Sunday, April 18, 2021

Why stoicism

     Zeno of Citium เป็นผู้สถาปนา สโตอิซิซึม เมื่อราว 300 ก่อนคริสตกาล, เป็นกระแสปรัชญาที่เกิดขึ้นทีหลัง โสเครติส(c.470-399BC) เปลโต (c.429-347 BC), อริสโตเติล (384-322BC) เป็นต้น. เซโนเป็นพ่อค้าขายสีผู้ร่ำรวย และสูญเสียโภคทรัพย์ไปในเรืออับปาง. เขาเองเกือบเอาชีวิตไม่รอด. เขาเร่ร่อนไปในกรุงอาเธนส์ ไม่มีเงินติดตัว. ครั้งหนึ่งผ่านแผงหนังสือ เห็นหนังสือ Memorabilia ของ Xenophon. เขาอ่านเรื่องราวของโสเครติสจากหนังสือเล่มนั้น แล้วถามคนขายว่า เขาจะหาคนอย่างโสเครติสได้ที่ไหน. ในขณะที่กำลังคุยกับคนขายอยู่นั้น Crates of Thebes (c.365-285 BC. เป็นนักปรัชญากระแส cynicism ที่มีทัศนะต่อต้านการเสวยสุขส่วนตน). เดินผ่านสองคนนั้นพอดี คนขายหนังสือชี้ไปที่ Crates และบอกว่าให้ตามชายคนนั้นไป แล้วเขาจะพบสิ่งที่เขาใฝ่หา. Zeno กลายเป็นลูกศิษย์ของ Crates และยังไปเรียนกับครูอาจารย์คนอื่นๆอีกด้วยตลอดระยะเวลาสิบปี. เขาสกัดสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาได้เรียนมาจากสำนักต่างๆและสถาปนา สโตอิซิซึม-Stoicism. น่าเสียดายว่าไม่มีบันทึกใดๆเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน. เซโนเชื่อว่า คนควรยึดเหตุผลเป็นหลัก, ว่าสรรพสิ่งไม่ยั่งยืน ไม่มีค่าที่แท้จริง. Zeno ประกาศว่า ข้าพเจ้าประสบความสำเร็จ  ชีวิตเจริญรุ่งเรือง เมื่อเรือข้าพเจ้าอับปางลง. ละให้เข้าใจว่า ชีวิตก่อนหน้านั้นไม่มีความหมายใดๆ. กระแสปรัชญานี้ อาจจัดได้ว่าเป็น ปรัชญาเบ็ดเสร็จ ในความหมายว่า ไม่เป็นเพียงระบบความคิด ระบบความเข้าใจโลก แต่เป็นทั้งทฤษฎีและหลักปฏิบัติที่ใช้ได้จริง. ผู้ที่มาสืบทอดสโตอิซิซึม คือ เอพิกเตตุส Epictetus (50-135 AD).

      เอพิกเตตุสเกิดเป็นทาส แต่ตายในฐานะครูผู้มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น. เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นครูหรือเป็นปราชญ์. เขาเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้พิเศษเฉพาะแบบ ความรู้ที่จะเอาไปใช้เมื่อประสบปัญหาหรือความยุ่งยากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิต และเอาชนะมันได้. ความรู้ที่เขาได้มาจากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวและจากปัญญาชาญฉลาดของทั้งผู้เป็นครูและตัวเขา. ปราชญ์สโตอิกผู้นี้ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและลึกล้ำ คนจำนวนมากเดินทางร้อยๆไมล์เพียงเพื่อให้มีโอกาสไปฟังเขาแม้เพียงครั้งเดียว.

      จักรพรรดิเฮเดรียน (Hadrian, 76-138 AD) ก็ได้ไปฟังเขาพูด. โชคดีเพียงใดที่มีหนุ่มคนหนึ่งในหมู่ผู้ฟังขาประจำ จดคำพูดของเอพิกเตตุสไว้และจารึกนั้นสืบทอดต่อมาถึงเรา, ผ่านหูผ่านตาบุคคลสำคัญๆในประวัติศาสตร์ยุโรปตลอดระยะเวลาสองพันกว่าปี. จักรพรรดิโรมันมาร์กุส เอาเรลีอุส (Marcus Aurelius, 121-180 AD) ได้เขียนลงในบันทึกส่วนตัว ขอบคุณคนๆหนึ่งที่ให้เขายืมหนังสือของเอพิกเตตุส. ประธานาธิบดีรูสเวลต์ (Theodore Roosevelt, 1858-1919 ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 26) มีหนังสือของเอพิกเตตุสติดตัวเสมอ ตลอดเส้นทางชีวิตของเขา. นายพลเจมส์ สต็อกเดล (James Stockdale, 1923-2005. พลเรือเอกและนักบินแห่งกองทัพสหรัฐ. มีหนังสือของเอพิกเตตุสติดตัว เมื่อเขาต้องนำกองทหารออกรบในสงครามเวียดนาม และเขาก็ใช้หนังสือของเอพิกเตตุสหนุนหัวนอนตลอดเจ็ดปีในคุกเมื่อตกเป็นเชลยสงครามที่นั่น. ต่อมาเขาประพันธ์หนังสือชื่อ Doctrines in a Laboratory of Human Behavior เล่าประสบการณ์ว่าปรัชญาสโตอิซิซึมได้ช่วยชีวิตเขาอย่างไรในคุก. อัลเบิร์ต เอลลิซ นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดชาวอเมริกัน (Albert Ellis, 1913-2007) ผู้สถาปนาทฤษฎี Rational Emotive Behavior Therapy บอกว่า ได้อาศัยคำสอนของเอพิกเตตุส พัฒนาทฤษฎีบำบัดพฤติกรรมอันสืบเนื่องกับความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ความคิดในเชิงลบ ที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมทางอารมณ์และความประพฤติอันรุนแรงเป็นต้น. ยังมีคนอื่นๆอีกมากที่คำพูดและความคิดของเอพิกเตตุสได้ดลใจและนำทางพวกเขา. ชัดเจนว่าเอพิกเตตุสเป็นหนึ่งในบุคคลที่ฉลาดสุขุมและเป็นแรงดลใจแก่คนอื่น คนสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ. 

     ปรัชญาหลักของสโตอิซิซึม บอกว่า ในชีวิต มีสิ่งที่ขึ้นกับเรา อยู่ในมือเรา ที่เราจัดการได้, กับสิ่งที่ไม่ขึ้นกับเรา อยู่นอกอำนาจ เกินความสามารถของเรา. การรู้จักแยกแยะว่าอะไรที่ขึ้นกับตัวเราและอะไรที่ไม่ขึ้นกับตัวเรา เป็นก้าวแรกสู่จิตสำนึกว่า แต่ละคนมีข้อจำกัดไม่ว่าเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว, ชีวิตของชุมชน, หรือชีวิตของมนุษยชาติ. ปรัชญาสโตอิซิซึม จึงสอนการรู้จักถ่อมตน, ให้ตระหนักถึงความจำกัดและจุดจบของตัวเอง. ให้รู้แยกแยะให้ถูกต้องว่า อะไรที่เราทำได้ เปลี่ยนได้. สโตอิซิซึมเป็นหลักปรัชญาที่ใช้ได้จริงในชีวิต และสอดคล้องกับวิวัฒนาการส่วนตัวของแต่ละคน. มันขึ้นกับตัวเองที่จะทำงานเพื่อบรรลุความสำเร็จ, เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวให้มีกินมีใช้. แต่คนเลือกเกิดไม่ได้ เกิดมาขี้ริ้วหรือทุพพลภาพ, เลือกเกิดที่ไหนมุมใดในโลกไม่ได้ เป็นต้น. หรือมีบางอย่างในชีวิตที่เรารับมาเป็นมรดกเช่นพันธุกรรม และบางอย่างในชีวิตที่แต่ละคนต้องก่อร่างสร้างขึ้นเอง (เช่นสั่งสมโภคทรัพย์ ไต่เต้าขึ้นบันไดยศบันดาศักดิ์เป็นต้น).

     อย่าเสียเวลาสนใจสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา. หันไปบริหารจัดการสิ่งที่เราทำได้ คุมได้ เราจะรู้สึกพอใจกว่าการเสียเวลากับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นหงุดหงิดเรื่องดินฟ้าอากาศ. ในความเป็นจริง สิ่งที่รบกวนเราที่สุด มิใช่ใคร อะไร หรือเหตุการณ์ สถานการณ์ใด แต่ความคิดของเราเองเกี่ยวกับสิ่งนั้น. อย่าไปมัวหมกมุ่นกับการเปลี่ยนความจริง แต่จงเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อความจริงนั้น. เช่นในเรื่องความตาย. เรามักจะลืมว่าชีวิตนี้แสนสั้น ชีวิตคนอื่นๆก็เช่นกัน, คนที่เรารักอาจตายเมื่อใดก็ได้, เราต้องยอมรับความตายของเขาเพราะนั่นคือธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่มีเกิดและมีตายควบคู่กันไป. การรู้เช่นนั้น ไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้องยอมรับให้ลึกถึงก้นบึ้งของจิตใจ. หากเริ่มคิดว่า จะตายเมื่อไหร่ อายุเท่าใด ในสภาวแวดล้อมอย่างใด หรือนอนแล้วไม่ตื่น ตายในอุบัติเหตุ ตายด้วยโรคฯลฯ คิดเรื่อยเปื่อยแบบนี้ ความหวั่นวิตกกังวลก็คลืบคลานเข้าจับจิตคุณแล้ว. คิดเช่นนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่า ในก้นบึ้งของจิตใจ คุณยังไม่ได้ยอมรับความตายจริงๆ.  ในหมู่สโตอิก ความตายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เพราะหากยังมีชีวิต ความตายยังไม่มา และเมื่อตายไปแล้ว ก็ไม่ทุกข์เรื่องตาย. ในความเป็นจริง คนจึงไม่ต้องเผชิญความตายซึ่งๆหน้า,  เพราะเมื่อความตายมาถึง มันก็เร็วเกินกว่าจะรู้สึกกลัว. ในที่สุดความหวั่นวิตกเรื่องความตาย คือความวิตกกังวลทางความคิดมากกว่าอื่น ไม่ใช่วิตกเกี่ยวกับความจริงว่าทุกคนต้องตาย. เท่ากับว่า หมกมุ่นอยู่กับอนาคตหรือนึกย้อนความหลังที่ผ่านมา มากกว่าอยู่กับปัจจุบันขณะ. ทั้งอนาคตและอดีต ทำให้อารมณ์ความรู้สึกอ้อยอิ่ง เหมือนการเคี้ยวเอื้อง จิตสำนึกไม่เคยหลุดไปจากอารมณ์เหล่านี้. (ในปรัชญาสโตอิซิซึม อารมณ์ความรู้สึก เขาใช้คำว่า passion ที่มาจากคำภาษากรีกว่า pathos ที่แปลว่า ความทุกข์ทรมาน).  ความทุกข์ทรมานของคน แทรกหลบในหลืบของจิตใจ, ความกลัว ความเสียดาย ความอิจฉา ความโกรธ, ความทุกข์เป็นหลักฐานยืนยัน ว่าแท้จริงเราไม่ได้ยอมรับชีวิตตามที่มันเป็นจริง.

      อารมณ์ความรู้สึก ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากต้นเหตุ. คนที่เป็นสโตอิก จักไม่ยินดียินร้าย ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก, เป็นรูปแบบหนึ่งของการวางเฉย. แต่ไม่ใช่การวางเฉยที่ปราศจากจิตสำนึก, เป็นการวางเฉยที่เกิดจากการรู้จักควบคุมตัวเอง. เมื่ออารมณ์ความรู้สึกหรือความทะยานอยากเกินตัว ไม่ได้เป็นตัวกำหนดการกระทำของเรา. เราจึงหลุดออกจากมายาคติ. อารมณ์ความรู้สึกทำให้คนกลายเป็นทาส มันเป็นฉากทึบกั้นมิให้มองเห็นความเป็นจริงตามที่มันเป็น.

      ส่วนสิ่งที่อยู่นอกอำนาจเรา สองมือเราไปปฏิวัติเปลี่ยนโลกไม่ได้. เราทำสิ่งที่เราทำได้ โดยไม่สนใจผลที่จะตามมา. โลกหมุนต่อตามวงโคจรโดยไม่เกี่ยวกับเอกบุคคลใด จะอยู่จะไป โลกก็หมุนไปๆ. แม้แต่ละคนจะเป็นส่วนหนึ่งของโลก ทิ้งร่องรอยของชีวิตบนโลก แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของโลก. แต่ละคนจึงทำในสิ่งที่เขาทำได้ ไม่ใช่เรื่องอะไรของเราที่จะทำอะไรแทนคนอื่นๆ. สโตอิซิซึม เป็นปรัชญาของความโปร่งใส คนที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ คือคนที่ทำดีที่สุดในสิ่งที่เขาทำได้.

     หากเรายึดกฎของโลกว่า โลกอยู่มาแล้วก่อนเราเกิดและจะอยู่ต่อไปอีกเมื่อเราตาย สิ่งที่เราทำได้ย่อมเป็นสัดส่วนโดยตรงกับความตระหนักรู้ถึงความจำกัดของเราเอง. เราเข้าใจโลก เข้าใจว่าโลกมีวิถีของโลก, เรายอมรับเรื่องนี้, เมื่อเรายอมรับวิถีโลก เราก็มีความสุข. ผู้มีปัญญาชาญฉลาด เปี่ยมด้วยความรอบรู้และความรอบคอบ ย่อมเป็นสุข. เขาไม่สนใจสิ่งที่อยู่นอกการควบคุมของเขา ปล่อยให้เป็นไปตามกฎแห่งจักรวาล. จักรวาลเป็นไปตามกฎของมัน ไม่อยู่ในอำนาจคนที่จะไปเปลี่ยนกฎเหล่านั้นได้. เราต้องควบคุมกายใจของเราเอง ไม่ปล่อยให้ถูกกระทบจากสิ่งที่อยู่นอกอำนาจเรา. มันขึ้นอยู่กับเราที่จะทำชีวิตให้เป็นสุขในสถานการณ์จริงของเราเอง. 

      เข้าใจโลก คือเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีสาเหตุให้มันเกิด และนี่คือกฎของจักรวาล. (ศาสนิกศาสดาองค์ใด อาจมองว่า ศาสดาหรือพระเจ้าเป็นผู้จัดให้).  ศักยภาพในการเป็นตัวตนของเราเอง กุมบังเหียนชีวิตของเราเอง เป็นผลจากการมีความเข้าใจอันแจ่มกระจ่างเกี่ยวกับโลก. เมื่อเข้าใจว่าอะไรที่เกิดขึ้น เป็นผลจากเหตุที่เกิดมาก่อนแล้ว. ทุกอย่างเป็นตรรกะ มีเหตุปัจจัย มีเหตุผลอยู่รอบล้อมและครอบคลุม. เราอาจไม่สามารถชี้เจาะจงเหตุที่เกิดขึ้น แต่เรารู้ว่า ไม่มีปรากฏการณ์ใดที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ. ทุกอย่างเกิดขึ้นและตั้งอยู่เพราะมีเหตุให้เป็นไปเช่นนั้น. (ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ นักจักรวาลวิทยา หรือนักฟิสิกส์ เพิ่มวิสัยทัศน์ขึ้นใหม่ว่า มีสิ่งที่เกิดนอกเหตุเหนือผล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองเหมือนความบังเอิญ แม้จะทดลองพิสูจน์กี่ครั้ง ก็หาสาเหตุไม่ได้เป็นต้น). ทุกปรากฏการณ์จึงอธิบายได้ แต่อธิบายปรากฏการณ์ใด ไม่ได้หมายความว่ายอมรับปรากฏการณ์นั้นอย่างอัตโนมัติ และก็ไม่ได้ยืนยันว่าเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น ถูกต้องทั้งในระดับสังคมและระดับศีลธรรม. เราอาจอธิบายคนก่ออาชญากรรมได้ในเชิงการแพทย์, เชิงจิตวิทยา, เชิงจิตวิเคราะห์, เชิงสังคมเป็นต้น. การอธิบายเช่นนี้ไม่ได้ลบล้างความผิดที่เขาไปฆ่าใคร. จึงต้องแยกแยะการอธิบายออกจากการหาข้ออ้าง.

     จักรวาลเป็นมวลรวมปรากฏการณ์ของเหตุและผลจากปรากฏการณ์ทั้งสิ้นทั้งปวง. คนในฐานะส่วนหนึ่งของจักรวาล จึงควรอยู่อย่างสอดคล้องกับจักรวาล สอดคล้องกับหลักการของเหตุปัจจัย. การรู้เหตุผล ปลดคนให้หลุดจากตาข่ายของอารมณ์ ไม่เสี่ยงกับความทุกข์ทรมาน, ความเครียดหรือความเศร้า. ยิ่งใช้ชีวิตตามหลักการของเหตุปัจจัย คนจะยิ่งเป็นอิสระ ยิ่งมีความสุข. ตาข่ายอารมณ์ความรู้สึก เหมือนปลิงดูดเลือดที่สกัดกั้นศักยภาพการใช้ชีวิตตามเหตุตามผล. ผู้นิยมลัทธิสโตอิซิซึม ยืนยันว่าเป็นไปได้ที่จะเบี่ยงตัวออกจากตาข่ายดังกล่าว แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย. ไม่เคยมีใครพูดว่า การสั่งสมปัญญาความรอบรู้และความฉลาดสุขุมนั้น เป็นเรื่องง่าย. นักปรัชญาส่วนใหญ่ ไม่เคยพูดว่าความสุข ความรู้ เป็นสิ่งที่ได้มาง่ายๆ, พวกเขาพูดว่า เป็นไปได้ ทำได้. การที่คนสามารถคิดโครงการเพื่อบรรลุความสุขและปัญญาญาณ เป็นสิ่งพิสูจน์ว่า มันเป็นเรื่องทำได้.

     เป้าหมายของการอยู่เยี่ยงมนุษย์ คือการบรรลุความสุขและปัญญาอันชาญฉลาด. ความสุขสำหรับสโตอิก ไม่เกี่ยวอะไรกับความพอใจเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ. การสนองความต้องการของตัวเอง ตรงข้ามกับคติของความสุข. โดยปริยาย คนต้องการสิ่งที่ตัวเองไม่มี เมื่อเกิดความต้องการ เท่ากับว่าเราขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น (เป็นทาสของความต้องการ) ความสุขของคนนั้น จึงขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น, สิ่งที่เขายังไม่มี. ดังนั้น คนนั้นจึงผูกความสุขของเขากับสิ่งที่เขาต้องการ. สำหรับสโตอิก ความสุขไม่อยู่ที่การได้สิ่งที่ต้องการ, ความสุขไม่ขึ้นอยู่กับความต้องการ, ความสุขไม่ใช่ความต้องการเป็นเจ้าของใครหรืออะไร. คนอาจมีความสุขในความทุกข์ ในยามเจ็บป่วย ในความโดดเดี่ยว. นักสโตอิกตัวยง คือผู้ที่สามารถรับรู้ข้อเท็จจริงใดๆโดยไม่มีอารมณ์และไม่แสดงความรู้สึกเจ็บปวด. นี่เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่พวกโยคีหรือพระอริยสงฆ์ สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้, (ในสายตาคนอื่น) พวกเขาทนทาน ไม่รู้สึกทุกข์ทรมาน. การฝึกทำสมาธิเป็นเส้นทางสู่ปัญญาญาณ, การทำสมาธิมุ่งเพ่งไปที่จิตมากกว่าที่ร่างกาย. ถอดจิตออกจากกาย กายจะเป็นฉันใด ก็ไม่รู้สึกเจ็บปวด.

      ไม่มีประโยชน์ที่จะโมโหหรืออารมณ์เสียเมื่อเกิดพายุฝนหรือเมื่ออากาศหนาวจัด. ให้จัดการช่วยตัวเองให้พ้นภัยพายุหรือภัยหนาว. หลายคนอาจคิดว่า ชีวิตจริง มิได้จำกัดอยู่กับเหตุและผลเท่านั้น, ฉันใดฉันนั้น ไม่มีเหตุผลใดที่ชีวิตต้องเป็นการสืบต่อไม่สิ้นสุดของความทุกข์ทรมานเท่านั้น มิใช่หรือ?.

       การมีความสุข คือมีความรู้สึกอิสระเสรี. แล้วทำอย่างไร คนจึงเป็นอิสระได้? จุดยืนของสโตอิซิซึมถือว่า การเป็นอิสระ คือการเพ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เราทำได้ และไม่สนใจในสิ่งที่อยู่นอกอำนาจเรา. สิ่งที่ขึ้นอยู่กับเรา อยู่ในการควบคุมของเราได้นั้น คือการมองสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่มันเป็นจริง. ความสุขในชีวิต ขึ้นอยู่กับคุณภาพของความคิดของแต่ละคน (Marcus Aurelius).  สิ่งที่รบกวนเรา มิใช่เหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คือความคิด คือจุดยืนของเราในสถานการณ์นั้นๆทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงความตายได้ สิ่งที่เราทำได้ คือการให้นัยความหมายแก่ความตาย. จะมองว่ามันน่าเกลียด น่ากลัว แล้วเอาความคิดแง่ลบนี้เข้าสิงในชีวิตเราทั้งชีวิต, หรือจะมองว่า ความตายเป็นวัฏจักรธรรมชาติ, มองว่ามันเป็นการพัก, เป็นการหลุดจากความทุกข์ทรมานของความแก่และความเจ็บป่วย. ยึดความคิดในเชิงบวกไว้. สิ่งไม่ดีทั้งหลาย จะไม่เกิดกับเราหากเราไม่เปิดให้มันเข้าครอบงำตัวเรา. เราจึงต้องพัฒนาความคิดอ่าน การไตร่ตรองเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อมิให้เหตุการณ์นั้นมากระทบเรา. ความไม่ยินดียินร้ายแบบสโตอิกนั้น (ataraxia) เป็นที่รู้จักกันดี ที่ช่วยให้ทุกคนตั้งมั่น สุขุมและงามสง่าในทุกสถานการณ์ ไม่ตีโพยตีพายหรือปรักปรำใครหรืออะไร. เอพิกเตตุสเสนอภาพของปราชญ์กรีกว่า เป็นผู้เงียบ สุขุม พูดแต่สิ่งที่จำเป็นและพูดน้อย.

       เป้าหมายของสโตอิซิซึม คือการอยู่สอดคล้องกับธรรมชาติ, คืออยู่อย่างมีคุณธรรม, อยู่อย่างชาญฉลาดและมีเหตุมีผล  เพราะธรรมชาติมนุษย์ รู้จักคิดหาเหตุผล รู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่. นี่เป็นสมบัติของคนเท่านั้น. ประเด็นสำคัญ คือการใช้ชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยมุ่งไปที่สิ่งในชีวิตที่เราควบคุมได้ บริหารจัดการได้ และไม่ปล่อยให้โลกภายนอก มาครอบงำอารมณ์ความรู้สึกหรือความสุขของตัวเอง.

      สโตอิซิซึม ยึดคุณธรรมหลักสี่ประการดังนี้ การมีปัญญาสุขุม, ความยุติธรรม, ความกล้า, และการรู้จักควบคุมตัวเอง. ปัญญาสุขุมทำให้มีพฤติกรรมที่มีเหตุมีผลและมองโลกเชิงวัตถุวิสัย โดยไม่มีอคติ ในความหมายว่า มันก็เป็นเช่นนั้นเอง. ความยุติธรรม นำให้มองทุกพฤติกรรม ทุกเหตุการณ์ด้วยความเป็นธรรมและด้วยเมตตาจิต. ความกล้า คือการกล้าเผชิญเคราะห์กรรม และสำนึกได้ว่า ความกลัวทำร้ายเรามากกว่าสิ่งที่เรากลัว. การรู้จับควบคุมตนเอง เป็นความสามารถต้านสิ่งยั่วยวนและเลือกฝ่ายคุณธรรมแทนฝ่ายอธรรม.

      ความทุกข์เกิดจากมุมมองของเราเองต่อเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบเรา. หากมองความทุกข์ว่าเป็นสิ่งดี มันเป็นโอกาสสำหรับพัฒนาคุณธรรม และทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น. หากเราไม่ชอบแนวนี้ ความทุกข์ก็กลืนชีวิตเรา. ดังนั้น จงยอมรับหลักการแล้วความทุกข์ก็จะไม่มารบกวน. ความทุกข์ทำให้เราเป็นคนดีขึ้น ความทุกข์เป็นสิ่งมีค่า จึงเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่รู้จักทนทุกข์. 

คนฉลาดยอมรับความเจ็บปวด อดทนสู้กับความเจ็บปวด โดยไม่เพิ่มความทุกข์เข้าไปอีก. (Marcus Aurelius)

ความสุขที่แท้จริง คือการเสพปัจจุบัน โดยไม่กังวลต่ออนาคต ไม่บันเทิงตัวเองด้วยความหวังหรือความกลัว แต่อยู่อย่างพอใจกับสิ่งที่มี และนั่นเพียงพอแล้ว เพราะใครที่ใช้ชีวิตเยี่ยงนั้น ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว. (Senaca)

อย่าเสียเวลาถกเถียงว่า คนดีควรเป็นเช่นใด. จงทำดีไปเรื่อยๆ. (Marcus Aurelius)

     หนังสือ คู่มือ Handbook ของเอพิกเตตุส หรือ หนังสือ ความคิดใคร่ครวญ Meditations ของมาร์กุส เอาเรลิอุส เป็นคัมภีร์ที่ชาวตะวันตกหลายคนยึดเป็นหนังสือข้างตัวเสมอ โดยเฉพาะในยามที่ท้อแท้ พวกเขาได้อาศัยความสุขุมแห่งปัญญาของปราชญ์สองท่านนี้ พยุงให้ลุกขึ้นและเดินต่อไปบนเส้นทางชีวิตอย่างสง่างามเยี่ยงราชสีห์.

    ในวิสัยทัศน์ของชาวตะวันตก ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณลงมา, ชีวิตคือชีวิตปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ที่อยู่นอกการควบคุมของพวกเขา แต่อยู่ในมือของเทพเจ้าหรือพระเจ้าที่ปลูกฝังกันมา. พวกเขาทำได้ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัตชอบตามบัญญัติศาสนา หรือตามจิตสำนึกที่ใฝ่ดีของเขาเอง. พวกเขายึดปัจจุบันขณะเป็นแกนนำพฤติกรรมทุกอย่าง และพยายามหาความสุขจากสภาวการณ์ในชีวิตจริง, ตระหนักถึงความจำกัดของตัวเองและของผู้อื่นด้วย, ตระหนักถึงกฎธรรมชาติที่ครอบงำสรรพชีวิตและสรรพสิ่งในจักรวาล. การใช้ชีวิตสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ. วิทยาศาสตร์ได้ยืนยันให้เห็นในเกือบทุกมิติ ว่ากฎบัญญัติของสังคม รัฐบาลหรือหน่วยงานใด ต้องตั้งอยู่บนฐานของความสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อความอยู่รอดที่ยั่งยืนทั้งของโลกและของจักรวาล. คุณธรรมสี่ประการที่เน้นไว้ในสโตอิซิซึม อันมี ความยุติธรรม, ความกล้า(เผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร้อคติ, โดยไม่ตีโพยตีพาย, ยอมรับหากอยู่นอกอำนาจในมือเราเป็นต้น), ความฉลาดสุขุม รอบรู้และรอบคอบ และการรู้จักประมาณตนให้อยู่ในความพอดี ไม่ตึงไม่หย่อน. ทั้งสี่เป็นคุณธรรมที่ส่งผลดีแก่ผู้ปฏิบัติจริง.

     หลักการของสโตอิซิซึม ย้อนนำไกลไปเมื่อห้าพันกว่าปีก่อน ในคติของศาสนาพราหมณ์ ดังที่เล่าไว้ในภควัตคีตา เมื่อพระกฤษณะสอนอรชุนผู้ท้อแท้ใจ ไม่อยากทำสงคราม ฆ่าล้างพี่ๆน้องๆเครือญาติกันเอง, พระกฤษณะสอนให้นึกถึงหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อสถาปนาความสงบสุขบนโลกเป็นหลัก, ให้วางเฉยกับการแพ้การชนะ, หากจะต้องฆ่าคนตายจำนวนมาก ต้องมองว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้. ตามคติพราหมณ์ คนที่ถูกฆ่าตาย ร่างตายลงเท่านั้น แต่วิญญาณจะไปเกิดใหม่(ในองค์ของเทพเจ้านั่นเอง). ร่างกายจึงเป็นเพียงทางผ่านภพเท่านั้น เป็นวงจรการเกิดการตายอย่างนั้น จะมัวคร่ำครวญไปไย. ใจควรฮึกเหิม กล้าทำหน้าที่ของผู้นำให้ดีที่สุด.

     ส่วนพุทธศาสนา สอนเรื่องการปล่อยวาง บอกทางสู่การดับทุกข์ในปัจจุบันและลดความทุกข์ที่จะตามมาในอนาคต. สอนให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิด เกิดเพราะมีสาเหตุที่ทำให้เกิด เป็นกรรมหรือวิบากกรรมที่ติดมาจากภพชาติก่อนๆ หรือแม้จากภพชาตินี้. การยึดติดอยู่กับร่างปัจจุบัน ที่เป็นเพียงเปลือกรวมขันธ์ห้า จึงไม่ช่วยให้คนหลุดพ้นทุกขเวทนาไปได้. ในความเป็นจริง จิตไหลไปไหลมาวนเวียนอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต. การจะหลุดออกจากวงจรดังกล่าว ต้องยึดปัจจุบันขณะเท่านั้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสมาธิ วิปัสสนา ตระหนักถึงไตรสิกขา จนเกิดปัญญาเข้าพิจารณาไตรลักษณ์ และตัดขาดจากวัฏสงสาร ไปสู่การหยุดนิ่งอย่างถาวร, ไม่มีตัวตนอีกแล้ว, ไม่มีความรู้สึก, ไม่มีความคิด, ไม่มีการยึดติดใดๆหรือกับใคร. อาจจะเทียบกับพลังบริสุทธิ์ในจักรวาล. การควบคุมอารมณ์ความรู้สึกให้หยุดนิ่ง การบรรลุพระสัทธรรม จึงเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนัก แทบจะสวนกระแสธรรมชาติของความเป็นคน.

      ชาวตะวันตกยังไม่ไปไกลถึงประเด็นนั้น หยุดอยู่แค่การบริหารจัดการชีวิตที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา และสร้างความสุขกับสิ่งที่มีในชีวิตปัจจุบัน ในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่พวกเขามองไม่เห็น และเชื่อว่าอยู่นอกการควบคุมของพวกเขา, อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า ภพชาติหน้ามีจริงเป็นต้น. สโตอิซิซึมสำหรับพวกเขา เพียงพอที่จะช่วยให้เขาอยู่อย่างสบายใจโดยไม่แล้งน้ำใจ ในโลกของความจริงปัจจุบัน.

โชติรส พินิจธรรม

๑๘ เมษายน ๒๕๖๔.

ผู้สนใจ อาจตามไปอ่านได้ตามตัวอย่างลิงค์ที่ให้ข้างล่างนี้ :

*https://1000-idees-de-culture-generale.fr/manuel-d-epictete/  (คู่มือของเอพิกเตตุส)

*https://www.youtube.com/watch?v=kiDRr1Ud22I (LE STOÏCISME - Vaincre nos émotions  Jan 18, 2020)

*https://www.worldhistory.org/Zeno_of_Citium/#:~:text=Zeno%20of%20Citium%20(l.c.%20336,the%20purpose%20of%20human%20life. (Zeno of Citium)

*https://www.youtube.com/watch?v=0oVsLkPqXWo (12 Stoic Lessons That Will Immediately Change Your Life – Ryan Holiday. Dec 14, 2020)  

No comments:

Post a Comment