Thursday, October 3, 2019

La dernière classe

        ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (เกือบยี่สิบปีแล้วมั้งข้าพเจ้าจับรถไฟมุ่งหน้าไปยังเมือง Rouen [รูอ็องเพื่อไปดูโบสถ์หลังใหญ่ที่นั่น. จิตรกร Claude Monet [โกล๊ด โมเน] ได้วาดภาพด้านหน้าของโบสถ์ น็อตเตรอดาม-เดอ-รูอ็อง (Cathédrale Notre-Dame de Rouen) เป็นชุดรวมประมาณ 30 ภาพ ในแสงสว่างแบบต่างๆของยามเช้า กลางวันและเย็น จึงทำให้โบสถ์นี้มีชื่อเสียงยิ่งขึ้นอีก. นอกจากนี้ รูอ็อง เป็นเมืองที่ Jeanne d’Arc หรือ Joan of Arc วีรสตรี (และนักบุญ) ฝรั่งเศส ถูกทหารอังกฤษจับเผาทั้งเป็น. 
      เมื่อขึ้นนั่งบนรถไฟเรียบร้อยแล้ว ยุคนั้นยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงไปเมืองรูอ็อง กว่าจะถึงก็สองชั่วโมง จึงหยิบหนังสือเล่มเล็กขึ้นมาเปิดอ่าน. อ่านไปอ่านไป อารมณ์เริ่มสั่นคลอน และก็รู้สึกหายใจติดขัดเพราะความรู้สึกรุนแรงที่ประดังขึ้นมา เขย่าจิตวิญญาณในนาทีนั้น.  น้ำตาเริ่มไหล อ่านต่อไปๆ ตัวสั่น หายใจเฮือกๆ ในที่สุดก็ร้องสะอึกสะอื้นออกมา ลืมไปเลยว่ากำลังนั่งอยู่บนรถไฟ. กำลังฮือๆอยู่ ได้ยินเสียงผู้ชายเรียกเบาๆว่า Mademoiselle! Mademoiselle! [มัดมัวแซ้ล(คุณคุณ!) ข้าพเจ้าหันไปด้านซ้าย น้ำตานองหน้า เห็นหนุ่มฝรั่งเศสคนที่นั่งถัดไป หน้าตาเลิกลัก. หนุ่มคนนั้นถามอย่างกังวลว่า  Etes-vous malade? (ไม่สบายหรือเปล่า) ข้าพเจ้ายิ้มทั้งน้ำตา บอกไปว่า ฉันสบายดี ไม่เป็นอะไร แต่เรื่องนี้มันเศร้าเหลือเกิน. 
      หนุ่มยิ่งแปลกใจหนักขึ้น ถามว่า คุณอ่านเรื่องอะไร ถึงได้ร้องไห้(เป็นวรรคเป็นเวร) ถึงเพียงนั้น. ข้าพเจ้ายื่นหนังสือให้เขาดู. เขาถามอีกว่า เรื่องมันเกี่ยวกับอะไร. ข้าพเจ้าเช็ดน้ำตา เลยต้องเล่าเรื่องย่อของเรื่องสั้นที่เพิ่งอ่านจบให้เขาฟัง ว่าเมื่อปรัสเซีย(เยอรมนี) เข้ายึดมณฑลอัลซ้าสของฝรั่งเศส ได้สั่งห้ามสอนภาษาฝรั่งเศส และบังคับให้สอนภาษาเยอรมันแทน...
         ทำไมคุณถึงรู้สึกรุนแรงถึงเพียงนั้น มันไม่ใช่ปัญหาของประเทศคุณ 
         ฉันเป็นครู
เรื่องสั้นที่ข้าพเจ้าจะเล่าในที่นี่ ชื่อเรื่องว่า La dernière classe หรือ วันสุดท้ายของการเรียน เป็นเรื่องสั้นเรื่องที่หนึ่ง แต่งในปี 1873 ปรากฏในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ Contes du lundi ของ Alphonse Daudet [อัลฺฟ้งซฺ โดเด้] (1840-1897, นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส). เรื่องสั้นนี้เกิดขึ้นในยุคที่กองทหารปรัสเซีย ยกทัพมารุกรานถึงพรมแดนฝรั่งเศสที่มณฑล Alsace-Lorraine [อัลฺซ้าสฺ ลอแรน](1870-1871) เด็กชาย Franz [ฟรั้นซฺเล่าถึงวันสุดท้ายที่เขาไปโรงเรียนของหมู่บ้าน. 
เช้าวันนั้น ผมออกจากบ้านล่าช้ากว่าทุกวัน หวั่นๆอยู่ว่าต้องโดนครูดุแน่นอน แถมครู Hamel [อาเม็ลได้กำชับเมื่อวานว่า วันนี้จะเอาการเรื่องการใช้กริยาประสมที่บ่งบอกการสิ้นสุดของการกระทำ (participe passé หรือ past participle). ผมนั้นไม่เคยเข้าใจอะไรกับการแจกการผันคำกริยาพวกนี้เลย. หนีเรียนดีกว่านะ เสียงแนะขึ้นในใจ ไปวิ่งเล่นในทุ่งดีกว่า
         อากาศก็อบอุ่น ฟ้าใสออกอย่างนั้น 
        ได้ยินเสียงนกร้องหยอกเย้ากันอยู่ริมป่า. เสียงจาก(กองทหาร)ปรัสเซียกำลังฝึกซ้อมกัน ดังมาจากทุ่ง Rippert [รีแปรต์หลังโรงเลื่อย. ผมว่าทั้งหมดนี้มันน่าสนใจกว่าการท่องกฎว่าด้วยการผันการใช้กริยา participles มากเลย แต่วันนั้นผมจิตแข็งพอที่จะต้านความอยากหนีเรียน จึงจ้ำอ้าวตรงไปโรงเรียน.
       วิ่งผ่านไปหน้าอำเภอ เห็นกลุ่มชาวบ้านออกันอยู่ตรงตู้ติดประกาศ. สองปีมาแล้ว ข่าวร้ายๆทั้งหลายมักมาจากตู้ติดประกาศนั้น... เรื่องแพ้รบ เรื่องถูกเกณฑ์ คำสั่งจากกองบัญชาการทหารเป็นต้น  ผมวิ่งไปคิดไปว่า
       วันนี้มีคำสั่งอะไรอีกล่ะนี่ 
        ขณะที่ผมวิ่งข้ามจัตุรัสกลางของเมือง เห็นลุง Watcher [วัดแชรฺกับลูกมือกำลังอ่านใบประกาศใบหนึ่ง ลุงแกตะโกนบอกผมว่า 
       ไอ้หนู ไม่ต้องรีบขนาดนั้นแล้ว ยังไงเสีย เจ้าก็ไปถึงโรงเรียนได้เร็วทันการ 
        ผมคิดว่าลุงแกล้อเล่น (เพราะนี่มันสายมากแล้ว) อย่างไรก็ดี ผมวิ่งกระหืดกระหอบไปถึงลานโรงเรียนของครูอาเม็ล.
       ปกติก่อนโรงเรียนเริ่ม เสียงอื้ออึงจากห้องเรียนดังหนวกหูไปจนถึงถนน เสียงเปิดปิดโต๊ะเรียน เสียงท่องหนังสือดังกึกก้อง เด็กนักเรียนแต่ละคน ต่างอุดหูท่องหนังสือ ไม่ฟังเสียงใครเพื่อจดจำบทเรียนให้ได้. บางทีก็มีเสียงไม้บรรทัดอันใหญ่ของครูที่เคาะลงบนโต๊ะ.
       เงียบๆหน่อย!
       ผมหวังจะใช้ความโกลาหนประจำวันแบบนี้ เพื่อลีบตัวเข้าไปนั่งบนเก้าอี้ตัวของผมโดยไม่ให้ใครทันสังเกต. แต่วันนั้นมันกลับไม่เป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเงียบสงัด ยังกะเป็นเช้าวันอาทิตย์แน่ะ.  ผมแอบมองทางหน้าต่างเข้าไปดูในห้องเรียน เห็นเพื่อนๆนั่งกันเรียบร้อยประจำที่ของแต่ละคนแล้ว ครูอาเม็ลเดินไปเดินมา หนีบไม้บันทัดเหล็กไว้ใต้แขน. ผมจำต้องเปิดประตูเข้าไปในความเงียบสงัดของห้องเรียน. คุณนึกภาพออกใช่ไหมว่า ผมคงหน้าแดง ตัวสั่นงันงกด้วยความกลัว.
       เปล่าเลย ครูอาเม็ลมองผมเฉยๆ ไม่ยักโกรธ แถมยังพูดด้วยเสียงที่อ่อนโยนมากว่า 
       หนูฟรั้นซ์ เข้าไปนั่งประจำที่ซะ พวกเราเกือบเริ่มเรียนโดยไม่คอยเธอแล้ว
       ผมก้าวพรวดเข้าประจำโต๊ะเรียนทันที. เมื่อความกลัวลดลงไปแล้ว ตอนนั้นเองที่ผมเห็นว่าครูผมสวมเสื้อนอกตัวหรู ที่เปิดหน้าอก เห็นเสื้อตัวในที่รีดเรียบเป็นจีบเป็นเกล็ดอย่างสวยงาม และสวมกางเกงผ้าไหมสีดำเงางาม มีลายปัก(ตรงขอบกระเป๋ากางเกง). เป็นชุดหรูที่ครูใส่เฉพาะในวาระพิเศษ เมื่อมีศึกษาธิการจังหวัดมาเยี่ยมชมโรงเรียน หรือในวาระที่มีการแจกรางวัล.  ผมกวาดตาไปรอบห้อง ก็รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษ อะไรที่ขรึมเป็นการเป็นงานผิดธรรมดา. แต่สิ่งที่ผมแปลกใจมากที่สุด คือเห็นม้านั่งหลังห้องที่ปกติว่างไม่มีใครนั่งนั้น  มีชาวบ้านมานั่งกันเต็ม หน้าขรึมและสงบ. ปู่โอเซต์ (Hauset) สวมหมวกสามเหลี่ยมของแก, นายอำเภอคนก่อนก็มานั่งอยู่ด้วย, บุรุษไปรษณีย์และคนอื่นๆอีก. ทุกคนมีใบหน้าเศร้าๆ. ปู่โอเซต์ยังนำหนังสือหัดอ่านเล่มเก่าของแกที่ขอบหนังสือผุไปแล้ว วางกางเต็มหน้าตักแก มีแว่นตาอันโตสำหรับหนีบบนจมูก วางบนหน้าหนังสือเตรียมเรียนเต็มที่.
       ระหว่างที่ผมกำลังงงงวยกับสิ่งที่เห็นในห้อง ครูอาเม็ลขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ประจำของครู ด้วยน้ำเสียงที่ขรึมและอ่อนโยนเหมือนเมื่อครูพูดกับผมตอนผมเข้าไปในห้อง. ครูบอกเราว่า
       ศิษย์ทั้งหลาย วันนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ครูจะสอนพวกเธอ. มีคำสั่งมาจากกรุงแบร์ลิน ห้ามสอนภาษาอื่นใดนอกจากภาษาเยอรมันตามโรงเรียนทุกแห่งในแถบ Alsace [อัลซ้าสฺและ Lorraine [ลอแรน... ครูคนใหม่จะมาถึงพรุ่งนี้. วันนี้ เป็นการเรียนครั้งสุดท้ายของภาษาฝรั่งเศส ครูขอให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจเรียน.
        คำพูดครูทำให้ผมหัวปั่นทันที. เรื่องนี้เองที่เขาติดประกาศไว้ที่หน้าอำเภอ.
        บทเรียนบทสุดท้ายของภาษาฝรั่งเศส!
        และผมยังเขียนอะไรไม่เป็นเลย ผมจะไม่มีวันเขียนภาษาฝรั่งเศสได้ตลอดกาลเลยหรือนี่นี่มันจบลงอย่างนั้นจริงๆหรือผมโมโหตัวเองที่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไป เสียไปแล้วไม่คืนมา. โกรธตัวเองที่หนีเรียนบ่อยๆเพราะมัวไปตามหารังนก(เพื่อขโมยไข่) หรือไปเล่นเลื่อนไถไปมาบนแม่น้ำซาร์ (Saar). หนังสือทั้งหลายของผมที่ตะกี้นี้เอง ยังเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ มันหนักเหลือเกินที่ต้องแบกมันไปๆมาๆทุกวัน หนังสือไวยากรณ์ หนังสือตำนานนักบุญ ในนาทีนั้นพวกมันเป็นเหมือนเพื่อนรักเก่าที่ทำให้ผมเศร้าโศกอย่างที่สุดที่ต้องถูกพรากจากกัน. ผมรู้สึกเช่นนั้นกับครูอาเม็ลด้วย แสนเสียใจเมื่อคิดว่าครูจะจากไป ผมจะไม่ได้พบครูอีก. มันทำให้ผมลืมที่ครูตีผมบ่อยๆด้วยไม้บรรทัด.
        สงสารครูจัง
        เพื่อเป็นเกียรติแก่การสอนครั้งสุดท้ายนี่เอง ที่ครูได้สวมชุดหรูชุดเก่งของครู.
ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว ว่าทำไมคนแก่ของหมู่บ้านจึงพากันมานั่งที่หลังห้องเรียน. มันเหมือนกับว่า พวกเขาเสียใจและเสียดายที่ไม่ได้มาเข้าห้องเรียนบ่อยกว่านี้  และก็เป็นวิธีการแสดงความรู้คุณต่อครูประจำหมู่บ้านคนนี้ ที่ได้รับใช้ชาติมาด้วยดีตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา และพวกเขาก็มาทำหน้าที่ของพลเมืองต่อชาติที่กำลังสูญสิ้นลง.
       ขณะที่ผมกำลังครุ่นคิดอยู่นั้น ได้ยินครูเรียกชื่อผม. ถึงตาผมแล้วที่จะต้องท่องบทเรียนให้ครูฟัง. นี่ถ้าต้องแลกกับอะไรทั้งหลายทั้งโลก ผมพร้อมทำทุกอย่างเพื่อท่องกฎไวยากรณ์เรื่อง participle ให้ดังลั่น ชัดถ้อยชัดคำ โดยไม่ผิดเลย. แต่ผมได้แต่ตะกุกตะกัก ยืนเซ่ออยู่ที่โต๊ะ แสนทุกข์อยู่ในใจ คอตกไม่กล้าเงยหน้าขึ้น. ผมได้ยินครูอาเม็ลพูดกับผมว่า
      ครูจะไม่ดุเธอหรอก ฟรั้นซ์. เธอคงรู้สึกผิดมากพอแล้วในใจ.  นี่ไงมันเป็นอย่างนี้  ทุกๆวันเราบอกตัวเองว่า เรามีเวลาอีกมาก เราจะตั้งใจเรียนพรุ่งนี้ และแล้ว เห็นไหมว่า เกิดอะไรขึ้น. อนิจจาเป็นเคราะห์ร้ายของอัลซ้าส ที่ผลัดการเรียนรู้ออกไปเรื่อยๆ. มาบัดนี้ พวกเขา(ชาวปรัสเซีย)มีสิทธิ์พูดหยามหน้าเราว่า “มันยังไงกัน พวกคุณอ้างว่าเป็นคนฝรั่งเศส แล้วคุณเองพูดไม่ได้ เขียนภาษาของคุณเองไม่ได้ ยังงั้นรึ”. ทั้งหมดนี้ ฟรั้นซ์เอ๋ย เธอไม่ใช่คนผิดคนเดียว. พวกเราทุกคนมีส่วนในคำตำหนิ คำสบประมาทนั้นด้วย. 
      พ่อแม่ของพวกเธอไม่ได้เข้มงวดกวดขันให้พวกเธอใฝ่หาความรู้. พวกเขาพอใจที่จะส่งพวกเธอไปทำงานในไร่นา หรือส่งไปทำงานที่โรงงานทอผ้า เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย. ครูเองล่ะ ไม่มีข้อบกพร่องเลยหรือ. ครูเองก็ผิดที่เคยขอให้พวกเธอช่วยรดน้ำในสวน แทนการให้พวกเธออ่านหนังสือ และเมื่อครูอยากออกไปตกปลาเทร้าท์ (trout) ครูก็ไม่ได้ลังเลบอกเลิกเรียน ปล่อยให้พวกเธอกลับบ้าน.
       พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ครูอาเม็ลเริ่มพูดถึงภาษาฝรั่งเศส บอกว่า
      ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สวยที่สุดในโลก เป็นภาษาที่ชัดเจนที่สุด เป็นภาษาที่มั่นคงที่สุด และที่เราทุกคนต้องรักษามันไว้ในหมู่พวกเรา อย่าได้ลืมมันเป็นอันขาด เพราะว่า เมื่อชนชาติหนึ่งตกไปเป็นทาส ตราบใดที่พวกเขายังมีภาษาของเขา มันเหมือนว่าพวกเขามีกุญแจไขห้องที่ขังพวกเขาไว้... 
     หลังจากนั้นครูหยิบหนังสือไวยากรณ์ และเริ่มสอนบทเรียนแก่เรา. ผมประหลาดใจนักที่ผมเข้าใจได้โดยตลอด ทุกสิ่งที่ครูบอก มันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย. ผมเชื่อว่าตั้งแต่เกิดมา ผมไม่เคยฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและเข้าใจทุกถ้อยกระทงความตามครูเช่นครั้งนั้น. ครูเองก็เหมือนมีความอดทนสูงสุดที่จะอธิบายอย่างละเอียดลออเพื่อให้ทุกคนเข้าใจอย่างชัดเจน ราวกับว่าครูอยากจะให้ความรู้ทุกอย่างของครูแก่พวกเรา เอามันใส่เข้าไปในหัวของพวกเรารวดเดียวในชั่วโมงนั้น.
       เรียนไวยากรณ์จบลง ถึงวิชาคัดลายมือ. สำหรับวันนั้น ครูอาเม็ลได้เตรียมตัวอย่างสองคำ. ครูได้บรรจงเขียนลงบนกระดานดำ เป็นลายมือที่ลากต่อเนื่องกันไปตลอดคำว่า France, Alsace, France, Alsace  สี่คำนี้ ณที่นั่นเวลานั้น โบกสะบัดเหมือนธงชาติผืนเล็กๆที่ติดบนราวลวด ห้อยเป็นสายรุ้ง เหนือโต๊ะนักเรียนแต่ละโต๊ะ. ถ้าเพียงคุณได้เห็นบรรยากาศในห้องเรียนตอนนั้น... ทุกคนตั้งหน้าตั้งตา ใจจดใจจ่อ และห้องก็เงียบสงัด. ไม่มีเสียงใดเลยนอกจากเสียงปากกาคอแร้งที่ขีดและขูดไปบนแผ่นกระดาษ. มีชั่วแป๊บหนึ่งที่แมลง(ปีกแข็ง)บินเข้ามาในห้องเรียน. แต่ไม่มีใครสนใจมันเลย แม้แต่เด็กเล็กที่สุดในชั้น ก็ตั้งใจลากเส้น ขีดให้ตรงเหมือนไม้ตระบอง ก่อนขมวดหัวหรือลากโค้งไปตามตัวอย่างที่ครูเขียนไว้บนกระดานดำ. ทั้งหมดจดจ่อกับการลากเส้นให้เป็นตัวอักษร รวมหัวใจและจิตสำนึกลงไป ราวกับว่าเส้นขีดตรงๆแต่ละเส้น คือตัวภาษาฝรั่งเศสด้วย. เหนือขึ้นไปบนหลังคาโรงเรียน ได้ยินเสียงนกพิราบร้องกรู๊กรูอยู่ในคอ. ผมพูดกับตัวเองว่า
        แล้วเจ้านกทั้งหลายจะถูกบังคับให้ร้องเป็นภาษาเยอรมันด้วยไหมเนี่ยะ
        ครั้งหนึ่งผมเหลือบตาขึ้นจากหน้ากระดาษคัดลายมือ เห็นครูอาเม็ลนิ่งอยู่ในเก้าอี้ของครู. สายตากวาดมองไปยังสรรพสิ่งรอบๆตัว ราวกับว่าครูอยากจะให้สายตากวาดนำทุกอย่างในบ้านที่เป็นโรงเรียนของเขาหลังนี้ ติดตัวไปกับเขาด้วย. คิดดูละกัน ครูอยู่ที่นั่นมาสี่สิบปีแล้ว ที่เดิมที่นี้ที่เดียวกัน มีลานหน้าบ้านและห้องเรียน. ทุกอย่างทั้งหมดอยู่กับครูมาสี่สิบปี. ม้านั่งกับโต๊ะนักเรียนเท่านั้นที่ไม้ดูไม่ราบเหมือนหน้ากลองแล้ว เพราะการนั่งการถูไถของนักเรียน. ต้นวอลนัทบนลาน สูงใหญ่ขึ้นมากทีเดียว. ต้นฮอพ (hop) ที่ครูปลูกเอง กิ่งของมันได้เลื้อยไปล้อมรอบหน้าต่าง และขึ้นไปจนถึงหลังคา. ครูคงหัวใจสลายที่ต้องจากทั้งหมดนี่ไป. ได้ยินเสียงน้องสาวครูที่เดินไปเดินมาชั้นบนเหนือห้องเรียน เก็บข้าวของและปิดกระเป๋า. ทั้งสองต้องไปจากที่นั่นวันรุ่งขึ้น จากดินแดนแถบนั้นไปชั่วชีวิต.
      ถึงกระนั้น ครูยังมีความเข้มแข็งที่จะสอนเราจนถึงนาทีสุดท้าย. หลังจากชั่วโมงคัดลายมือ เป็นชั่วโมงประวัติศาสตร์ แล้วนักเรียนรุ่นจิ๋วเรียนออกเสียงด้วยเพลง. หลังห้อง ปู่โอเซต์สวมแว่นตา มือถือหนังสือหัดอ่านของแก และสะกดคำพร้อมกับเด็กๆ. เห็นชัดว่าปู่แกตั้งใจจริงๆ. เสียงแกสั่นด้วยความรู้สึกภายในใจแก. เสียงอ่านของแกฟังตลกๆ. พวกเราทั้งอยากหัวเราะและอยากร้องไห้. อาผมคงจำการเรียนครั้งสุดท้ายนั้นไปชั่วชีวิตเช่นกัน.
       ทันใดนั้น เสียงระฆังโบสถ์ตีบอกเวลาเที่ยงวัน แล้วบอกเวลาสวด Angelus (การสวดมนต์สามเวลาในแต่ละวันสำหรับชาวคาทอลิก) ในขณะเดียวกันนั้นก็มีเสียงแตรทหารของพวกปรัสเซียที่กลับจากการฝึก ดังลั่นผ่านเข้ามาทางหน้าต่างห้องเรียน. ครูอาเม็ลลุกขึ้นยืน ใบหน้าซีด ผมไม่เคยเห็นร่างครู สูงใหญ่เท่าวันนั้น. 
       สหายทั้งหลาย สหายทั้งหลาย ผม...ผม..
       มีอะไรติดคอหอยครู  ครูพูดไม่จบประโยค.
       ครูกลับหันหลัง ไปที่กระดานดำ หยิบชอล์คชิ้นหนึ่ง และเขียนด้วยกำลังและน้ำหนักทั้งหมดที่ครูมี เป็นตัวอักษรใหญ่ที่สุดที่ครูเขียนได้ ว่า
      Vive la France!   ขอให้ฝรั่งเศสจงเจริญ
         ครูนิ่งอยู่กับที่  ศีรษะก้มไปยันกำแพง  ไม่พูดอะไร โบกมือบอกให้รู้ว่า
         จบแล้ว พวกเธอไปได้.

Alphonse Daudet นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส (1840-1897)

  ห้องเรียนในฝรั่งเศสสมัยก่อน ลายมือของครูเขียนบนกระดานดำ
วิธีการเขียนแบบนี้ เป็นสิ่งที่สอนกันในชั่วโมงคัดลายมือ
เด็กนักเรียนฝรั่งเศสในห้องเรียน. รวมเด็กทุกวัยของหมู่บ้านเข้าด้วยกันในห้องเรียนเดียวกัน. เด็กโตให้อ่าน ให้คัดลายมือ. เด็กเล็กอยู่แถวหลังห้อง ทุกคนมีแผ่นกระดานชนวนที่เด็กใช้หัดเขียน.
  ตัวอย่างจากหนังสือเรียนในแถบอัลซ้าส
หน้าซ้ายกว่าครึ่งค่อนหน้า เป็นบทหัดอ่าน เป็นอักษรพิมพ์ ให้จำศัพท์. ในภาพนี้เป็นบทเรียนที่ 23 เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นในห้องเรียน  และก็เป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือด้วย ดังที่เห็นในหน้าขวา. ให้นักเรียนเขียนข้อความที่พิมพ์อยู่บนหน้าซ้าย ให้เป็นลายมือที่ตัวอักษรเชื่อมต่อๆกันไปจนจบอักษรสุดท้ายในแต่ละคำ. ใต้บทที่ 23 มีตัวอักษรเล็กลง เป็นแบบฝึกหัดเลขคณิตหน้าขวา และให้ถอดคำที่บอกจำนวนให้เป็นตัวเลขด้านซ้าย. นั่นคือสอนทั้งรูปลักษณ์ของตัวเลข และการเขียนเป็นคำด้วยอักษรที่บ่งชี้จำนวนแต่ละตัว. 

ตัวอย่างหน้าหนึ่งในสมุดสอนให้เขียนระบบอักษรของเด็กเริ่มต้นเรียน
มีเครื่องหมายแสดงการลากเส้นจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง 
ในแรกเริ่มเป็นอักษรที่ใช้เส้นตรงๆก่อน
(ครูจะบอกให้เด็กๆลากเส้นไม้ตระบอง-bâton ดังสำนวนโบราณยุคนั้น)


โชติรส แปลไว้เมื่อ ๕ กันยายน ๒๕๕๗.

No comments:

Post a Comment