Saturday, April 3, 2021

Amazing ants

 มดครองทั่วพื้นปฐพีมาประมาณ 110-130 ล้านปีก่อนมีมนุษย์ เป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล ในยุคเดียวกับไดโนเสา. มดทั้งหลายได้สร้างอารยธรรมคู่ขนานมากับวิวัฒนาการโลก เป็นอาณาจักรมดที่ครองโลกอย่างแท้จริง, มีกองทัพพร้อมระบบกลยุทธ์สลับซับซ้อน ด้วยเทคโนโลยีที่น่าทึ่งที่สุด พร้อมรับศึกและเข้ายึดเมือง. มีผู้เทียบไว้ว่า อาณาจักรมดมี แอ๊ตตีลา-Attila (เจ้าผู้ครองฮั่น), คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส-Christopher Columbus (นักเดินเรือ นักสำรวจ), จูเลียส ซีซาร์-Julius Cesarus (รัฐบุรุษ นายพลโรมัน), มักกียาแอลลี-Machieval (นักการทูต นักปรัชญา) หรือเลโอนาร์โด ดา วินชี-Leonardo da Vinci (พหูสูต).

      นักวิทยาศาสตร์วิจัยเรื่องสติปัญญาว่าคืออะไร ทำไมสัตว์บางชนิดมีเชื้อความฉลาดมากเป็นพิเศษ? แล้วคนล่ะ มิใช่ฉลาดสุดยอดหรือ? เราเคยคิดกันว่าสติปัญญาเป็นสมบัติของคนเท่านั้น. แต่นักวิจัยได้ค้นพบความสามารถที่วิเศษต่างๆของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ นอกจากชิมแพนซี หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นปลาโลมา, ยังมีสัตว์อื่นเช่น นกกา, นกแก้ว, ปลาหมึกเป็นต้น. เมื่อเรานึกถึงความฉลาดของฝูงสัตว์ในฐานะเป็นมวลสิ่งมีชีวิตมวลเดียวกัน เราต้องเพิ่มฝูงผึ้ง ปลวก มด เข้าไปในฐานะสัตว์ที่ฉลาดมากกว่าที่คนจินตนาการไว้.  

        มดมีสมองใหญ่ที่สุดเทียบสัดส่วนกับน้ำหนักตัว. ดาร์วินพูดไว้ว่า เมื่อคำนึงถึงศักยภาพของสมองมดว่าทำอะไรได้บ้าง สมองมดเป็นอะตอมที่มหัศจรรย์ที่สุดในจักรวาล. มดมีเซลล์สมองราว 250,000 เซลล์ เชื่อกันว่าเป็นแมลงที่สมาร์ทที่สุดในโลก. ส่วนใหญ่ส่งสัญญาณง่ายๆ. มดแต่ละตัวเหมือนเซลประสาท (เนอรอน) ตัวหนึ่งในนิคมมด. เซลล์ประสาทของมดใช้สารเคมีเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมของมดทั้งหมด. ที่ชัดเจนและไม่มีข้อสงสัยคือ ในนิคมมด มี “สมองหมู่” (collective brain) เทียบได้กับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด. นักวิทยาศาสตร์ยืนยันตรงกันว่า ประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในนิคมมด อยู่ระดับสูงสุด ที่ดลใจให้มีการวิเคราะห์เจาะลึกพฤติกรรมของมดด้วยระบบแอลกอริทึม เรียกกันว่า Ant Colony Algorithms แล้วนำไปประยุกต์สร้างระบบคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ของนาซา.

     มดไม่มีอารมณ์ความรู้สึกซับซ้อน เช่นความรัก ความโกรธ ความเห็นอกเห็นใจ แต่มดรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์. มดสื่อสารกันทางกลิ่น สารเคมีหรือฮอร์โมนที่มดส่งกระจายออกไปในอากาศ (chemical pheromone) มีฤทธิ์กระตุ้นการตอบโต้ทางสรีรภาพ. สัญญาณเคมีดังกล่าว กระจายออกเป็นเครือข่าย สร้างคอนเน็กชั่นสื่อสารกับมดตัวอื่นๆ. กลิ่นจึงเป็นอุปกรณ์เรียนรู้โลกรอบข้าง รวมทั้งทำความรู้จักกับสมาชิกมดในนิคมเดียวกัน เพราะแต่ละนิคมมีกลิ่นเฉพาะนิคม มดตัวใดจากที่อื่นพลัดเข้าไปในนิคมหนึ่ง จึงรู้กันได้ทันที. มดไม่มีจมูก มันรับรู้กลิ่นเคมีในบรรยากาศ ที่ผ่านเข้าตัวมดทางเสาอากาศไปถึงประสาทรับรู้กลิ่นภายใน. เสาอากาศมด มีรูพรุนเหมือนฟองน้ำที่ใช้กันในครัว. บางคนอาจเคยเห็นว่า เมื่อมดเจอกัน หรือเดินสวนกัน หรือเดินไปมา มดหยุดตรงหน้าและแตะเสาอากาศของกันและกัน ด้วยวิธีนี้ แต่ละตัวรู้ว่ามดตัวอื่นทำอะไร รู้จนถึงรายละเอียดสุดท้าย และถ่ายทอดสื่อสารข้อมูลแก่กัน. พฤติกรรมนี้ (antennation) เป็นตัวชี้ให้รู้ว่า มดตัวไหนเป็นเพื่อนร่วมนิคม ตัวไหนแปลกปลอมเข้าไป.

ภาพนี้เจาะจงไว้ว่า เป็นมดช่างไม้ กำลังแลกหรือส่งถ่ายสารเหลว(หรือน้ำหวาน)ให้กันและกันทางปาก (trophallaxis). เครดิตภาพจากเว็บนี้

ในที่สุด สัญญาณเคมี เชื่อมมดทั้งหมดให้ทำงานร่วมกันเป็นองค์กรหนึ่งองค์กรเดียวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด. นักวิทยาศาสตร์ตั้งฉายานิคมมด ว่าเป็น superorganism ที่ไร้เทียมทาน. นั่นเป็นหนึ่งในผลพลอยได้จากการมีร่างจิ๋ว. เห็นตัวเล็กๆอย่างนั้น เมื่อนับความเร็วของสัตว์ ปกตินับความเร็วว่าเป็นกี่เท่าของความยาวของตัว. ความเร็วเฉลี่ยที่บันทึกกันมา มดไปได้ไกล 34 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือ 54.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง). นักวิ่งยูเซน โบลต์ Usain Bolt ชาวจาเมกา ผู้ที่โลกยอมรับว่าเป็นนักวิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีสถิติความเร็วที่ 28 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือ 45.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง). สถิติความเร็วตามที่นักวิทยาศาสตร์เยอรมันได้ศึกษาไว้ น่าสนใจมากเมื่อพินิจพิจารณาวิธีการเดินของมด เช่น ระบุไว้ในวารสาร Journal of Experimental Biology ว่า มดสีเงินๆในทะเลทรายซาฮารา (Cataglyphis bombycina) สามารถโลดพรวดไปไหนได้ด้วยความเร็ว 855 มิลลิเมตรต่อวินาที เท่ากับประมาณ 108 เท่าความยาวของตัวมด. (เทียบกับเสือชีต้า-cheetah ที่วิ่งได้เร็ว 16 เท่าความยาวของลำตัว) เพื่อหลีกเลี่ยงการแตะพื้นทรายที่ร้อนระอุ มันแกว่งตีนไปมาด้วยความเร็วประมาณ 1300 มิลลิเมตรต่อวินาที ตีนแต่ละตีนของมดแตะพื้นทรายในชั่วเวลาเพียง 7 milliseconds ทำให้ตัวมดไม่จมลงในทราย. (ref. https://sciencepost.fr/la-fourmi-la-plus-rapide-du-monde-bat-un-nouveau-record-de-vitesse/)   

   กลิ่นจากสัญญาณเคมี ยังนำมดไปยังกลุ่มมดขนาดใหญ่ขึ้นๆ โดยเฉพาะมดที่เคลื่อนเป็นกลุ่มหนาแน่น เช่นมดกองทัพหรือมดขี้โขมย. นอกจากกลิ่น ยังใช้เสียง. หากรังมดถูกเหยียบ เกิดความระส่ำระสายขั้นวิกฤติ. มดที่ถูกเหยียบ ส่งสัญญาณเป็นเสียงแหลมๆเพื่อให้มดอื่นมาช่วยฉุดมันขึ้นมา.

      น้อยคนจะนับว่ามดเป็นหนึ่งในแมลงที่แปลกและฉลาด. มดตัวเล็กๆ ไม่โดดเด่นอะไร อยู่ทุกหนทุกแห่ง คนไม่สนใจมด จนเมื่อมดเข้าไปรุกรานพื้นที่ครัวหรือบ้าน สร้างความเอือมระอาอย่างยิ่งแก่เจ้าของบ้าน. ทุกคนคงเคยเอาถ้วยใส่น้ำเพื่อกันมดไต่จากขาตู้ขึ้นตู้กับข้าว แต่ไม่ได้ผลหรอก เพราะมดอยู่ในน้ำ ใต้น้ำ ได้นานกว่าสองสัปดาห์ เพราะมันมีท่อหายใจขนาดเล็กมากจนแม้น้ำก็มิอาจซึมเข้าไปได้.

ดูกรามและหน้าตามดงานใกล้ๆชัดๆ. เครดิตภาพจากเว็บนี้.

     ในโลก มีมดมากกว่า 12,000 สายพันธุ์. นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า มีประมาณหนึ่ง quadrillon (1+ศูนย์อีก15 ตัว) ในโลก. มดอยู่ในตระกูล Hymenoptera และรวมกันเป็นวงศ์ใหญ่ที่เรียกว่า Formicoidea.  มดอยู่ทั่วไปในโลก ยกเว้นแถบขั้วโลกเท่านั้น, แถบอาร์กติกเซอเคิล และอันตาร์กติก. มดเป็นสัตว์เลือดเย็นและหนีทุกที่ที่มีอุณหภูมิเย็น. นิคมมดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกกันมาในยุโรป เทียบพื้นที่กว้าง 3750 ไมล์ (หรือราว 6035 กิโลเมตร)ที่รวมนิคมมดจำนวนมากเข้าด้วยกัน เป็นจักรวรรดิมดที่มีโครงสร้างเป็นระบบระเบียบไม่น้อยไปกว่าจักวรรดิโรมัน.

      มดมีชุมชนของตัวเอง มีมดนางพญา มดตัวผู้และมดงานทุกประเภท. สังคมมดเป็นสังคมของเพศเมีย. ในนิคมมด มีมดนางพญา นางพญาไม่ใช่ผู้นำ ไม่ใช่หัวหน้าหรือผู้บัญชาการ, เป็นผู้สืบพันธุ์, ทวีประชากรเพื่อครอบครองแผ่นดินให้กว้างไกลที่สุด. การบริหารจัดการในแต่ละนิคม ไม่มีศูนย์ควบคุมหรือหัวหน้าผู้สั่งการ. แต่ละนิคมเป็นกลุ่มเอกบุคคลที่ทำหน้าที่ร่วมกัน ตอบสนองสอดคล้องกันไปอย่างอัตโนมัติ. ารไม่มีผู้นำ กลับไม่กระทบกระเทือนการอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตราบใดที่มดอยู่อย่างมีระเบียบ, แต่ละตัวรู้หน้าที่ต้องทำและตัดสินใจทำตามไม่เกี่ยงงอน. มดทำงานเป็นกะในแต่ละวัน ตัวไหนทำอะไรกะไหนเมื่อไหร่ มดยึดกันเคร่งครัด, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน นอน กิน. นิคมมดขนาดใหญ่ มีกองทัพมดขนาดใหญ่ เทียบเท่ากับจำนวนเนอรอนหรือเซลล์ประสาทในหัวคน (ตัวเลขคาดคะเนที่บันทึกมาคือ 100 ล้านล้านตัว). ชวนให้คิดว่า หากพลังงานดีๆอยู่รวมไว้ในหัวของผู้นำคนเดียว มีความเสี่ยงว่าเมื่อล้มเหลว ก็ล้มไปทั้งระบบ, หากแบ่งพลังงานออกเป็นพลังงานย่อยๆอีกนับไม่ถ้วน แต่ละส่วนทำงานเต็มตามหน้าที่ และในที่สุดเสริมพลังรวมของนิคมมดทั้งนิคม. อะไรเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ? 

    ชีวิตในนิคมมด ทุกตัวทำงานหนักตามหน้าที่การงานเช่น หาอาหารและนำกลับเข้าสู่รัง, ทำความสะอาด, และขยายพื้นที่ห้องให้กว้างออกเมื่อจำนวนมดเพิ่มขึ้น, ทำหน้าปกป้องนิคมและขจัดอันตรายออกไปให้พ้น, เข้าเฝ้ารับใช้มดนางพญา เช่นโยกย้ายไข่ ดูแลมดตัวอ่อนๆ.  มดมีขนาดต่างๆกัน ที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะหน้าที่หนึ่ง. เมื่อเทียบกัน มดขนาดเล็กลง มักเป็นมดสวนที่เด็ดทุกสิ่งที่ไม่ควรอยู่ในสวนออก ทำหน้าที่เหมือนคนสวนเลย. ชัดเจนว่า นี่เป็นงานหนักสำหรับแมลงตัวเล็กขนาดนั้น.  

     มดนางพญามีผู้คุ้มครองห้อมล้อมอยู่เสมอ มีหน้าที่วางไข่ ทวีประชากรเพื่อขยายอาณาจักร.  บางตัวมีอายุยืนยาวมากถึง 30 ปีและมีลูกได้เป็นล้านๆตัว.  มดมีชีวิตยืนยาวกว่าแมลงชนิดใด. มดเติบโตจากไข่ (egg), เป็นตัวอ่อน (lavae) แล้วเป็นดักแด้ (pupae) ก่อนจะโตเป็นมดเต็มตัว. ไข่มดสีขาวๆที่ถูกแบกออกจากรังเมื่อต้องย้ายรังนั้น ไม่ใช่ไข่ แต่เป็นดักแด้ที่กำลังโตและพร้อมออกจากรังของมัน. ตัวอ่อนที่ออกจากไข่ ยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย จึงต้องมีมดงานคอยเลี้ยงดูปูเสื่อ.

วงจรชีวิตของมด จากไข่ (eggs) เติบโตเป็นตัวอ่อน (lavae) และเจริญเป็นตัวดักแด้ (pupae) ออกจากรังใยไหม (cocoon). มดที่เติบโตเต็มที่ ถ้ามีตัวขนาดใหญ่ จะทำหน้าที่สืบพันธุ์ เป็นมดนางพญา หรือมดเจ้าหญิง. มดตัวผู้ขนาดใหญ่พอๆกับมดนางพญา มีปีก มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับมดนางพญาและ/หรือมดเจ้าหญิง เมื่อเสร็จหน้าที่ ก็สิ้นใจ. ไข่มดส่วนใหญ่ เติบโตเป็นมดงานที่ตัวเล็กกว่ามดตัวผู้ และเป็นเพศเมียล้วน. เครดิตภาพจากเว็บนี้.

ไข่มด (นึกถึงไข่มดแดงที่ชาวอิสานเรียกว่า “แม่เป้ง” เป็นแหล่งโปรตีนราคาแพง ที่คนไปขโมยจากรังมดแดง). เครดิตภาพจากที่นี่.

เมื่อตัวอ่อนโตขึ้น เข้าสู่สภาวะของดักแด้ (lavae) และออกจากรังใยที่ห่อหุ้มตัวมัน มันจะเป็นมดงานหรือเป็นมดสืบพันธุ์ ซึ่งคือสมาชิกหลักในนิคมมด. เพิ่งค้นพบกันไม่นานมานี้เองว่า มดเพศเมียทุกสายพันธุ์ เช่นมดตัดใบไม้ ขยายพันธุ์ด้วยการโคลนนิ่งตัวเอง. มดตัวผู้มักมีปีก มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับมดนางพญา กับมดเจ้าหญิง และมีชีวิตเพียงไม่กี่สัปดาห์ พอเสร็จงาน ก็ตาย. ส่วนมดงาน มดทหารและมดนางพญา หรือมดเจ้าหญิง เป็นตัวเมียทั้งหมด. แม้เป็นตัวเมีย มดงานไม่มีหน้าที่วางไข่ แต่รับใช้มดนางพญาอย่างใกล้ชิด ดูแลเลี้ยงดูไข่และตัวอ่อนตลอดเวลาเหมือนลูกๆของพวกเธอเอง. ทั้งหมดมีชีวิตอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายหนึ่งเดียวของชีวิต คือการแพร่พันธุ์ เพิ่มประชากรและขยายอาณาจักรมดออกไปให้กว้างที่สุด. มดงานมีชีวิตสองสามปี มดนางพญามีอายุยืนนานอาจถึง 30 ปี. อย่างไรก็ดี นิคมมดตั้งอยู่ได้เป็นสิบๆปี เพราะมดงานทำงานอย่างไม่ลดละ สำรวจพื้นที่ ติดตามกลิ่นเคมีไปยังแหล่งอาหาร และปกป้องผู้รุกรานจากนิคมมดอื่น, อุ้มชูมดงานรุ่นใหม่ๆเพื่อขยายประชากรออกไปเรื่อยๆ. 

       มดมีส่วนช่วยรักษาผืนดินและเป็นนักล่าปลวก ดักแด้ ตัวด้วงและศัตรูพืช แต่ในขณะเดียวกัน มดก็เป็นศัตรูพืชด้วย. รังมดและกองดิน มักถูกมองว่าไม่เป็นที่ต้องการ. โครงสร้างของรังมด อาจทำลายที่ดิน มดกินและทำลายอาหาร. สายพันธุ์บางสายพันธุ์ ใช้เหล็กในต่อยคน สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ที่ยังผลให้ถึงตายได้.

     ในอีกด้านหนึ่ง นักวิจัยสังคมชีววิทยา Edward O.Wilson แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด รายงานว่า แต่ละปี มดขนย้ายดินประมาณ 50 ตัน มดจึงเป็นผู้กลับดินที่สำคัญมากของพื้นธรณี. มดไวต่อสนามแม่เหล็กโลกและใช้เป็นสิ่งนำทาง เหมือนเข็มทิศที่ฝังในตัวของมดเอง. แต่ละปี มดสร้างทางหลวงของมันประมาณสามกิโลเมตร. ทางหลวงที่มดสร้างขึ้นนั้น กระจายออกไปทุกทิศทาง. หากเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นโครงสร้างสลับซับซ้อนของเครือข่ายใต้ดิน เห็นความกุลีกุจอของมดงาน.

      มดแต่ละตัว เผยให้เห็นว่าเครือข่ายพฤติกรรมที่แสดงความฉลาดอย่างน่าทึ่ง. พวกมดมีวิธีเรียนวิธีใหม่ๆเพื่อการสัญจร เพิ่มเข้าไปในเทคนิคของพวกมด ที่รวมไปถึงการนับก้าว การจดจำมุม, ทิศทางและภูมิทัศน์ที่เห็น, จดจำมุมของแสงอาทิตย์และรู้จักใช้แสงเป็นสิ่งนำทาง.

     เมื่อวิจัยเจาะลึกเข้าไป นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากศึกษามดและสรุปว่า มดเป็นแมลงที่ประหลาดที่สุดในโลก (ref. https://plunketts.net/blog/20-weirdest-wildest-ant-factsดังสรุปมาให้อ่านย่อๆต่อไปข้างล่างนี้. 

       Mark Moffett ได้ทำแผนผังมดสายพันธุ์ต่างๆที่มีในโลก ปรากฏในหนังสือ Adventures Among Ants: A Global Safari with a Cast of Trillions.  เขาจำแนกแยกแยะมดชนิดต่างๆ เขาเลือกจัดกลุ่มมดตามหน้าที่หลักของมด เช่น

มดงาน (Worker ant) ทำหน้าที่เหมาะกับขนาดของมัน. ตัวใหญ่ มีงานพิเศษเฉพาะ. มดตัวใหญ่ที่สุด เหมือนมดขับรถขนส่ง เป็นหน่วยเคลื่อนกิ่งไม้(ยุทโธปกรณ์)ไปยังสนามรบ. ตัวเล็กกว่า เป็นมดกุลี. มดสามารถยกน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักตัวมันถึง 20 เท่า (บางแห่งบอกว่า 50 เท่า). มดกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเมื่อเทียบขนาดของร่างกาย. โดยเฉลี่ยหากแข็งแรงเท่ามด คนจะยกน้ำหนักได้ 4082 กิโลกรัม. ให้จินตนาการชายคนหนึ่งยกรถบรรทุกขึ้นเหนือศีรษะ. นี่คือสิ่งที่มดทำทุกวัน. มดงานคือมดที่คนเผชิญมากที่สุด. เป็นมดตัวเมีย ทำหน้าที่สร้างรัง ออกไปเก็บอาหารมากักตุน, เคลื่อนย้ายนิคมมดและปกป้องนิคมมดเมื่อจำเป็น.

ทีมมดงาน 6 ตัว ร่วมกันก่อสะพานข้ามช่องว่าง. ยืนยันความแข็งแกร่งของมดที่ยกน้ำหนักได้มากกว่าน้ำหนักตัวเองถึง 20 เท่า. เครดิตภาพจากเว็บนี้

มดทหาร (Soldier ant) ทำหน้าที่สังเกตการณ์ ดูแลความเรียบร้อยและระวังภัยในนิคมมด. มดมีวิธีปกป้องนิคมที่ประหลาดที่สุด. มดงาน มดทหาร ทำหน้าวิเศษมากในเรื่องนี้. มดทหารมีกรามแข็งแรงและใหญ่กว่าหัวของมัน ที่อาจดูเกะกะแต่เหมาะกับบทบาทของผู้ปกป้องนิคม. มดทหารบางตัวใช้หัวเป็นสิ่งปกป้องตัวเอง เช่น มดภารโรง มันอาจทิ่มหัวของมันปิดทางเข้ารังเพื่อกันไม่ให้ศัตรูเข้าไปในนิคมของมัน. มดอื่นๆใช้เหล็กในเป็นอาวุธ บางตัวใช้วิธีพ่นสารเหลวที่กัดกร่อนและมีกลิ่นเหม็น ที่ทำให้ศัตรูหนังเหี่ยวหรือหลุดออก.  มดกัดหรือต่อยด้วยขากรรไกร โดยเฉพาะขากรรไกรล่าง เพื่อปกป้องตัวเอง. มดบางชนิดมีเหล็กในตรงปลายช่องท้อง เมื่อต่อยใครหรืออะไร ส่งสารพิษออกไปทำร้ายศัตรู. ชนิดของพิษจากมด แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ พิษจากเหล็กในประกอบด้วยกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่ทำให้แสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้. มดบางชนิดมีต่อมบรรจุกรดที่มันจะฉีดไปยังผู้รุกรานหรือศัตรู ทำให้ศัตรูเหมือนถูกเผาแถมมีกลิ่นที่น่ารังเกียจมาก.

มดช่างทอ (Weaver ant) ในป่าเขตร้อน มีมดเจ้าป่าที่หฤโหด พวกมันเป็นสถาปนิกผู้สร้างปราสาทและเมือง, เป็นนักสู้ตัวยง ชีวิตรบพุ่งตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอดของมัน. ในขณะเดียวกันก็เป็นมดที่ทอใยเหมือนใยไหมปกป้องตัวอ่อนมดของพวกมันไว้อย่างดี.

รังใยไหมที่มีไข่ ตัวอ่อนอยู่ภายใน มีมดงานพี่เลี้ยงคอยดูแลเลี้ยงดู. เครดิตภาพจากเว็บนี้

มดนักสู้จอมโหด (มดหัวโตเหมือนหมาบูลด็อกในออสเตรเลีย) ยาวเกือบหนึ่งนิ้ว ลำตัวเหมือนรถถัง เป็นมดที่สายตาดีมาก ดังนั้น หากไปออสเตรเลีย และเห็นมดตัวหนึ่งที่จ้องมองคุณและติดตามคุณ จนวิ่งตามคุณ แนะให้รีบออกไปจากตรงนั้นโดยเร็ว. Bob Taylor ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมดตัวโตของออสเตรเลีย เล่าไว้ในวารสาร National Geographic ว่า มดหัวโตสามสิบตัว ฆ่าคนตายได้. Mark Moffett เคยถูกมดพวกนี้กัดมาแล้ว จำนวนมากกว่าสามสิบตัวด้วยซ้ำตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่เขาไม่ตาย มันคงขึ้นอยู่กับปริมาณพิษด้วย.

การต่อสู้ เอาชนะศัตรู. เครดิตภาพจากเว็บนี้.

มดเก็บเกี่ยว (Harvester ant) มดเป็นนักเก็บเกี่ยวที่เหนือชั้นกว่าแมลงใด. มันรวบรวมและกักตุนอาหารสำหรับฤดูหนาว. มดสายพันธุ์ Atta structor และ black Atta barbara เป็นมดสองสายจากตะวันออกกลาง มีชื่อว่าเป็นนักเก็บเมล็ดผู้ชำนาญ. สายพันธุ์มดที่รู้จักกันดีคือ Messor semirufus อาศัยอยู่ใกล้ลานหวด(เมล็ด) และในยุ้งฉาง.

มดกักน้ำหวาน (Honeydew ant) ปกติมดมีวิธีเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยการดื่มสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่คือไฮโดรเจน เพอร็อกไซด์ (hydrogen peroxide) ในปริมาณเล็กน้อย ก็จักช่วยฆ่าเชื่อราที่ทำให้มดล้มป่วยได้.

มดกำลังดูดเน็กตาร์จากดอกไม้. เมื่อมันพบน้ำหวานอร่อยที่ใด มันก็ส่งสัญญาณกลิ่น (pheromone) ออกไปบอกพรรคพวกให้รีบตามไปที่ดอกไม้.

ไฮโดรเจน เพอร็อกไซด์ มีในอาหารโปรดสองอย่างของมด คือ เน็กตาร์-nectar ที่มดได้จากดอกไม้ และน้ำหวาน honeydew ที่มดดูดกินจากแมลงตัวเล็กๆ เช่นเพลี้ย (เรียกกันว่า aphids) หรือแมลงมีเกล็ดบางชนิดหรือลีฟฮอฟเฟอ-leafhopper. มดชนิดนี้มักไปตั้งนิคมอยู่ใกล้ๆที่อยู่ของตัวเพลี้ยหรือแมลงเล็กๆเหล่านี้. หาโอกาสเข้าประชิด แล้วใช้เสาอากาศของมันเจาะเข้ากลางหลังของเหยื่อ ดูดสารน้ำหวานขึ้นจากช่องท้องของเหยื่อ.

มดจู่โจมจัดการดูดน้ำหวานจากตัวเพลี้ย. เครดิตภาพจากที่นี่

โอกาสจะได้เสพ honeydew จากเหยื่อจนเต็มอิ่มท้องนั้น มีไม่มากนัก. เมื่อได้มา ก็เอากักตุนในฟาร์มเอฟิด aphid farm ขนาดเล็กๆ. มีมดตัวกลมป้อมๆที่กักน้ำหวานไว้เต็มท้องมัน. หากมีมดหิวโหยในนิคมเดียวกันมาขอน้ำหวาน มดที่มีน้ำหวานในตัว ก็จะเลี้ยงดูตัวอื่นๆ แบ่งปันน้ำหวานให้ ด้วยการคายน้ำหวานออกทางปาก.

มดกำลังดูแลเม็ดสีเขียวอ่อนๆขนาดต่างๆ นั่นคือวิธีการทำฟาร์มเอฟิด แต่ละเม็ดบรรจุน้ำหวานจากตัวเพลี้ย. เครดิตภาพจากที่นี่

มดน้ำตาล (Sugar ant) เป็นมดพื้นเมืองของทวีปออสเตรเลีย. ไม่เป็นอันตรายแต่เมื่อมันบุกรุกเข้าไปพบแหล่งน้ำตาลในบ้านในครัว มันจะแทะทะลุกระดาษ แผ่นกระดาน หรือกล่องปลาสติกบางๆเข้าไปถึงอาหาร. นอกจากนี้ ยังอาจนำพาแมลงอื่นๆตามเข้าไปในบ้านด้วย เช่น แมงมุมหรือตะขาบ. เมื่อพบอาหาร มดจะขับสารหลั่งเฟอโรโมน (pheromone) กระจายเป็นเส้นทางกลิ่น สู่มดตัวอื่นๆที่จะตามไปถึงจุดหมายดังกล่าว. ปกติรังมดชนิดนี้ จะอยู่ในที่ไม่พลุกพล่าน เช่นภายในกำแพงหรือในชั้นใต้ดิน.

มดช่างไม้ (Carpenter ant) ตัวใหญ่ (อาจยาวถึง 2.5 ซม.) เป็นมดพื้นบ้านในแดนป่าทั่วโลก. มดพวกนี้ทำรังภายในเนื้อไม้ พวกมันใช้กรามตัดเฉือนแทะและเคี้ยวเนื้อไม้ออกมา ที่ดูเหมือนขี้เลื่อย แล้วสร้างเป็นแกลลอรี เป็นห้อง. มดชอบอยู่ในไม้ที่ตายแล้ว, ในลำต้นกลวงๆ หรือในไม้ที่ชื้นๆ.  มันอยู่ทั้งภายนอกและภายในอาคารที่ชื้นๆ ที่ไม้เริ่มผุ, รอบกรอบหรือใต้หน้าต่าง, ชายคา, ดาดฟ้าและระเบียงเป็นต้น.

มดเองไม่กินเนื้อไม้ (แต่ปลวกกิน) แต่มดสร้างบ้านอยู่ภายในเนื้อไม้ ด้วยการขุดแกะเนื้อไม้ออกให้เป็นโพรงเพื่อเป็นที่พักอาศัย มีห้องและทางเดินเชื่อมห้องต่างๆเป็นแซเทอไลท์อย่างสุดวิเศษ.. เช่นนี้ จึงอาจทำลายเสาบ้านเรือนให้พังทะลายลงได้ หากมีนิคมมดเข้าไปอยู่ในโพรงไม้จำนวนมาก.. มดบางชนิดอาจขุดลึกลงจากพื้นดิน 4.8 เมตร, นิคมมดหนึ่งนิคม อาจครอบพื้นที่ใต้ดินราว 4046 ตารางเมตร. อย่างไรก็ดี ความที่มดนี้ชำนาญการขุดเจาะเนื้อไม้ ในอีกมุมมองหนึ่ง มันจึงช่วยเร่งการเน่าเปื่อยผุพังของป่าไม้ในวงจรชีวิตป่า. สายพันธุ์มดช่างไม้นี้ที่รู้จักกันดี เพราะมาอยู่ในบ้านเรือนของคนจำนวนมาก(โดยเฉพาะในสหรัฐฯ) เรียกว่า Black carpenter ant ที่ประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยอีกไม่ต่ำกว่า 1000 สายพันธุ์. มดช่างไม้นี้ ยังเป็นมดที่ทำฟาร์มน้ำหวานจากตัวเพลี้ย aphid farm (เหมือนมด honeydew ant). 

มดช่างไม้ ทำฟาร์มเอฟิด aphid farm. เครดิตภาพจากที่นี่

มดขี้โขมย - marauder ants (Pheidologeton) ในประเทศต่างๆเช่นที่ศรีลังกา, เนปาล, นิวกีนี, ฮ่องกง. เป็นมดงานกลุ่มย่อย ตัวเล็ก เป็นมดทำงานหนักเหมือนกุลีของทั้งนิคม. ยังมีมด (Kidnapper ant) ที่ลักพาตัวอ่อนของนิคมมดอื่น, เข้าจู่โจมนิคมมดอื่นและฉวยมดตัวอ่อนออกมาดื้อๆ นำกลับมาที่นิคมของตัว. เมื่อมดทารกพวกนั้นโตขึ้น จะถูกเสี้ยมสอนให้รับใช้นิคมใหม่ เหมือนถูกล้างสมองให้เป็นทาสรับใช้ ด้วยการโด๊บสารเคมีที่มีกลิ่นเฉพาะของนิคมใหม่ลงในมดทาสเหลานั้น  มดทาสพวกนั้นจึงกลายเป็นสมาชิกเต็มตัวและออกไปล่าอาหาร, ทำความสะอาดรัง, บดเคี้ยวอาหารให้มดนาย (นายอันธพาลที่ไปลักตัวพวกมันจากรังแม่จริง). มดขี้ขโมย ต่อมาก็ย้ายไปทำงานในนิคมใหม่ ราวกับว่านั่นเป็นรังของพวกมัน.

(Ref. https://www.youtube.com/watch?v=sC4MjPKf3jY)

มดเก็บขยะ มดเก็บขยะ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเก็บขยะในนิคม. มดเก็บขยะทำงานเต็มเวลา, เป็นผู้เคลื่อนย้ายศพมดไปยังที่ฝัง ที่อยู่ลึกลงใต้ดินประมาณ 9.1 เมตร, ไม่ผิดไปจากที่คนฝังขยะลึกลงไปใต้ดิน 3 กิโลเมตร และนี่อธิบายว่า ในนิคมมด มีห้องจำนวนมากสำหรับเก็บขยะ บางห้องใหญ่เท่าโลงศพเด็ก. แนะให้คิดว่า มดมีระบบควบคุมสุขอนามัยภายในนิคมมด.

มดสัปเหร่อ (Undertaker ant) ในนิคมมดใหญ่ๆ มีมดงานที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายมดตายแต่ละศพและแบกไปอยู่ในกองขยะที่อยู่ไกลออกไป หรือในห้องพิเศษของรัง. มดบางสายพันธุ์ มีการฝังศพมดแทน (เช่นกรณีมดที่ตายหรือบาดเจ็บในสนามรบ). ทำไมมดจึงเคลื่อนศพมดลงใต้ดินไปลึกๆ? คำตอบคือ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค ซึ่งอาจทำลายพื้นที่อาณานิคมได้. ในกรณีของมดสวน ที่มีชีวิตและตายใต้พื้นสวน มีส่วนช่วยให้สภาพพื้นดินของสวนต่างๆ ไม่เป็นอันตรายต่อพืชพรรณไม้ในสวน. คิดดูให้ดี ใครกันแน่ที่เป็นนายใหญ่ นิคมมดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด กับคนๆเดียวที่ไปนั่งอยู่ในทำเนียบขาวสหรัฐฯและยึดครองทั้งประเทศ (cf. Mark Moffett ประชดไว้).

มดตัดใบไม้ (Leafcutter ant) มดตัดใบมีขนาดใหญ่ กัด เฉือนผลไม้เปลือกหนา ใบไม้หรือดอกไม้ ด้วยกรามของมัน (ที่ประกอบด้วยสังกะสีถึง 40%). เปรียบได้ว่า กรามของมดตัดใบ คือที่เปิดกระป๋องโลหะนั่นเอง. ขณะที่มันตัดใบไม้ ร่างของมันสั่นๆจึงยิ่งเหมือนมีดไฟฟ้าที่พ่อครัวใช้ตัดหรือเฉือนเนื้อชิ้นโตๆ. มดบางกลุ่ม (ไม่ทุกกลุ่ม) ชำนาญเรื่องตัดใบไม้เป็นพิเศษ. แต่ละตัวแบกใบไม้ที่ไปกัดมาเป็นแผ่นๆ ขนาดต่างๆ เอากลับมาที่นิคม. คงเคยเห็นกันว่า ใบไม้ที่มดแบกนั้น เหมือนร่มปิดตัวปิดหัวมด.

เราอาจเคยคิดกันว่า มดขนใบไม้ไปกินหรืออย่างไร. ในความเป็นจริง มดเอาใบไม้ไปเพาะทำฟาร์มเชื้อราชนิดหนึ่ง เป็นฟาร์มราที่มดทำติดต่อเรื่อยมาจนทุกวันนี้ กว่า 40 ล้านปีแล้ว. มดจะเคี้ยวใบไม้ ดอกไม้หรือผลไม้ทั้งหลายที่นำกลับมารัง ให้แหลกจนเละ, ต่อมา ราชนิดพิเศษเข้าจับบนมวลเละๆนั้น. ให้นึกเทียบกับชาวนาที่นำต้นกล้าปักลงบนแปลงดิน และคอยกำจัดศัตรูพืช. ฟาร์มราเป็นแหล่งอาหารที่วิเศษสุดของมด พวกมดกินอย่างหิวโหยและตะกละตะกลาม. นอกจากนี้ มดยังมีวิธีเพาะเลี้ยงแบคทีเรียบนตัวมดเอง เป็นแบคทีเรียแอนตี้บอดี้ที่ต้านเชื้อโรคและรักษาเชื้อราร้ายอื่นๆที่ทำให้มดป่วย. คนมักเห็นมดสวนที่มีผงขาวๆบนตัว เหมือนไปโดนแป้งฝุ่นมา นั่นคือแบ็คทีเรียที่มดสร้างขึ้นรักษาตัวเอง. ดังนั้นมดจึงผลิตยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าเชื้อราอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อมัน.  

     บางคนจัดแยกสายพันธุ์มดตามรูปร่างหรือฤทธิ์ของมด หรือตามแหล่งที่อยู่ของมันเช่น

มดก้นใหญ่ (Hormiga culona) ได้ชื่อว่าเป็นอาหารวิเศษในโคลัมเบียมาหลายร้อยปีแล้ว.  รสชาติเหมือนป๊อปคอร์นอบเนย. นักวิจัยได้ชิมกันแล้วทุกคน. เหมือนที่คนไทยทอดแมลงหลายสิบชนิด กินเป็นโปรตีน ไขมันต่ำ. ชาวเนเธอแลนด์ได้ความคิดไปจากไทย และเริ่มเลี้ยงตั๊กแตนอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกอีกหนึ่งทาง แทนเนื้อสัตว์.

มดคันไฟ (Fire ant) มีพิษร้ายแรงมาจากเหล็กในที่มดใช้กัดและต่อย ทำให้เจ็บแสบคล้ายถูกไฟลวก. บางสายพันธุ์เช่น Red imported fire ant หรือ Solenopsis invicta เข้าไปทำลายระบบรากของพืชเช่นถั่วเหลือง, พืชตระกูลส้ม, ข้าวโพด, กะหล่ำ, มันฝรั่ง, ถั่วลิสงฯลฯ ยังความเสียหายในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ละปีเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์.

มดอาร์เจนติน (Argentine ants) ที่อยู่ในนิคมขนาดยักษ์ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์มดที่ค่อนข้างรุกรานแพร่กระจายไปไกล (จากประเทศอาร์เจนตินา เข้ามารุกรานนิคมมดพื้นเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย) นิคมอาร์เจนตินาบางแห่ง มีอาณาจักรทอดไกลไปถึง 560 ไมล์ (ประมาณ 901 กิโลเมตร) ตลอดฝั่งทะเลรัฐแคลิฟอร์เนีย. มดกลุ่มนี้เป็นภัยสูงสุดสำหรับไร่ citrus ที่เป็นผลผลิตสำคัญของภูมิภาคแถบนั้น.

ดูความแตกต่างระหว่าง มดอาร์เจนติน กับ มดช่างไม้. เครดิตภาพจากเว็บนี้.

มดกองทัพแอฟริกัน (African army ants) อยู่กันเป็นนิคมขนาดยักษ์ (supercolony). ในยามศึก ทั้งฝูงเข้ารุมหรือจู่โจมเหยื่อหรือศัตรู. หากใครโดนมดชนิดนี้กัด จะเจ็บปวดมาก. แต่การดึงมดออก ไม่ช่วยอะไร เพราะมดนี้จะยึดเหยื่อของมันไว้แน่นไม่ปล่อย.

     Mark Moffett ผู้หลงใหลชีวิตมด เขาตามศึกษา แกะรอยมดไปทั่วทุกแห่งในโลก ทำแผนผังสายพันธุมดไว้ด้วย. เขาถ่ายภาพมดไว้จำนวนมาก และถ่ายภาพให้นิตยสาร National Geographic ด้วยกล้องคุณภาพสูงสุด. ได้บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับมดอย่างถึงพริกถึงขิง แทบจะบอกได้ว่า เข้าถึงความถี่คลื่นของตัวมด จนรู้ว่า มดกำลังเกร็งเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในบริเวณใกล้นิคมของมัน และมองมันซึ่งๆหน้าแบบตาสบตากัน. เวลาถ่ายภาพ เขานอนราบแนบติดพื้น เอากล้องไปใกล้มดในระยะไม่เกินหนึ่งนิ้ว. ในบริบทดังกล่าว มดมิได้เป็นสัตว์ตัวกระจิริดอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนมนุษย์ต่างดาว เป็นมดยักษ์ที่เขาเห็นทั้งหน้าตาและทุกสัดส่วน รวมกิริยาอาการของมด อย่างชัดเจนในกล้องของเขา. สมาคม National Geographic Society ตั้งฉายานามว่า เขาเป็น Indiana Jones ในโลกแมลง. มีผู้ถามเขาว่า เขาไม่เข็ดขยาดที่ถูกมดกัดบ่อยๆหรือ?  เขาตอบว่า ความสัมพันธ์ทุกชนิด ไม่ว่าในหมู่คนหรือสัตว์ ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาฟรีๆ, ต้องยอมสละอะไรบางอย่างเข้าแลก. เราต้องยอมรับทั้งสิ่งดีและไม่ดี. ผมถือว่าการถูกมดกัด เป็นไปตามกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับมด.

MoffMett ติดตามศึกษาชีวิตมดอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตามแนวทางของนักสำรวจ มาตลอดสามสิบปีของชีวิต ทั้งในฐานะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด Harvard University และต่อมาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีบเบิร์คลี University of Calofirnia - Berkeley และสถาบันสมิตโซเนียน Smithsonian Institution. เขาได้รับรางวัลจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งลองไอแลนด์ (Science Museum of Long Island) เป็นรางวัลเชิดชูผลงานทั้งหมดที่เขาทำมาตลอดชีวิต และได้เหรียญเกียรติยศ Lowell Thomas Medal จากคลับนักสำรวจ. นอกเหนือจากการยอมรับดังกล่าว ชื่อของเขายังใช้เป็นชื่อของมดสามสายพันธุ์, กบหนึ่งสายพันธุ์และด้วงหนึ่งสายพันธุ์. เขาเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ที่อาจติดตามหาอ่านได้จากอินเตอเน็ต. ตัวอย่างเช่น   

Mark Moffett, « Farmers, Warriors, Builders: The Hidden Life of Ants ».

« Adventures Among Ants: A Global Safari with a Cast of Trillions ». University of California Press.

เอกสารเกี่ยวกับมดจำนวนมาก เป็นหลักฐานยืนยันว่า มีคนสนใจศึกษาเรื่องมดอย่างจริงจังทั้งเชิงนิเวศวิทยา เชิงศัตรูพืช มากพอๆกับเชิงวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และสัตวชีววิทยา. ลิงค์ข้างล่างนี้ เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน. มีคลิปจากยูทู้ปหลายเรื่องที่น่าติดตามไปดู.

***https://www.pestworld.org/pest-guide/ants/thief-ants/

มดชนิดต่างๆ

***https://www.youtube.com/watch?v=tdsVRh9oKiE

Rethinking Thinking: How Intelligent Are Other Animals? Feb 1, 2020.

***https://www.nationalgeographic.com/animals/article/animals-queen-ants-termites-bees-insects-undertakers-bury-dead

การฝังศพในหมู่มดและปลวก

***https://www.npr.org/2010/06/17/127238974/tracking-a-sisterhood-of-traveling-ants

Tracking A 'Sisterhood' Of Traveling Ants

***https://www.youtube.com/watch?v=Uy4Iuj2Iwcs

Mark Moffett - The Human Swarm: How Our Societies Arise, Thrive, and Fall. Nov 4, 2020

***https://plunketts.net/blog/20-weirdest-wildest-ant-facts

ความจริงแปลกสุดๆยี่สิบประการเกี่ยวกับมด

***https://www.youtube.com/watch?v=MHoRiFq3ekw&t=3s

Queen Ant Mating Season | Ant Attack | BBC Earth. Jun 27, 2009

***https://www.youtube.com/watch?v=sC4MjPKf3jY

Kidnapper Ants Steal Other Ants' Babies - And Brainwash Them | Deep Look. Sep 24, 2019

***https://www.youtube.com/watch?v=tBQD0Zghwg8&t=118s

Facts About Ants 🐜 - Secret Nature | Ant Documentary | Natural History Channel. Aug 5, 2018.

***https://www.youtube.com/watch?v=qu0HN9rYtIw

Best of Ants ǀ BBC Earth. May 23, 2020.

โชติรส รายงาน

๓ เมษายน ๒๕๖๔.

No comments:

Post a Comment