัว ยังมีความรัก, ลำดับความสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้น้อยยอมแก่ผู้ใหญ่.
แต่ในหมู่เพื่อนฝูง แต่ละคนมาจากพื้นฐานการอบรมในครอบครัวต่างกัน
หรือความคุ้นชินจากการเป็นผู้กินตามใจตัวเองโดยไม่เคยนึกถึงคนอื่น
เช่นกรณีของผู้เป็นลูกคนเดียวในครอบครัว หรือกรณีที่มีผู้ตักอาหารส่วนที่ดีที่สุดให้เสมอ.
ความคุ้นชิน ทำให้ไม่นึกถึงการแบ่งปันสิ่งดีๆแก่คนอื่น เพราะไม่มีใครสอน หรือถูกเลี้ยงดูมาอย่างนั้น.
เช่นนี้ วิธีการกินร่วมโต๊ะกับคนอื่นๆ เป็นข้อมูลบ่งบอกการเลี้ยงดูของพ่อแม่,
การศึกษาที่ผ่านมาในชีวิต, ตำแหน่งหน้าที่การงานของแต่ละคน.
ในตะวันตก วิธีกินเกี่ยวไปถึงประเภทอาหาร
ลำดับของการเสริฟอาหาร, มีการเปลี่ยนจาน เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับอาหารแต่ละจาน.
การรู้จักใช้อุปกรณ์การกินหลายชนิดรวมทั้งแก้วน้ำดื่มฯลฯ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกต้องเรียนจากประสบการณ์ตรง.
มารยาทการกิน จึงเป็นสิ่งที่ครอบครัวปลูกฝังและอบรมมาอย่างไม่ลดละตั้งแต่เกิด
และเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นๆตามวัย ตามตำแหน่งหน้าที่ในสังคม.
ยุคกลางในยุโรป
อุปกรณ์การกินชนิดเดียวที่มีบนโต๊ะ คือมีด ที่ใช้ตัด หั่น เฉือน อาหารทุกอย่าง.
ดังจิตรกรรมน้อยที่เห็นนี้ อาหารหลักบนโต๊ะ (ประเภทกินด่วนกินเดี่ยว) คือขนมปัง
ชิ้นเนื้อ และเหล้าไวน์ เป็นสามสิ่งพื้นฐานของอาหารของชนชั้นผู้ดี คหบดี.
กินด้วยมือ มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล. (ยุคเดียวกัน จีนใช้ตะเกียบแล้ว).
ยังไม่มีจานส่วนตัวใช้.
ในยุคโบราณเมื่อหมื่นๆปีก่อนคริสตกาล
มีดเป็นอุปกรณ์แรกของมนุษย์ อุปกรณ์แบบแรกสุดที่ทำหน้าที่ของมีด
คือก้อนหินที่มีด้านแหลมคม (ผ่านการฝนให้แหลมและคม หรือคมตามธรรมชาติ) ที่ใช้ตัด แยกอาหาร(เช่นสัตว์ที่ล่ามาได้ทั้งตัว)ให้เป็นส่วนๆเล็กลง.
เมื่อมีการค้นพบโลหะ ในยุคบร้อนซ์ (3000BC.-400AD.) ตามด้วยยุคเหล็ก (400AD-1000AD.) มีด (อาวุธและวัตถุต่างๆ) เริ่มทำด้วยบร็อนซ์ ทองแดง เหล็ก,
ตามด้วยโลหะมีค่าราคาแพงเช่นเงิน ทอง แล้วก็มีงาช้างฯลฯ, สเตนเลซสตีล(ในทศวรรษที่ 1920) และปลาสติกในศตวรรษที่ 20.
เครดิตภาพ : BNF-Expositions.fr
ภาพนี้จากปี 1540 ในครอบครัวเยอรมัน ยังคงมีมีดเท่านั้น มีจานเปลใหญ่.
ก่อนที่จะมีจานใช้สำหรับแต่ละคน ชาวยุโรปเฉือนปังชิ้นหนาใหญ่มาวางอาหารที่ตนจะกิน
เช่นชิ้นเนื้อ กินไปกับปัง หรือไม่ก็ได้ หรือฉีกปังเป็นชิ้นเล็กๆ
จุ่มลงในซุปข้นหรือน้ำซอสชนิดต่างๆ แล้วกิน. สมัยนี้ชาวตะวันตก
ยังใช้ปังเช็ดน้ำซอสที่เหลือในจาน แล้วเอาเข้าปาก (แบบเช็ดจานจนสะอาดเลย).
ในโรงอาหารนักศึกษาฝรั่งเศส กินกันอย่างนี้ และเราก็กินเหมือนกัน
ไม่ทิ้งให้เหลือซอสแม้หยดเดียว.
จารึกโบราณเกี่ยวกับมารยาทการกินคงมีกล่าวไว้บ้างในอารยธรรมโบราณ.
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 มีการสถาปนาหลักความประพฤติที่สุภาพและถูกต้อง
ตามกติกาศาสนาในอารามนักบวช และในหมู่ชนชั้นสูงกับอภิสิทธิ์ชน. ในยุคกลางที่วิธีการกินตลอดจนอาหารที่กิน บ่งบอกชนชั้นอย่างชัดเจนและเคร่งครัด
(ref. Chotiros : Food Hierarchy,
PDF) ชนชั้นสูงและกลุ่มนักบวช
มีจิตสำนึกของการรู้อยู่รู้กิน รู้เรื่องอนามัยและการรู้จักกินแต่พออิ่ม(ทั้งอาหารและไวน์)
ที่คริสต์ศาสนาถือว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง (temperantia / La Tempérance). ในยุคนั้น
ผู้ร่วมโต๊ะอาหารนั่งติดๆกันไปที่โต๊ะอาหารยาวๆ และใช้ถ้วย กระบวย
ช้อนหรือผ้าเช็ดมือเช็ดปากฯลฯร่วมกัน, ไม่มีของใช้ส่วนตัว. จำต้องมีกฎและระเบียบการกินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน.
เมื่อใช้ถ้วยร่วมกัน ก็ระมัดระวังให้หมดคราบก่อนส่งต่อให้คนอื่น.
ไม่จิ้มชิ้นเนื้อของตนลงในกระปุกเกลือที่ใช้ร่วมกับคนอื่นๆ, ไม่ส่งต่ออาหารที่กัดไปส่วนหนึ่งให้คนอื่น,
ไม่หยิบชายผ้าปูโต๊ะขึ้นเช็ดน้ำมูก, ไม่กินเร็วเกินไป, ไม่กินมากเกินไป,
ไม่กินเสียงดังหรือดื่มจนมึนเมาฯลฯ. เช่นนี้แต่ละคนต้องรู้จักควบคุมตนเองและเคารพผู้ร่วมโต๊ะ
รู้จักมาตรการพื้นฐานต่างๆ มิฉะนั้นจะถูกประณามว่าเป็นขอทานจรจัด. เด็กๆจากตระกูลสูง
ถูกสอนความประพฤติต่างๆนี้ ตั้งแต่วัยเยาว์ในครอบครัวและในโรงเรียน,
ดังคำพังเพยว่า “อย่าพูดเมื่อมีอาหารเต็มปาก มันน่าเกลียดและหยาบคาย” « Ne parle point la bouche pleine / Car c'est laide chose et
vilaine ».
ต่อมาในยุคเรอแน้สซ็องซ์ อิตาลี เป็นศูนย์กลางของศิลปวิทยา ความมั่งคั่ง
ความหรูหราอลังการโดยเฉพาะสาธารณรัฐเวนิส
(ระหว่างศตวรรษที่ 7-18)
ที่มีชื่อทางการว่า la Serenissima
Repubblica di Venezia
ที่รวมความเป็นเลิศในทุกทาง แน่นอนรวมทั้งความประณีตในศิลปะการปรุงอาการ การประดิษฐ์อาหาร การกิน การตกแต่งโต๊ะอาหาร
ตลอดจนเครื่องใช้ในการกินอาหาร เช่นช้อนส้อมมีด ถ้วยโถโอชาม แก้วเครื่องดื่ม
ถ้วยกาแฟ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดมือเช็ดปาก, รวมกันเป็นเนรมิตศิลป์ที่จักดลใจราชสำนักทุกแห่งในยุโรป.
ยุคนั้น อิตาลีเป็นศูนย์กลางโลก
ศูนย์กลางของจริยธรรมอันประณีต. ในเรื่องอาหารการกิน ที่นั่นเขาใช้ส้อมและจานแล้ว
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11. อุปกรณ์การกินจากอิตาลี เข้าสู่ฝรั่งเศสหลายศตวรรษต่อมา
แม้ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ (ศตวรรษที่ 17-18)
ยังไม่ใช้กัน พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่เอง ทรงใช้มือ(กับนิ้ว)เมื่อเสวย
ทั้งยังสั่งห้ามหลานๆใช้ส้อม พระองค์คิดว่านั่นเป็นวิธีกินที่ไม่แมน(และอันตราย).
ส่วนจานแบ่งใช้ส่วนตัวนั้น พระเจ้าฟร็องซัวที่หนึ่งไปเห็นในอิตาลี
แต่ราชสำนักฝรั่งเศสให้มีจานแบ่งใช้แต่ละคนๆนั้นในศตวรรษที่ 17 เท่านั้น.
การมีถ้วยหรือแก้วสำหรับเครื่องดื่ม ใช้ส่วนตัวแต่ละคน เริ่มแพร่หลายในศตวรรษที่ 19 เท่านั้น
ถึงกระนั้นสามัญชนก็ยังคงดื่มจากเหยือกเดียวกัน.
ในปี 1486 Pic de la Mirandole ได้บันทึกไว้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรที่น่าทึ่งน่าชื่นชมในโลกนี้
มากกว่า “คน”. («On
ne peut rien voir de plus admirable dans le monde que l’homme » ref.Oratio de
hominis dignitate, Pic de la Mirandole, 1486. คนกลายเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป. ความคิดของเขามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อค่านิยมในสังคมยุคนั้นทุกแขนง ทั้งในศิลปะ
วิทยาศาสตร์ ความคิด จิตสำนึก จริยธรรมจนถึงความประพฤติ. แน่นอน รวมถึงกิริยามารยาทในการนั่งโต๊ะอาหาร. การมาร่วมโต๊ะอาหารเดียวกัน
ผู้ร่วมกินร่วมดื่ม ต้องแสดงตนให้ประจักษ์ว่า รู้จักใช้ชีวิตอย่างผู้ดี มีการศึกษา
สุภาพอ่อนโยน มารยาทงาม ใส่ใจผู้ร่วมโต๊ะ รู้จักเคารพขนบ กฎและกติกา. คำ อัศวิน (chevalier/knight)
ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคกลาง นอกจากเป็นผู้มีอุดมการณ์สูง
มีคุณธรรมและความยุติธรรมในจิตใจ ยังต้องสะท้อนภาพลักษณ์ของคนสมบูรณ์ดังกล่าว. อีกคำที่ใช้เรียกบุคคลคุณภาพในระดับนั้น (ที่เป็นอัศวินหรือไม่ก็ได้)
คือ homme
courtois / courteous man (ที่ยังมีนัยของคำ court ที่โยงไปถึงระบบชนชั้น). เรื่องกิริยามารยาทในตะวันตก
เน้นชนชั้นสูงและคหบดีเป็นสำคัญ.
การจัดเรียงอุปกรณ์การกินบนโต๊ะอาหารแบบตะวันตกในยุคปัจจุบัน
(ชุดอาหาร 5 คอร์ส)
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โต๊ะอาหารได้กลายเป็นสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ของความมั่งคั่ง
ที่จักตรึงใจผู้ร่วมโต๊ะ.
การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการกินอาหาร
เริ่มในรัชสมัยของกษัตริย์ฟร็องซัวส์ที่หนึ่ง
และแพร่พัฒนาต่อมาจนถึงทุกวันนี้. งานเลี้ยงทั้งหลายอยู่ภายในห้องที่จัดพิเศษ
เกิดการแบ่งพื้นที่เป็นห้องอาหาร
มีตำแหน่งที่ตั้งของโต๊ะที่ถาวร เช่นเดียวกับตำแหน่งที่วางอุปกรณ์การกินรอบๆจาน.
ผู้ที่มีส่วนอย่างมากในการจัดระเบียบมารยาทความประพฤติที่ดี
สง่างามและเรียบร้อย คือ เอร้าซมุส Erasmus (ชาวดัชต์แห่งเมืองร็อตเตอดาม) (1466-1536) ผู้เป็นนักปรัชญา
นักเทววิทยา นักมานุษยวิทยา และนักบวชผู้เคร่งศาสนาอีกด้วย. หลายคนชอบเจาะจงว่า เขาเป็น
เจ้าชายนักมานุษยนิยมคนสำคัญแห่งยุค. ชาวยุโรปรู้จักเขาดีว่า
เป็นผู้มีวาจาคมคาย ล้อแกมหยิก เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนในยุคนั้น. เขามีส่วนกระตุ้นการปฏิรูปภายในลัทธิแคทอลิกด้วย.
ในราวปี 1530 เขาได้รวบรวมข้อแนะนำที่นำไปใช้ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน
ในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่เรื่องความประพฤติในวัดอาราม การพบปะสังสันทน์
การแต่งกายและแน่นอนการกินอยู่. ข้อแนะนำทั้งหมด รวมกันในหนังสือที่เขาตั้งชื่อว่า
De civilitate morum puerilium (A Handbook of good manners for children, จริยธรรมและมารยาทสำหรับเด็ก, พิมพ์ครั้งแรกในปี 1530) ให้ฟังดูเป็นหนังสือคู่มือสอนความประพฤติและกิริยามารยาทแก่เด็กๆ
แต่ในความจริงทั้งสอน ล้อเลียนและเสียดสีความประพฤติของผู้ใหญ่ไปด้วย
และกลายเป็นคู่มือของความเป็นอารยชนในยุโรป.
ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ต่างยอมรับว่า
เป็นบทประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อหา และลีลาการเขียนที่สละสลวยและชัดเจนทุกประเด็น.
ผู้อ่านอาจรู้สึกเหมือนเด็กกำลังฟังคำอบรม
และพลอยนึกไปด้วยว่าตัวเองมีกิริยาเช่นนั้นด้วยหรือเปล่า. เช่นถูกสั่งห้ามทำอย่างนั้น
ให้ทำอย่างนี้, อย่ารีบยื่นมือไปฉวยอาหารทันทีที่คนนำอาหารมาเสิร์ฟ คนจะมองว่าเป็นคนมูมมามหรือตายอดตายอยาก,
อย่าเลียนิ้วมันๆ หรือเช็ดนิ้วกับเสื้อแจ๊กเก็ต จำเป็นจริงๆเช็ดกับผ้าปูโต๊ะหากไม่มีผ้าเช็ดมือ
ก็ยังดีกว่า, ก่อนอาหาร ไปปัสสาวะ
หรือถ้าจำเป็นก็อุจจาระเพื่อให้ท้องโล่งสบาย(พร้อมกินอย่างเอร็ดอร่อย)ฯลฯ. ดั้งเดิมหนังสือเล่มนี้
เอร้าซมุสแต่งสอน Henri de Bourgogne ตอนนั้นอายุ 11 ขวบ เขียนเป็นภาษาละตินง่ายๆ ให้รู้วิธีทำตัวในหมู่ผู้ใหญ่.
แต่ทันทีที่หนังสือนี้พิมพ์ออกสู่สังคม (1530) มีผู้ติดตามอ่านจำนวนมากและในที่สุดกลายเป็นผลงานชิ้นเด่นที่สุดของเอร้าซมุส
และกลายเป็นหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับความประพฤติและกิริยามารยาท
ติดต่อกันมาหลายศตวรรษ. (สำนวน
คำคมต่างๆที่โคว้ตกันมาเสมอ ส่งต่อไปต่อมาจนทุกวันนี้ในลายน์หรือในเฟสบุ๊ค มาจาก Erasmus
ส่วนใหญ่)
ถึงกระนั้น การเปลี่ยนแปลงในวิธีการกินในฝรั่งเศส
(และในประเทศยุโรปอื่นๆ) เป็นไปอย่างช้าๆ
ดังตัวอย่างการใช้ส้อมกับจานที่กล่าวมาข้างต้น. อย่างไรก็ดี
เป็นยุคพลิกผันในเรื่องมารยาทที่โต๊ะอาหาร. ตั้งแต่นั้น
ทุกคนต้องกินอย่างเรียบร้อย รู้จักควบคุมความอยาก ถอยออกห่างจากอาหารนิดหน่อย
และถอยห่างจากผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นๆด้วย. การสร้างนิสัยใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย
และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงลึก, สู่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ควบคู่กับการพัฒนานิสัยของการกินอยู่ในความพอเหมาะพอควร
ไม่มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการเสพรสชาติ. การกินอย่างพอเหมาะ
ยังเปิดโอกาสให้เสพสุขจากอาหาร โดยไม่ถูกประณามว่าทำบาปตะกละ.
ในบริบทแวดล้อมนี้เอง
ที่เกิดศาสตร์การกินอาหาร ที่ใช้คำว่า gastronomy ที่แปลตรงตามตัวว่า
ศิลปะการจัดระบบ(การย่อยใน)กระเพาะอาหาร (หมายถึงการควบคุมลมในท้องด้วย
เช่นกินจนเรอ อาหารแต่ละอย่างสร้างลมในกระเพาะไม่เท่ากัน). กิริยามารยาทในการกิน
เปลี่ยนทีท่าและความสัมพันธ์ของคนกับอาหารการกินและวิธีกิน,
ระหว่างคนกับผู้ร่วมโต๊ะ, เสริมด้วยจิตสำนึกของความพอเหมาะพอเพียง, ในกระบวนการเช่นนี้
การเสพสุขจากการกิน จึงเป็นสิ่งที่ศาสนายอมรับได้. ปูทางสู่การสร้างสรรค์ กุยซีน (cuisine) ที่มีชื่อเสียงมากขึ้นๆในศตวรรษที่
17-18.
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อความสุขในรสชาติ
ด้วยอารมณ์ที่ประณีต แทนการกินให้อิ่มให้เสร็จๆไปโดยเร็ว
ได้เปลี่ยนคำ gourmand
[กูรม็อง]-คนตะกละ(ที่เป็นบาปหนัก ตามที่เอร้าซมุสประณามไว้)
ไปเป็น gourmet [กูรเม]
คือคนกินที่มีรสนิยมประณีตในการกิน มากพอๆที่มีความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต.
สรุปสั้นๆคือ การศึกษาเปลี่ยนวิธีกิน จากกินเพราะอยาก
เพราะความหิว สู่การเสพเพื่อลับประสาทให้ละเอียดประณีต เข้าถึงระบบนิเวศของวัตถุดิบและชื่นชมความชำนาญของพ่อครัว(แม่ครัว)
ผู้เป็นนักชีวเคมีชั้นเลิศ ในบรรยากาศฉันมิตรระหว่างผู้ร่วมโต๊ะ.
ทั้งหมดรวมกันเป็นออร่าของจารีตการกินอย่างมีระดับ ที่กลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่งอย่างเต็มศักดิ์ศรี.
ในปี
2010
ลา-กัสโทรโนมี-ฟร็องแซ้ส (la gastronomie française) ได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก
เป็นมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญา(ที่จับต้องไม่ได้) (intangible
cultural heritage).
จบบทนี้ด้วยคำพูดของเอร้าซมุสว่า
A man is not born a man,
but becomes one. คนไม่ได้เกิดเป็นคน เขากลายเป็นคนเยี่ยงนั้น(สุภาพชน) ด้วยการศึกษา. ส่วน Jean Anthelme Brillat-Savarin
(1755-1826, ชาวฝรั่งเศส) ในหนังสือ Physiologie du goût/The Physiology of taste (พิมพ์ปี 1825) กล่าวว่า สัตว์กิน คนกิน คนฉลาดเท่านั้นที่รู้จักกิน (Les animaux se repaissent; l’homme mange; l’homme
d’esprit seul sait manger.)
แง่คิดจากการสังเกตการกินของหลานยาย
และวิธีการเลี้ยงดูของหลานๆที่สอนลูกเขา
ในวันอาหารมื้อใหญ่ที่เป็น family
reunion รวมสี่รุ่น
วุ่นไม่น้อยเลย...
โชติรส รายงาน
๒๕ มกราคม ๒๕๖๓ (วันตรุษจีน ชิวอิก)
No comments:
Post a Comment