ศาสตราจารย์ Pierre-Marie Lledo ผู้อำนวยการแผนกประสาทวิทยา
สถาบันปาสเตอร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (CNRS ของฝรั่งเศส)
เสนอหลักหกประการที่ควรตระหนักและปฏิบัติตามเพื่อรักษาสมองของเราให้อ่อนวัยไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่. สมองคนวิวัฒน์ตลอดชั่วอายุของคน. สมองปรับตัวและบริหารหน้าที่กับปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสและจากประสบการณ์ทุกแบบจากทุกมิติที่คนเปิดรับ...
การกระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆคือการผดุงรักษาสมองให้อ่อนวัยไปจนวันสุดท้ายของชีวิต.
๑) ให้หลีกเลี่ยงความจำเจ (routine)
เพราะสมองเหมือนคนช่างกิน
ชอบชิม ชอบลองอาหารใหม่ๆ. การเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้สเต็มเซลล์ในสมองสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆขึ้น.
« จงปลูกฝังความกระหายอยากเข้าใจและอยากเรียน».
๒) ต่อสู้เอาชนะ infobesity (คำนี้สร้างจากคำว่า info
+ obesity นั่นคือ “ ข้อมูล ”
บวกกับ “ ความอ้วนฉุ ” ให้ภาพพจน์ของคนอ้วนตัวใหญ่หนาหนัก
ที่อาจกลายเป็นความพิการแบบหนึ่ง ในที่นี้
สมองอ้วนฉุพุงโร เพราะเขมือบข้อมูล ยัดข้อมูลสารพัดสารพันลงในสมองจนสมองพิการได้).
สมองเป็นสิ่งที่ดัดได้ปั้นได้ เหมือนดินน้ำมันที่เราเล่น
ปั้นให้เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ. ข้อมูลเป็นเหมือนมือที่ปั้นสมอง สร้างวงจรภายในสมอง.
จำเป็นต้องรู้ว่า ควรจะใส่ข้อมูลอะไรลงในสมอง อย่าสุมๆกองๆลง
ต้องมีการจัดระบบนิเวศภายในพื้นที่สมองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แบบหยิบใช้ก็ง่าย
ดูก็งามตา. เหมือนกองสมบัติที่วางระเกะระกะทั่วพื้น
กีดขวางทางเดิน และทำให้สะดุดหกล้มบาดเจ็บได้. เช่นกันสมองอยากเก็บเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับการธำรงอยู่ของคนนั้นๆ.
ข้อมูลจำนวนมากที่ไม่จำเป็นและไม่กระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆ กลับสร้างความเครียดขึ้นแทน.
จึงจำเป็นต้องรู้จักเลือกข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ ที่เสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อวิวัฒนาการของแต่ละคน.
๓) หยุดใช้ยาระงับประสาทและยานอนหลับ.
เมื่อกินยาประเภทนี้ สมองเหมือนรถยนต์ที่เดินด้วยเกียร์อัตโนมัติ
แต่ไม่มีคนถือพวงมาลัย. เท่ากับไปหยุดกระบวนการทำงานตามปกติของสมองที่เคยเป็นผู้รับมือทำความเข้าใจอะไรต่ออะไรที่ผ่านเข้าไป.
การกินยาประเภทนี้ติดต่อกันเป็นระยะนานๆ ทำให้สมองหมดสมรรถภาพในการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ.
รถยนต์วันนี้ที่เป็นรถไร้คนขับ
ไม่มีคนขับจริงที่พวงมาลัย แต่ยังมีศูนย์ควบคุมดูแลรถคันนั้นอยู่ หรือถูกใส่โปรแกรมในเครื่องยนต์
ให้เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ มิใช่ไปตามใจชอบ. อนาคตรถไร้คนขับอาจไปที่ไหนก็ได้อย่างอิสระเสรี.
๔)
เคลื่อนไหวร่างกาย ให้มากกว่าการนั่งนิ่งแช่อยู่กับที่. เมื่อร่างกายออกกำลัง
กล้ามเนื้อสร้างสารเคมีหลายตัว (trophic factors) ที่ส่งผลต่อทอดไปทางสายเลือดสู่สมองและไปถึงสเต็มเซลล์.
การทำงาน(ความว่องไว)ของกล้ามเนื้อ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ.
๕) มีบางส่วนในสมอง ที่สมองควบคุมไม่ได้.
มันอาจนิ่งเฉยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จนเมื่อคนนั้นเผชิญกับ
“ ความเป็นอื่น ” (otherness). ความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวง
กระตุ้นให้สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้และรับมือกับความแปลกแยกนั้น. คล้ายๆกับพัฒนา
“ สมองสังคม ” เหมือนพ่อแม่พาลูกๆออกงานสังคม เพื่อเสริมสร้างทักษะในการวางตัว
การพูดคุยกับคนแปลกหน้า.
๖) ดูแลระบบไมโครชีววิทยาในร่างกาย. งานวิจัยปัจจุบัน บอกให้รู้ว่า
ลำไส้ของคนมีการติดต่อสื่อสารกับสมองตลอดเวลา. นั่นคือการกินอาหารมีบทบาทสำคัญมากในการรักษาสมองให้แข็งแรงกระฉับกระเฉง.
การกินอาหารหลากหลายชนิด กินอาหารที่มีใยอาหารมาก กระตุ้นให้สร้างแบ็คทีเรียบางชนิด.
ใยอาหารนอกจากมีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหารของร่างกายแล้ว ยังมีส่วนไปช่วยการสร้างเนอรอนในสมอง
(ไยอาหารดีต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน). การเลือกกินอาหารบางชนิดเท่านั้น
หรือกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง
ทำให้เกิดแบ็คทีเรียหลายชนิดที่ไม่ช่วยให้สร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ ไม่ว่าในวัยใด. จึงแนะนำให้กินอาหารหลายๆชนิด
(หากเป็นไปได้) เปลี่ยนเมนูอาหารบ่อยๆ ดีกว่ากินอาหารซ้ำๆจำเจ แบบเดิมๆตลอดเวลา.
(ติดตามหาความรู้เพิ่มเติมจากนักวิจัยคนนี้ได้ตามลิงค์นี้
เป็นภาษาฝรั่งเศส >>
นักประสาทวิทยาบางค่าย
เสนอแนะให้อ่านหรือทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยอ่าน ไม่เคยทำ เพื่อดึงตัวออกจากความจำเจ
ความคุ้นชิน. การเลือกหัวข้อ(เช่นในกรณีของเราชาวอักษรฯ)วิทยาศาสตร์มาอ่าน
แน่นอนเราคงอ่านไม่เข้าใจนักหรือไม่ชอบ แค่คิดว่าต้องไปอ่านเช่นเรื่องกลศาสตร์วิศวกรรม
ก็เครียดแล้ว. เป็นการคิดเครียดก่อนเวลาจริง เมื่อลงมืออ่านจริงๆ
โดยเฉพาะหากคนเขียน คนสอนเก่ง ก็อาจสร้างความสนใจใหม่ๆกับเราได้. นั่นคือ ระหว่างที่เริ่มอ่านสิ่งที่ไม่เคยรู้
สมองคนสร้างเซลล์ตัวใหม่ๆเข้ารับมืออย่างฉับพลัน. ทีนี้อ่านไปอ่านไป
ยังไม่รู้เรื่องหรือไม่สนใจ ก็หยุด.
เมื่อออกกำลังกาย เหนื่อยแล้วเราก็หยุดพัก ก็เท่านั้นเอง อย่าไปปริวิตกว่า
อ่านแล้วเครียด.
คำแนะนำที่เขาเน้น
คือ หาอะไรให้สมองทำในเรื่องใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้สร้างเซลล์สมองใหม่ๆ.
งานวิจัยปัจจุบันยืนยันว่า สมองสร้างเซลล์ใหม่ๆได้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด.
หลักธรรมชาติถาวรคือ การสร้างเกิดขึ้นเพราะมีสิ่งกระตุ้น (motivation) เป็นประเด็นหลัก ในทำนองเดียวกับที่ความกลัวทำให้คนหาที่หลบซ่อน
สร้างที่พักพิง ผลิตอาวุธฯลฯ. ความกลัวทำให้เครียดได้
แต่ความเครียดผลักให้คิดค้นหาทางออกได้เช่นกัน. เมื่อสมองสร้างเซลล์ใหม่ๆเรื่อยๆ
มันก็มีสุขภาพดี. วิธีการกระตุ้นเซลล์สมองให้คึกคักว่องไวอยู่เสมอ
เราก็เลือกวิธีที่ถูกกับจริตของเราตามจังหวะชีวิตของเราเอง.
(ติดตามหาความรู้เกี่ยวกับเนอรอน เกี่ยวกับการสร้างเซลล์ประสาทหรือเนอรอน
neurogenesis. เซลล์ประสาทจำเป็นยิ่งเพื่อการธำรงชีวิต. เพจนี้จากสถาบันทางการของรัฐบาลสหรัฐฯชื่อ
National Institute of Neurological Disorders and Stroke ข้อมูลภาษาอังกฤษ >> https://www.ninds.nih.gov/Disorders/patient-caregiver-education/life-and-death-neuron )
นอกเหนือจากกิจกรรมที่กระตุ้นการสร้างเนอรอนใหม่ๆให้สมองแล้ว
การนอนที่เพียงพอก็สำคัญยิ่งด้วย เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง สดชื่น. (โปรดติดตามเรื่องการนอนในฉบับหน้า).
ตลอดทั้งวัน ข้อมูลใหม่ๆหลั่งไหลท่วมท้นสมอง. ในคอมพิวเตอร์
หรือในมือถือ เมื่อมีข้อมูลเต็มจนไม่เหลือพื้นที่หน่วยความจำ เราต้องลบข้อมูลอื่นๆทิ้งไป เพื่อหาพื้นที่สำหรับข้อมูลใหม่ที่เราจะใส่ลงไป.
ฉันใดฉันนั้น สมองรับข้อมูลจำนวนมาก จนล้นและแออัดอยู่ภายใน บางข้อมูลสำคัญมาก
บางข้อมูลไม่สำคัญ. สมองคัดกรองข้อมูลบ่อยๆทุกวัน เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
สมองจัดแยกแยะข้อมูลให้เหลือเท่าที่จำเป็น และลบข้อมูลที่สำคัญน้อย
ที่ไม่เกี่ยวกับ “การอยู่รอด” โดยตรงออกไป เพื่อมิให้ข้อมูลล้นสมองจนเกินไป.
เวลานอนเป็นเวลาที่สมองกำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไปในแต่ละวัน.
เมื่อสมองกำจัดขยะข้อมูลใด คนลืมข้อมูลนั้น. นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเนอรอนบางตัวที่มีหน้าที่ช่วยคัดกรองความจำใหม่ๆที่เก็บมาตลอดทั้งวัน.
การกำจัดข้อมูลใด สมองเลือกอย่างไร
น่าจะเป็นระบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังที่เคยพูดมาแล้วว่า อะไรสำคัญ
อะไรไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางด้านกายภาพ(ตั้งแต่ดีเอ็นเอ เพศ
โครงสร้างของร่างกายฯลฯ), ด้านอุปนิสัย(รวมจิตสำนึกและจิตวิญญาณ), สภาพแวดล้อมในครอบครัว, ด้านการศึกษา, การประกอบอาชีพ,
ด้านสังคม, ด้านวัฒนธรรมฯลฯ ทั้งหมดทุกๆด้านที่รวมตัวกันเป็นคนๆหนึ่ง. ฝรั่งเขาพูดว่า
แม้แต่พระเจ้ายังเนรมิตสองคนให้เหมือนกันทุกประการไม่ได้ ทั้งภายนอกและภายใน.
บางคนจำตัวเลขเก่ง เช่นจำเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนทุกคน ของญาติทุกคนได้เป็นต้น. บางคนจำรายละเอียดของสถานที่ต่างๆได้แม่นยำ.
ความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มองอะไรไม่เหมือนกัน รู้สึกไม่เหมือนกัน.
ส่วนตัวแล้ว จำประสบการณ์ในอดีตอย่างไม่มีวันลืม หากประสบการณ์นั้น
ได้เข้าไปสั่นสะเทือนความคิดอ่าน อารมณ์ความรู้สึก อุดมการณ์ เป็นความจำที่ประทับลงในผัสสะ
หรืออะไรที่โดนใจและดลใจให้ทำอะไรต่อมา ที่กระตุ้นให้มีพัฒนาการอะไรในตัวเรา (cf. mémoire involontaire : Marcel Proust ). อะไรที่ไม่สนใจ มันก็เลือนหายไป. เราอาจจำนวนิยายที่ทำให้เราร้องไห้ได้ไม่ลืม
แต่ลืมวีรกรรมของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์(โดยเฉพาะเมื่อสอบเสร็จแล้ว).
เมื่อคิดถึงความจำ เราต่างคิดว่า
คือความสามารถในการเก็บบันทึกข้อมูล (เชื่อกันมาตลอดว่าเก็บไว้ในสมอง แต่มีงานวิจัยใหม่ๆให้ข้อมูลใหม่ว่า
อาจไม่ใช่ที่สมอง. พักเรื่องนี้ไปก่อน) ให้มากที่สุดที่จะมากได้ ด้วยความแม่นยำถูกต้องที่สุด
และให้คงอยู่(ในสมอง)นานที่สุดที่เป็นไปได้. เราคิดว่า คนที่มีความจำแบบนี้
เป็นคนสมองใสสมองดี จำเก่ง.
แต่การศึกษาวิจัยในเชิงประสาทชีววิทยาทั้งเรื่องความจำกับเรื่องการลืม
ให้ข้อเท็จจริงที่พลิกความคิดความเชื่อที่เราเคยมีกันมาจนถึงทุกวันนี้.
สองนักวิจัย Paul Frankland et Blake Richards แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา
ได้นำประเด็นเรื่องการ(หลง)ลืม มาพิจารณาควบคู่ไปกับความจำอย่างละเอียดลออทางวิทยาศาสตร์
และลงพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา Neuron (Publisher :
Cell Press). ผลสรุปจากการวิจัย ได้ทุบจนแหลกละเอียดหลักการเดิมๆที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันมา
เกี่ยวกับบทบาทของความทรงจำและความสำคัญของการลืม.
ในงานวิจัยนี้ ความสำคัญไม่ใช่การจำข้อมูลมากๆ
แต่อยู่ที่ว่าข้อมูลที่จำได้นั้น มันช่วยการใช้ชีวิต และโดยเฉพาะการตัดสินใจในแต่ละขณะของชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด.
ในมุมมองนี้ ความจำเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนสติและปัญญา มิใช่เป็นข้อมูลที่เรียงๆเต็มหน้าเต็มเล่มเต็มสมอง
(ที่เป็นข้อมูลแบบ passive
ในนัยที่ตรงข้ามกับ active).
นักวิจัยทั้งสอง ยังได้ย้อนกลับไปพิจารณาการทดลองและงานวิจัยจำนวนมากที่ทำกันไว้และที่พิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้น
ทั้งทางด้านประสาทวิทยา ชีววิทยา และประสาทชีววิทยา และเสนอให้เห็นว่า
ส่วนของสมองที่เรียกว่า hippocampus (ที่เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการจำของคนนั้น) มิได้มีพฤติกรรมดังที่คนคิดและเชื่อกันมา. Paul
Frankland ยืนยันว่า มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งบอกให้รู้ว่า
กลไกที่ทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำนั้น ไม่ใช่กลไกเดียวกับที่สมองใช้เมื่อสะสมข้อมูล. แต่กระบวนการทำงานของสองกลไกนั้นเชื่อมโยงกัน. ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ
ในสมองส่วน hippocampus เท่ากับการกระตุ้นการลืมเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเนอรอนตัวใหม่ๆ
เก็บข้อมูลใหม่ๆ.
สองนักวิจัยได้ยกตัวอย่างพร้อมการวิเคราะห์อย่างละเอียด สรุปสั้นๆได้ว่า สมองลืมรายละเอียดเกร็ดย่อยของห้องหนึ่งหรืออาคารหนึ่ง แต่จำภาพรวมของพื้นที่บริเวณนั้น
สร้างภาพรวมของเขตนั้นที่กว้างขยายออกไป. วิธีนี้เท่ากับพัฒนาเครือข่ายการรับรู้ให้กว้างออกไป.
เหมือนมองโลกในมุมกว้างขึ้น. การลบความจำเก่าๆออกไป สร้างความยืดหยุ่นให้สมอง (ทดลองกับหนูในห้องแล็บอย่างเป็นหลักเป็นฐาน)
สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆเพราะต้องจำสิ่งใหม่ๆ. งานวิจัยของทั้งสอง
ได้เปิดแขนงการศึกษาเรื่อง ประสาทชีววิทยาของการลืม.
การลืม
กลายเป็นกลไกพื้นฐานที่เกี่ยวโยงไปถึงการเกิดเนอรอนตัวใหม่ๆในสมอง. เมื่อเป้าหมายของการมีความทรงจำ
คือ ทำให้บุคคลหนึ่งสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องในบริบทแวดล้อมของแต่ละขณะ จำเป็นต้องลืมข้อมูลบางอย่างเพื่อให้บรรลุศักยภาพที่ต้องการ
เพื่อให้สมองพัฒนาประสิทธิภาพของการตัดสินใจ. เช่นนี้ ความจำและการลืมมีความสำคัญพอๆกันและจำเป็นเพื่อให้สติปัญญารู้จักวินิจฉัยและตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีที่สุด.
การลืมช่วยให้สมองยืดหยุ่น ด้วยการลบอิทธิพลจากข้อมูลล้าสมัยที่ติดอยู่ และป้องกันการยึดติดกับเหตุการณ์จำเพาะเจาะจงในอดีต
เช่นนี้ทำให้คนนั้นมองเหตุการณ์ปัจจุบันในมุมกว้างออกไปจากมุมเดิมๆที่เขาคุ้นชิน. ในมุมมองนี้
ความจำกับการลืมมีความสำคัญเสมอกันในระบบความทรงจำของคน.
สรุปแล้ว การลืมทำให้มีพื้นที่เพื่อบรรจุข้อมูลใหม่.
Francis Eustache นักประสาทจิตวิทยาแห่งสถาบัน
INSERM ได้สรุปสถานะของการวิจัยปัจจุบันว่า « การกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอของเครือข่ายกระทำงานในสมอง
น่าจะเป็นการกระชับหรือตัดเกลียวสายใยวงจรในสมอง ซึ่งคือการกระชับหรือตัดความจำ
(แล้วแต่กรณี). จำเป็นที่ต้องย้ำเจาะจงว่า ยกเว้นคนที่เป็นโรคหรือสมองพิการ การลืมเกี่ยวพันกับสมรรถภาพที่สมบูรณ์ดีของความจำ.»
การศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ทำให้สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต
สรุปว่า เมื่อสมองบริหารความจำกับการลืมเข้าด้วยกันได้อย่างพอเหมาะ
คนนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งทางสติปัญญาและจิตวิญญาณ.
ความยืดหยุ่นเป็นกุญแจของการทรงตัวที่สมดุล
ไม่แข็งทื่อ ทั้งร่างกายและจิตใจ. นึกถึงต้นอ้อที่ลู่ไปตามทิศทางลม เอาตัวรอดได้ในพายุ
แต่ต้นไม้ที่รากไม่หยั่งลึกไปไกลพอ ถูกพายุถอนขึ้นทั้งรากทั้งโคน. การก่อสร้างอาคารตึกรามบ้านช่องทุกตึกในญี่ปุ่น
ต้องสร้างพร้อมกระบวนการวิศวกรรม
ที่ช่วยพยุงทั้งตึกให้โยกเอียงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยไม่ทำให้ตัวอาคารร้าวหรือแตกลงตรงไหน
เช่นนี้ อาคารมิได้ตั้งต้านแรงกระเทือน แต่โอนอ่อนผ่อนตามไปบ้าง
ลดความเสียหายของอาคารบ้านเรือนได้มากที่สุดจนถึงระดับหนึ่ง.
การลืมเหมือนการปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไปให้ผ่านไปเลย
ส่วนการจำข้อมูลใหม่ๆ เป็นการท้าทายสมองมิให้เฉื่อยชาอยู่ในความจำเจ.
เซลล์สมองเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ. การลืมจึงเป็นกระบวนการปกติของคนปกติ.
การมีกิจกรรมใหม่ๆคือการสร้างเซลล์สมองเข้าไปทำหน้าที่พิเศษใหม่ๆ. สมองคนฟิตทำกิจกรรมตลอดเวลา และชอบพเนจร อย่าปล่อยให้มันขี้เกียจ
เหมือนคนไม่มีอะไรทำ ไม่มีเป้าหมาย อยู่ไปวันๆ เรื่อยๆเปื่อยๆ แล้วอืดๆอาดๆ
เหนื่อยหน่าย ในที่สุดสมองเสื่อม หมดสภาพ. สมองฟิตสมองที่คล่องตัว
สังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดเส้นทางสู่ความคิดสร้างสรรค์และหรือการเรียนรู้ใหม่ๆ.
( ผู้สนใจอยากรู้รายละเอียดในงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์อย่างเจาะลึก
เรื่องความจำกับการลืม ติดตามไปอ่านงานวิจัยเรื่อง The Persistence and Transcience of Memory ของ Balke A. Richards และ Paul W. Frankland ตามลิงค์นี้ >>
ในบทความนี้ คำ persistence หมายรวมๆถึงความจำ
ส่วนคำ transcience หมายรวมๆถึง การลืม)
มีกรณีของคนที่มีความจำสมบูรณ์
จำได้ทุกอย่าง ที่จำมาก็ไม่เคยลืม.
ความจำสมบูรณ์เช่นนั้นเมื่อเกินขีดจนกลายเป็นนิสัยถาวร เขาเรียกว่า ไฮเปอ-มเนเซีย (hypermnesia) เป็นโรคจิตแบบหนึ่ง
โรคนี้เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อย. A. R. Luria นักประสาทจิตวิทยาผู้ศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ติดต่อกันมานาน
เล่าตัวอย่างของคนเป็นโรคความจำดีเกินในหนังสือของเขาชื่อ L’esprit d’un mnémoniste (1968). เขาสรุปว่า คนไข้ไม่เคยลืมอะไรที่เขาจำมาเลย ความจำเหนือมนุษย์ของเขา
กลายเป็นความพิการแบบหนึ่งในชีวิตของเขาผู้นั้น. เขาไม่อาจสร้างภาพรวมจากข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
คือรู้แต่เรื่องปลีกย่อย แต่ไม่อาจโยงไปถึงภาพรวม ถึงเนื้อหากว้างขึ้นๆ.
ความจำกลายเป็นขยะสุมกองอยู่ในหัว ทำให้คิดวนเวียนกับสิ่งที่เขาจำได้
และไม่ว่าใครกำลังเล่าเรื่องอะไร หากเผอิญมีชื่อที่คนความจำดีเกิน เคยฟังเคยรู้มาก็จะแทรกเล่าถึงความจำเกี่ยวกับคนนั้น
เหมือนเสริมเชิงอรรถให้ (โดยไม่จำเป็น, โดยไม่มีใครขอให้เล่า
และที่เขารู้ก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นของเรื่องที่อีกคนกำลังเล่าเป็นต้น). ไม่ว่าอะไรเมื่อใด
จะย้อนเอาความจำเดิมๆของเขา ออกมาบอกเล่า หรือโยงไปถึงเรื่องเก่าๆที่เขาจำได้ตลอดเวลา.
มักทำให้เขาชอบพูดมากกว่าฟัง ทำให้เขาไม่มีสมาธิเจาะลึกถึงปัญหาอื่นหรือปัญหาใหม่
เนื้อหาใหม่ๆ จนอาจกลายเป็นคนไม่รับรู้หรือสนใจเรื่องใหม่ๆ ปิดอยู่ในความจำของตัวเองและภูมิใจที่จำอะไรต่ออะไรได้มากมาย.
อาจเหมือนการเคี้ยวเอื้อง ไม่สนใจหาอาหารสมองใหม่ๆ.
สมองคนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในร่างกายคนและในจักรภพ. คนยังเข้าใจไม่ถึงครึ่ง.
การวิจัยใหม่ๆที่ทำกันมาอย่างไม่ลดละในช่วงสิบปีหลัง ให้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆเป็นปริมาณมากกว่าความรู้ที่เคยมีและสืบทอดกันมาตลอดหลายสิบศตวรรษที่ผ่านมา.
เนอรอนส่วนใหญ่มีอยู่แล้วในสมองตั้งแต่เราเกิด
มันเกิดอยู่ในส่วนของสมองที่เป็นศูนย์รวมของสเต็มเซลล์ประสาท.
สเต็มเซลล์ประสาทเหล่านั้น ส่วนใหญ่มีศักยภาพในการสร้างเนอรอนชนิดต่างๆและเซลล์เกลีย (glia
หรือ
glial cells ที่มีจำนวนมากในสมอง เป็นเซลล์ที่ห้อมล้อมประคองเนอรอนและแบ่งแยกเซลล์เนอรอนออกเป็นเอกเทศ).
การศึกษาเรื่องสเต็มเซลล์ยังนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีการทดลองเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ในห้องแล็บเรื่อยมา
และได้ให้ข้อสรุปใหม่ๆออกมา. ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งคือ สเต็มเซลล์เพาะเลี้ยงได้ แต่จะให้ได้สเต็มเซลล์ที่มีประสิทธิภาพเต็มนั้น
ขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูก, เหมือนปลูกต้นไม้ในดินต่างชนิดกันเช่นดินทราย
ดินเหนียว ดินร่วนซุยฯลฯ ต้นไม้ที่ปลูกเจริญไม่เท่ากัน. สเต็มเซลล์ปลูกขึ้นงามเมื่ออยู่ในพื้นที่ “อ่อนโยน” ที่แนะให้คิดว่า หากปรับพื้นที่แห้งเหี่ยว ที่แข็งตัวในสมอง(อันเกิดจากความชรา)
ให้เป็นพื้นที่อ่อนนุ่มน่าอยู่
สเต็มเซลล์ก็เจริญเบิกบานและสร้างเนอรอนใหม่ๆได้ต่อไปอีก.
ที่น่ายินดียิ่งคือ งานวิจัยปัจจุบันยืนยันว่า
เนอรอน (neurogenesis) เกิดใหม่ได้ตลอดอายุขัยของคน. เนอรอนสมองโดยเฉพาะอยู่ติดตัวเราตลอดชีวิต
เมื่อเนอรอนตาย ไม่มีเนอรอนใหม่เข้าแทนที่ตัวเก่า แต่สมองสร้างเนอรอนใหม่ๆขึ้นได้แบบเฉพาะกิจ.
นักประสาทวิทยาจึงแนะนำการกระตุ้นให้สมองทำงาน ให้สร้างเนอรอนตัวใหม่ๆเสมอๆ (แทนการไปยึดติดกับเนอรอนตัวเก่าๆที่จักสลายลงไปเรื่อยๆ)
สมองก็คล่องแคล่วฉับไวเหมือนหนุ่มสาว.
ส่วนตัวมีอะไรคาค้างใจอยู่ข้อหนึ่ง
คืองานวิเคราะห์วิจัยในแขนงประสาทชีววิทยา (และในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆอีกมาก รวมทั้งการแพทย์)
หยุดอยู่ที่เป้าหมาย เช่นหยุดอยู่ที่การศึกษาเซลล์ประสาท โดยไม่โยงไปถึง “ระบบนิเวศฉบับส่วนตัวที่เป็นฉบับจิ๋ว”
ที่เป็นที่เกิด ที่ตั้งและที่สลายลงของเซลล์ประสาทเหล่านั้น. เหมือนเราศึกษาวิเคราะห์ผลแอปเปิลที่เราปลูกในสวน
ว่ามันมีรสชาติอย่างไร ดอกผลิเมื่อไร มันหอมกว่าผลอื่นไหม มีแมลงมากัดแทะที่ไหน
ฯลฯ โดยไม่เคยสนใจว่า ดินที่ต้นแอปเปิลขึ้นอยู่นั้น เป็นอย่างไร, มีชั้นดินแบบไหน,
รากไปถึงไหน, ใต้ดินลึกๆลงไปมีสารอาหารอะไรฯลฯ. ในกรณีของสมอง นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอวัยวะที่เรียกว่า
สมอง เปลือกสมอง ส่วนต่างๆของสมองเป็นต้น ดูเหมือนยังไม่มีใครจับประเด็นพื้นที่ที่สมองตั้งอยู่
ขึ้นมาพิจารณาควบคู่กันไป ว่าน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองอยู่ 75% นั้นไม่มีบทบาทใดๆหรือในกระบวนการทำงานของเซลล์ประสาท.
ดูเหมือนว่า กระบวนการวิเคราะห์ตามหลักการของควอนตัมฟิสิกส์ยังถูกละเลย.
ที่เขียนสรุปย่อๆมานี้
ผู้สรุปหวังให้โอกาสสมองสร้างเนอรอนตัวใหม่ๆ
ส่วนผู้อ่านที่ตั้งใจอ่านก็ให้โอกาสสมองสร้างเนอรอนใหม่ๆเช่นกัน.
มาถึงจุดนี้ คงเข้าใจแล้วว่า
Forget to remember คือ forget
in order to remember
Forget what in order to remember
what?
ลืมข้อมูลเก่าๆที่ไม่สำคัญ
เพื่อจำข้อมูลใหม่ๆ
àหาข้อมูลดีๆใหม่ๆ เลี้ยงดูเนอรอนซะนะ
แล้ว who forgets ? ใครเลือกจำ ใครรู้จักลืม?
We, I, everyone ? ตัวฉันหรือ
Neurons ต่างหากที่บริหารจัดการตัวฉัน
แล้ว who am
I ?
ฉันอยากจำก็ไม่ได้ อยากลืมก็ไม่ได้
เพราะความจำไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยากของฉัน
ฉันจะหาตัวฉันได้ที่ไหนล่ะ ฉันคือเนอรอนตัวไหนหรือ
who am I ?
โชติรส รายงาน
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒.
No comments:
Post a Comment