Saturday, September 21, 2019

The wonder that is Evelyn Glennie

บทเรียนจากนักดนตรีหูหนวก คุณหญิง เอฟลีน เกล็นนี
       เมื่อฉันอายุแปดขวบ หูฉันเริ่มฟังอะไรไม่ได้ยิน เมื่อฉันอายุสิบสอง โสตแพทย์วินิจฉัยว่า ฉันเป็นคนหูหนวกสนิท. ตอนนั้น ฉันไม่ตระหนักนักว่า เรื่องหูจะเปลี่ยนชีวิตฉันได้อย่างมหันต์.
       ฉันยืนกรานจะเข้าเรียนตามระบบการศึกษาสำหรับเด็กทั่วไปในสหราชอาณาจักร และไม่ยอมไปโรงเรียนสอนคนหูหนวกโดยเฉพาะ. ตอนนั้น ฉันเริ่มเรียนเปียโน แล้วจึงต่อไปเรียนการตีกลอง.  ฉันจำได้ว่า วันแรก ครูให้กลองฉันหนึ่งใบ บอกให้ฉันเอากลับบ้าน แล้วไปพบครูสัปดาห์ต่อไป. (มันเป็นกลองที่ด้านข้างขึงด้วยเชือกเกลียวหรือสายลวด ที่เรียกว่า snare drum). ฉันไม่รู้ว่าฉันจะทำอะไรกับกลอง  ฉันเติบโตมากับเพลงพื้นเมืองของชาวสก็อต และฉันก็รู้ว่าดนตรีมีพลังและส่งผลกระทบต่อคน. ฉันวางกลองใบนั้นบนเตียงนอน กำมือทุบลงไปที่ผิวหน้า แล้วก็ลองเคาะ กำหมัดชกมัน ขูดหน้ากลอง เกามันเป็นต้น. ต่อมาเมื่อฉันเอากลองไปวางในที่ต่างๆ เช่น บนโต๊ะในครัว บนสนาม บนมัดฟาง เสียงกลองสะท้อนต่างกัน. ฉันได้สัมผัสความแตกต่างนั้น. เสียงที่ฉันได้ยิน บางครั้งเหมือนเสียงสำลัก บางครั้งเป็นเสียงเปิดและก้อง บางครั้งเสียงบางๆ บางครั้งเสียงท้วมๆ. ร่างกายฉันได้สัมผัสความแตกต่างของการสั่นในความถี่ระดับต่างๆกัน.
        คนไม่เคยหยุดสำรวจความสลับซับซ้อนของระบบประสาทและกลไกของอวัยวะของร่างกาย. ทุกวัน เราค้นพบกระบวนการของชีวิตที่ธำรงการอยู่รอดของเราในสภาวะการณ์ที่เอื้ออำนวยและในสภาวะการณ์ที่หฤโหดแบบต่างๆ. ในฐานะผู้ที่พิการทางการฟัง ฉันยืนยันและเป็นพยานได้เลยว่า ประสาทสัมผัสของเราประกอบด้วยประสาทสัมผัสย่อยๆอีกหลายชั้นหลายระดับ.
       โดยทั่วไป เมื่อเห็นเป็นเด็กหูหนวก ทุกคนก็อนุมานว่าหูพิการสนิท.  Ron Forbes ครูกลองของฉัน ไม่สนใจไต่ถามรายละเอียดของสภาพหูหนวกของฉัน เพื่อมิให้มันส่งอิทธิพลต่อวิธีสอนดนตรีของเขา. ฉันจึงเรียนการฟังเสียง ให้เสียงผ่านไปตามร่างกายของฉันแทนการฟังผ่านหู. ฉันฟังด้วยมือ แขน โหนกแก้ม หนังศีรษะ ท้อง อก ขาเป็นต้น. ด้วยวิธีการนี้ ฉันเกิดความมั่นใจมากขึ้นๆ จนเพียงพอที่จะเลิกใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง.  มันทำให้ฉันสัมผัสเสียงใสกว่า เปิดโลกของเสียง ที่ใหม่สำหรับฉัน. ครูกลองของฉัน ได้ฝึกให้ฉันพัฒนาความละเอียดในการจับเสียงสั่นในความถี่ต่างๆ.  
         มันช่างมหัศจรรย์ เมื่อฉันเปิดร่างกายของฉันออกรับเสียง แผ่ฝ่ามือออกกว้าง ฉันรับคลื่นความถี่ต่างๆได้ไม่ว่าจะเป็นความสั่นสะเทือนเล็กๆน้อยๆเพียงใด ฉันรับรู้ได้หมด. ฉันกางมือไปแตะผนังกำแพงห้องดนตรี และฉันฟังดนตรีพร้อมๆกับมือฉัน ฟังเสียงจากเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ และเชื่อมโยงกับส่วนของร่างกายที่รู้สึกเสียงนั้น. ขาและเท้าของฉันจับเสียงต่ำๆเป็นส่วนใหญ่  หน้า, คอและอกเป็นส่วนรับรู้เสียงสูงๆ. และเมื่อฉันตั้งสติไปจับความรู้สึกของร่างกายฉัน ฉันได้สัมผัสโครงสร้าง พลังมากน้อยของเสียงและเนื้ออารมณ์ของโน้ตตัวต่างๆ.  ระดับเสียงที่แตกต่างกัน(แม้เพียงเล็กน้อย) จากกลองใหญ่ กลองเล็กหรือกลองขนาดใด ให้เสียงให้สีต่างกัน. นั่นเป็นกุญแจไขความลับสุดยอดที่ฉันเข้าใจตั้งแต่นั้น  ฉันอยากร้องตะโกนสุดเสียงว่า ยูเรก้า (Eureka!).  ตั้งแต่นาทีนั้นเป็นต้นมา ฉันรู้ว่าฉันจะสร้าง ประสมประสานเสียงของฉันเองได้ จากประสบการณ์ล้วนๆของร่างกายฉันเองและจากตัวตนของฉัน (เธอเป็นนักประพันธ์ดนตรีด้วยในที่สุด).  ฉันคิดว่า แต่ละคนมีเสียงเป็นสีเล็กๆส่วนตัว ที่สร้างบุคลิกภาพเฉพาะคน อุปนิสัยและความสนใจของแต่ละคน. แต่ละคนจึงมีเสียงเฉพาะ ที่เป็นสีเฉพาะของเขาด้วย.
           ทักษะด้านการรับรู้เสียงของฉัน พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ฉันอาจหยิบก้อนหินสักก้อน กิ่งไม้หรืออะไรก็ได้ แล้วเล่นกับวัตถุนั้น หากฉันสัมผัสเสียงน่าสนใจแบบใดขึ้นมา ฉันชอบใจมาก. ในแง่นี้ ฉันเชื่อว่า นักดนตรี percussionist  มีวิญญาณของเด็กแฝงอยู่ในตัวเสมอ. นักดนตรีประเภทนี้ มักคิดนอกกรอบ และชอบสรรหาวัสดุอื่นๆเพื่อหาเสียงใหม่เสียงอื่นต่อไป. ฉันเคยเคาะเสียงเครื่องใช้ในครัว และได้สัมผัสคุณภาพเสียงแบบต่างๆจากหม้อไหจานชาม ที่ทำจากโลหะ แก้ว เซรามิค ไม้เป็นต้น. ในที่สุด เครื่องใช้ในครัว กลายเป็นเครื่องดนตรีของฉันด้วย. 
 
ห้องเครื่องดนตรีทั้งหลายของ Evelyn Glennie ที่บ้าน
ภาพจาก theguardian.com
ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัว อีกมุมหนึ่งในห้องดนตรีที่บ้าน 
      นอกจากการได้ยินเสียงและการรับรู้ความสั่น ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งที่สำคัญมากพอๆกัน คือ การมองเห็น. ทุกคนเห็นวัตถุเคลื่อนไหวและสั่นสะเทือนได้ด้วยตาเปล่า. ในทำนองเดียวกัน ฉันเห็นหน้ากลอง (drumhead) หรือ ซิมบัล (cymbals เครื่องดนตรีประเภทฉิ่งฉาบ) สั่นสะเทือน เหมือนเห็นใบไม้บนต้นไม้หนึ่ง สั่นไหวในสายลม. เมื่อตาเห็น สมองสร้างเสียงที่สอดคล้องกับความสั่นอย่างอัตโนมัติ.  สิ่งเดียวที่ฉันทำ คือฟัง. คนหูดีก็ไม่รู้อะไรมากไปกว่าคนหูหนวกในเรื่องที่สมองสร้างเป็นภาพเสียงด้วยกลไกอัตโนมัติอย่างไร ซับซ้อนเพียงใด  สิ่งเดียวที่ทุกคนทำได้ คือ ฟัง.  
         ใครจะยืนยันได้ว่า เมื่อคนหูปกติสองคน ฟังเสียงหนึ่งเสียงเดียวกัน เขาได้ยินเสียงนั้น เหมือนกันทุกประการจริงๆ.  ฉันเองคิดว่า การได้ยินของแต่ละคน แตกต่างกัน. แต่ละคนมีกระบวนการรับรู้เสียงเฉพาะตัวที่น่าจะไม่เหมือนกัน. ในกรณีของฉัน หากไม่มีเสียงแทรกซ้อนอื่นๆ ฉันได้ยินเสียงคนพูด แต่ไม่เข้าใจความหมาย ฉันต้องอ่านริมฝีปากของคนพูดด้วย.  กรณีของฉัน ปริมาตรความดังของเสียงลดลง แต่ที่สำคัญกว่าความดังคือคุณภาพเสียงที่แย่มาก เช่นเสียงกริ่งโทรศัพท์ ฉันได้ยินเป็นเสียงแคร็กๆ. แต่การตระหนักรู้ด้านอะคูสติกส์ในคอนเสิร์ทนั้น ฉันสัมผัสรับรู้ได้เต็มร้อย (ในการแสดงดนตรีของเธอ เธอไม่สวมรองเท้าบนเวที เพื่อให้เท้าสัมผัสเสียงสั่น).
เครื่องดนตรีของ Evelyn Glennie พร้อมสำหรับการแสดง
ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัว  
        คนทั่วไปเข้าใจสภาพหูหนวกเพียงผิวเผิน และคิดว่า คนหูหนวกอยู่ในโลกที่เงียบสนิท. นั่นไม่จริงเลย เป็นความคิดผิดๆที่ฉันพยายามจะเปลี่ยน. การฟังกับการได้ยิน แท้จริงแล้วเป็นรูปแบบพิเศษแบบหนึ่งของการสัมผัส. เสียงคืออากาศที่สั่นและหูเก็บความสั่นนั้นเข้าไป แล้วแปลงความสั่นเป็นสัญญาณไฟฟ้า และสมองแปลสัญญาณไฟฟ้านั้น ให้เป็นความหมายที่สะท้อนสภาวะของโลกรอบข้างคน(ในประสบการณ์ของคนๆนั้น).
         หูมิใช่เป็นประสาทเดียวที่ทำหน้าที่ฟัง  การสัมผัสก็ทำหน้าที่ฟังได้เช่นกัน.  ถ้าเรายืนอยู่ริมถนนและมีรถบรรทุกคันใหญ่ผ่านหน้าเราไป  คนปกติได้ยินและรู้สึกแรงสั่นในอากาศด้วยหรือมิใช่.  เมื่อความถี่ของเสียงอยู่ในระดับต่ำมาก หูคนจับเสียงไม่ได้ ส่วนอื่นๆของร่างกายจะทำหน้าที่รับรู้เสียงแทน. บ่อยๆที่ฉันพรรณนาเสียงด้วยการเปรียบกับความหนาบางมากน้อยของอากาศ. เช่นนั้น ทำไมจึงต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างการฟังกับการสัมผัสเสียง(สั่น) ในเมื่อความจริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน.
          ความอยากรู้ของคน เป็นประเด็นที่กลายเป็นเสาหลักในชีวิตของฉันในที่สุด. เพราะความอยากรู้ ที่นำฉันทดลองศึกษาเพื่อทำความรู้จักกับเสียงด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่ใช้หู. ร่างกายฉันคือหูยักษ์ของฉัน. เช่นนี้ ความฝันและความหวังอยากเป็นนักดนตรี จึงเป็นไปได้ในที่สุด.
           ฉันเชื่อว่า คนหูหนวกแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะต่างประสบการณ์ ต่างอุปนิสัยหรือความคิดอ่าน. อีกประการหนึ่ง ไม่จำเป็นที่คนอื่นต้องพิการอย่างฉัน เพื่อเข้าใจดนตรีของฉัน หรือเพื่อสื่อสารระหว่างกัน. แต่ละวันเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกทักษะของเราและฟังซึ่งกันและกัน. การเรียนฟังเสียงจากเครื่องดนตรีประเภทตีและเคาะแบบต่างๆ ยืดความอยากรู้ของฉันออกไปๆ. บ่อยๆที่ฉันนึกย้อนกลับไปยังบทเรียนบทแรกๆในวัยเด็ก และคิดหาสิ่งใหม่ๆที่ฉันยังอาจสกัดได้จากเครื่องดนตรีชิ้นแรกของฉัน (snare drum). ฉันไม่เคยเบื่อที่จะลอง ทดลอง จับการสัมผัสเสียงแบบอื่นๆ มันเป็นกิจกรรมที่แสนวิเศษของฉัน มันเหมือนชุบฉันให้เป็นนักดนตรีคนใหม่ทุกวัน.
           การแสดงของฉัน จึงตั้งอยู่บนประสบการณ์ล้วนๆส่วนตัวที่ฉันมีกับเสียง มิใช่จากการเรียนดนตรีหรือการติดตามฟังดนตรีบทนั้น ที่นักดนตรีคนอื่นได้ถ่ายทอดจากประสบการณ์ของเขากับดนตรีนั้น.  หากฉันหยุดอยู่แค่นั้น ฉันก็ไม่ได้เนื้อแท้ดิบๆที่ฉันต้องการจากดนตรีนั้น เหมือนไม่ได้เข้าไปสัมผัสแก่นแท้ของดนตรีนั้น.  ฉันจำต้องมีประสบการณ์ของฉันเอง สัมผัสการฟังและการได้ยินด้วยทุกส่วนของร่างกายฉันเอง.  เช่นนี้ ฉันต้องการเวลาเพื่อทำความรู้จักกับเครื่องดนตรี ต้องการเวลาเมื่อสัมผัสดนตรีใหม่ครั้งแรก  เหมือนต้องการเวลาเพื่อรู้จักคน เพื่อที่ฉันจะถ่ายทอดความพิเศษหรืออัตลักษณ์ของเครื่องดนตรีชิ้นนั้น หรือวิพากษ์วิจารณ์ดนตรีชิ้นใหม่นั้น.  ฉันไม่ต้องการแปลโน้ตเพลงแบบผู้ชำนาญการอ่านดนตรี ในฐานะของนักเล่นกลอง ฉันต้องการดึงศักยภาพของกลองใบนั้นออกมาและถ่ายทอดผ่านดนตรีบทหนึ่งเป็นต้น. สมบัติที่ดีอย่างหนึ่งของการเป็นนักดนตรีคือ ความเป็นสิ่งลื่นไหลที่เหลือเชื่อ ฉันต้องไม่ตรึงตัวเองอยู่กับกรอบใด. แต่ฉันก็รู้ว่า การเปิดใจตัวเองนั้น สำคัญอย่างยิ่ง เท่ากับเปิดรับข้อมูลต่างๆ เท่ากับเปิดโอกาส เปิดทางเลือกด้วย ที่นำไปสู่การตัดสินใจ สร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัว. ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ของความเป็นคน ของนักดนตรี.

ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัว

           นอกจากนี้ สถานที่แต่ละแห่งที่ไปแสดงดนตรีก็ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกต่อสถานที่ก็ต่างกัน หมายถึงเสียงสะท้อนที่ฉันสัมผัสในสถานที่แต่ละแห่ง ไม่เหมือนกัน. ฉันต้องตั้งใจฟังร่างกายฉันและรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่นั่นตรงนั้น. หากฉันหงุดหงิด ก็ต้องยอมรับว่าฉันหงุดหงิด. หากฉันรู้สึกไม่อยากไป ฉันก็ไม่ไป. ฉันยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ. จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ฉันรู้ว่าทันทีที่ฉันเดินขึ้นไปบนเวที และสัมผัสการมารวมกันของผู้ชมในสถานที่นั้น เหมือนมีผู้สับสวิชเปิดไฟสว่างขึ้น ฉันจดจ่ออยู่กับการแสดง ขณะนั้นเดี๋ยวนั้นเท่านั้น และทำดีที่สุดบนเวที. นั่นเป็นสิ่งที่ฉันทำ  ถ้าฉันมัวไปคิดเรื่องพิธีการอะไรอื่นใด เท่ากับฉันปล่อยให้เรื่องไม่สำคัญทั้งหลาย เล่นงานฉัน แทนการเล่นดนตรี. นักดนตรีบางคน นั่งสมาธิหรือฝึกโยคะก่อนการแสดง หรือต้องหยุดกินหยุดดื่มอาหารบางชนิด หรืออาจต้องการอะไรมาเสริมความรู้สึกก่อนการแสดง.
           ตัวอย่างสุดโต่งตัวอย่างหนึ่ง ที่สภาพแวดล้อมรอบๆตัวฉัน ส่งผลกระทบต่อการแสดงของฉัน. ขณะถ่ายทำภาพยนต์ Touch the Sound (สัมผัสเสียง) ผู้กำกับขอให้ฉันรัวกลอง (snare drum) ในสถานีรถไฟ Grand Central Station ที่กรุงนิวยอร์ค  ฉันยอมรับว่าขอบเขตร่างกายของฉันถูกผลักไกลออกไปจากพื้นที่คุ้นชินที่ฉันเคยเล่นดนตรีอย่างสบายใจ. การแสดงที่นั่นในหมู่คนสัญจรไปมา  เป็นสถานการณ์ผิดธรรมดาที่สุดสำหรับฉัน และยังให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้แบบต่างๆที่ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อน.  อีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อฉันแสดงดนตรีกับ Fred Frith ในโรงงานร้างโกโรโกโส (ที่เคยเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล) หลังคารั่ว กำแพงเหมือนจะพังทลายลงในนาทีใดนาทีหนึ่ง. ประสบการณ์ครั้งนั้น มีอะไรพิเศษที่เราสองคนได้สัมผัส และเราก็สนุกสนานมาก. บ่อยครั้งที่นักดนตรี percussionist ถูกขอให้ทำอะไรผิดไปจากปกติ และเราก็ทำให้ได้ด้วยความคุ้นชิน เช่น ซ้อมกันมาในตอนเช้าเรียบร้อย เมื่อจะแสดง กลับถูกขอให้เพิ่มเสียงประกอบเข้าไป เพื่อให้ดนตรีเร้าใจขึ้นอีก ซึ่งก็มีหลายวิธีที่เราทำได้ทันที.
ภาพจากเว็บเพจ
https://www.kingsplace.co.uk/whats-on/classical/o-modernt-chamber-orchestra-evelyn-glennie/
         ในกรณีอื่นๆ ฉันต้องหาทางออกเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินหรือการฟังดนตรี แต่นักดนตรีทุกคนต่างก็มีปัญหาแบบเดียวกัน. คนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้นักเรื่องการได้ยินหรือการฟัง ทั้งๆที่ทุกขณะทุกวินาทีของชีวิต คนได้ยินอะไรตลอดเวลา.  เช่นเดียวกัน ฉันไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับสภาพหูหนวก และฉันก็ไม่สนใจมันนัก.  สรุปแล้ว การฟังไม่ได้ของฉัน ดูเหมือนรบกวนคนอื่นๆมากกว่าตัวฉันเอง. สำหรับฉัน การที่ฉันหูหนวก ไม่มีความสำคัญมากไปกว่าการที่ฉันเป็นผู้หญิงหรือการมีตาสีน้ำตาล.
          นักข่าวเกือบทุกคนซักไซ้ไล่เรียงฉันเสมอว่า ฉันเป็นนักดนตรีได้อย่างไรในเมื่อหูไม่ได้ยิน หรือฉันประพันธ์ เรียบเรียงเสียงต่างๆให้เป็นดนตรีบทหนึ่งได้อย่างไร. ฉันจำได้ว่า ครั้งหนึ่งฉันรู้สึกหงุดหงิด เอือมระอามาก ฉันตอบไปห้วนๆว่า ถ้าคุณต้องการรู้หรือเข้าใจสภาพหูหนวก คุณต้องไปสัมภาษณ์โสตแพทย์. ฉันชำนาญเรื่องดนตรี.
          ดนตรีเป็นตัวแทนของชีวิต  ดนตรีบทหนึ่งอาจพรรณนาชีวิตจริง นิยาย หรือฉากใดฉากหนึ่งในประสบการณ์หรือจินตนาการของคน. หน้าที่ของนักดนตรีคือการวาดภาพชีวิตด้วยเสียง ใช้เสียงสื่อสารกับผู้ชมผู้ฟัง เสียงที่เขาเองหรือผู้ประพันธ์ดนตรีบทนั้น รังสรรค์ขึ้นจากความในใจ ความเข้าใจของเขา. ฉันหวังว่าผู้ชมจะได้สัมผัสภาพแบบนั้นเมื่อดูการแสดงจบ และรู้สึกพอใจกับการแสดง  แทนการหมกมุ่นครุ่นคิดว่า นักดนตรีหูหนวกอย่างฉันเล่นดนตรีหรือประพันธ์ดนตรีได้อย่างไร.  ส่วนตัวฉัน ไม่เคยบอกให้เจาะจงในโปสเตอร์รายการแสดงของฉันว่า นักดนตรีคนนี้หูหนวก. โชคดีหรือหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ การเป็นนักดนตรีหูหนวก เป็นพาดหัวข่าวที่เรียกความสนใจได้มากทีเดียว.
เครดิตภาพ Philipp Rathmer
จากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัว
         ความคิดว่าชีวิตคือการเดินทาง สำคัญสำหรับฉัน. บนเส้นทางเดิน เราเรียนรู้ ค้นพบ สั่งสมประสบการณ์ใหม่ๆที่มีคุณค่ายิ่ง. เส้นทางเดินของทุกคน ต่างต้องผ่านอุปสรรค เพียรฟันฝ่าไม่ลดละ และด้วยความเมตตาช่วยเหลือของคนจำนวนมาก ทั้งครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงาน ผู้ชม. ความสำเร็จของฉัน หรือรางวัลที่ฉันได้ (ดังในคำปราศรัยของเธอในวันรับพระราชทาน Polar Music Prize ปี 2015 ที่กรุงสต็อกโฮม) เป็นสัญลักษณ์ของจิตสำนึกที่รู้คุณต่อคนทั้งหมดนี้ และเป็นนิมิตหมายของพลังของการฟังและศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายที่มีในตัวเราทุกคน. 
        เดี๋ยวนี้ เมื่อฉันเล่นดนตรี ฉันจับเสียงสั่นด้วยการยืนเท้าเปล่าบนเวที  ฉันเป็นนักดนตรีเพอคัชเฉอะนิสต์แสดงเดี่ยวบนเวทีนานาชาติ (ในแวดวงดนตรีทั้งในสหราชอาณาจักรหรือในโลก Evelyn Glennie เป็น The World’s Premier Solo Percussionist.  เธอเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีประเภทตีหรือเคาะ เช่น timpani, drums, xylophone or marimba. นอกจากเครื่องดนตรีเหล่านี้ เธอยังสร้างดนตรีจากวัสดุ จากอุปกรณ์สารพัดแบบตามจินตนาการทั้งกว้างและไกลของเธอ) และฉันได้รางวัลแกรมมีหลายรางวัล และรางวัลอื่นๆอีกจำนวนมาก รวมทั้งรางวัลดนตรีระดับโลก Polar Music Prize จากพระหัตถ์ของพระเจ้า Carl XVI Gustaf ณกรุงสต็อกโฮมประเทศสวีเดนในปี 2015. ฉันได้ร่วมเล่นดนตรีกับวงดนตรีชั้นนำของโลก. นักประพันธ์ดนตรีที่มีความสามารถสูง ได้ประพันธ์ดนตรีให้ฉันเล่นอย่างเฉพาะเจาะจง. ฉันสนุกกับประสบการณ์ดนตรีต่างๆตลอดมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และร่วมกับกลุ่มผู้โปรโหมดดนตรีเพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการแสดงเดี่ยวด้านกลอง สร้างโอกาสให้นักดนตรีด้านนี้ ขึ้นเป็นนักดนตรีอาชีพ ที่จักสืบสานต่อไปสู่คนอื่นๆ.
       ฟังดูขัดแย้งกันมาก แต่ฉันยืนยันว่า การสูญเสียสมรรถภาพการฟังกับการได้ยินของฉัน กลับทำให้ฉันเป็นคนฟังที่ดีขึ้น สร้างฉันให้เป็นนักดนตรี และนำฉันออกไป “ดูโลก”... ฉันเข้าใจโลก เข้าใจคนและเข้าใจชีวิตมากขึ้น...
ลิขสิทธิ์ภาพของ James Wilson & Evelyn Glennie.
        
         เมื่อราชสถาบันดนตรีที่กรุงลอนดอน (Royal Academy of Music, London) ตัดสินใจรับฉันเข้าศึกษาที่นั่น เป็นนักศึกษาดนตรีเต็มตัวเสมอคนอื่นๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสถาบันดนตรีทั้งหลายในสหราชอาณาจักรด้วย.  นั่นคือ สถาบันดนตรีจะปฏิเสธไม่พิจารณาใบสมัครของผู้ใดก็ตาม บนฐานความบกพร่องทางกายภาพแบบใดก็ตาม ไม่ได้ ตราบใดที่คนทุพพลภาพนั้น ยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีอะไรสักอย่าง  และกรรมการต้องฟังผู้สมัครทุกคน ต้องให้เขาแสดงความสามารถของเขา และพิจารณาจากความสามารถทางดนตรีของเขาเท่านั้น ว่าสมควรจะได้เข้าหรือไม่ในสถาบันดนตรีนั้น.  ตั้งแต่นั้นมา มีนักเรียนจำนวนมากผู้พิการทางใดทางหนึ่ง ที่ได้เข้าเรียนในสถาบันดนตรีต่างๆ และฉันบอกได้เลยว่า นักเรียนจำนวนมากกลายเป็นนักดนตรีอาชีพในวงดนตรีระดับชาติและนานาชาติ.  นี่เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน ในเมื่อทุกคนเชื่อมต่อติดกับเสียง เรารู้กันดีว่า ดนตรีเป็นยาประจำวันของเรา.
          หากฉันพูดว่า ดนตรี ฉันหมายถึง เสียง. ที่ต้องตระหนักรู้คือ เมื่อคนพิการแบบใดแบบหนึ่ง ไปอยู่ใกล้เครื่องดนตรี หรือแม้เพียงไปนอนใต้เครื่องระนาดฝรั่ง (marimba ดูตัวอย่างจากภาพข้างบนนี้ หรือ native xylophone)  เขาอาจสัมผัสเสียงดนตรีนั้นได้จากมุมที่คนอื่นๆ หรือนักดนตรีคนอื่นใด ไม่เคยได้สัมผัสหรือคิดไม่ถึง  เช่นเสียงก้องสะท้อนจากด้านล่างของเครื่องดนตรี.  เหมือนคนนั่งแถวหน้ากับคนนั่งแถวหลังในโรงละคร รับรู้เสียงไม่เหมือนกันทีเดียวมิใช่หรือ.  แต่ละคนเข้าร่วมกับเสียงดนตรี หรือแม้เสียงรอบข้างรอบตัว ไม่เหมือนกัน.  ดังนั้นการให้โอกาสคนหูหนวกเข้าถึงเสียง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนอุดมการณ์และระบบการเรียนการสอนดนตรีในสถาบันดนตรีต่างๆ และในสถาบันสำหรับคนหูหนวกโดยเฉพาะ ว่าต้องไม่หยุดอยู่ที่การใช้เสียงบำบัดเท่านั้น  แต่ให้โอกาสพวกเขาเป็นคนร่วมในการเสกสรรค์ดนตรีด้วย.  ฉันอยากจะบอกเพียงว่า การพัฒนาสมรรถนะในการฟังกับการได้ยินของเราทุกคน (พิการหรือไม่) สำคัญกว่าที่เราคิดมากนัก.  ขอให้ปล่อยร่างกายทุกส่วนของเรา ให้เป็นเหมือนห้องสะท้อนเสียง.  นั่นน่าจะเป็นวิธีการฟังดนตรีที่ดีที่สุด.



โลโก้ส่วนตัวของ Evelyn Glennie ระบุพันธกิจที่เธอมุ่งมั่นทำเพื่อสังคม
ภาพจากเว็บเพจ https://www.evelyn.co.uk/
        วันนี้ ฉันมาหยุดตรงจุดที่ฉันเองจะเป็นผู้สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ และฉันก็จักสานต่อพันธกิจที่ฉันให้กับตัวเอง ว่า ฉันจะใช้ประสบการณ์ชีวิตของฉัน สอนโลกให้รู้จักฟัง. ฉันเชื่อว่า การรู้จักฟังที่ถูกต้อง จักเชื่อมทุกผู้ทุกนามจากทุกวัฒนธรรมเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น ในความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในความเข้าใจโลกที่เราอยู่ด้วย.  ฉันพร้อมที่จะช่วยและดลใจคนอื่นๆต่อไป เปิดโลกใหม่ โลกของความเป็นไปได้ใหม่ๆแก่คนอื่น (ผู้พิการทางการฟัง ทางการมองเห็นหรือใครก็ตาม) ให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ เหมือนที่คนอื่นได้ช่วยฉันมา.

ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ Evelyn Glennie
Evelyn Glennie ผู้อุปถัมภ์สมาคม The Elizabethan Foundation ที่เป็นองค์การกุศลแห่งชาติแห่งหนึ่ง ตั้งขึ้นในปี 1981 สอนทารกและเด็กเล็กก่อนวัยโรงเรียนให้รู้จักฟังและพูด ส่งเสริมค้ำจุนครอบครัวที่พบว่าลูกน้อยหนูหนวก. ปัจจุบันมี 83 ครอบครัวจากเก้าประเทศที่มาเข้าการอบรมในโปรแกรม Outstanding Ofsted-rated specialist education programmes ที่จังหวัด Hampshire. (สอนความพร้อมให้พ่อแม่ที่มีลูกหูหนวก ยืนยันความสำคัญของครอบครัวที่จักนำทางเด็กพิการสู่การพัฒนาเติบโตอย่างมีสมรรถภาพและด้วยความมั่นใจ)
       ฉันรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว(และทุกคนก็ยอมรับกันแล้ว) ว่า สิ่งมีชีวิตอื่นๆเช่นหมา แมว ต่างก็มีความรู้สึกด้วยกันทั้งนั้น. การมีความเห็นอกเห็นใจ การมีสำนึกเกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนวิสัยทัศน์และปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ. ฉันถามตัวเองเสมอมาว่า อะไรทำให้เราเป็นคน. ฉันอยากสรุปว่า การเห็นอกเห็นใจคนอื่น, ความอดทนอดกลั้น, การเข้าร่วมกับคนอื่นๆ, ในขณะที่รักษ์ความเป็นตัวของตัวเอง ก็เปิดใจทำความรู้จักกับวัฒนธรรมอื่นๆด้วย. ทั้งหมดรวมกัน เป็นการฟังสังคม. และสำหรับฉันโดยเฉพาะ การฟัง เป็นสิ่งจำเป็นเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้เราเป็นคน.
        เอฟลีน เกล็นนี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Dame Commander (DBE) หรือสั้นๆว่า เดม จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สองในปี 2007  คำนี้อาจแปลเทียบว่า ท่านผู้หญิง หรือ คุณหญิง ใช้นำหน้านามชื่อ. เธอได้บริจาคเงินช่วยเหลือศูนย์ตาและหูของโรงพยาบาล Great Ormond Street Hospital ร่วมกับเครือ Premier Inn และตั้งมูลนิธิเพื่อหารายได้ช่วยเหลือต่อมาจนทุกวันนี้. ศูนย์นั้นห้บริการทางการแพทย์สำหรับเด็กที่พิการทางสายตาและหู ศูนย์แรกในสหราชอาณาจักร. เธอยังเป็นผู้อุปถัมภ์องค์การกุศลอื่นๆอีกด้วย.

สตรีผู้นี้ ได้สัมผัสเสียงในทุกระดับทุกมิติด้วยตัวเธอเอง
เธอเป็นความสว่างดุจแสงเดือนเพ็ญในความมืด
เป็นประกายระยิบระยับในความสว่าง

ภาพคุณหญิงกับคุณแม่ของเธอ ผู้ไม่เคยท้อแท้และยืนหยัดเคียงข้างเธอ
ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัวของคุณหญิง
ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัวของคุณหญิง
เครดิตภาพ : Jim Callaghan

          ส่วนตัวข้าพเจ้า หลังจากได้สัมผัสโลกของคุณหญิงชาวอังกฤษผู้นี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นเธอเป็นคนพิการหรือเป็นคนหูหนวกเลย กลับรู้สึกว่า ข้าพเจ้าเองพิการในหลายเรื่อง หูที่เคยคิดว่าดี ก็ดีไม่เท่าเธอ, ประสาทสัมผัสอื่นๆที่เธอใช้ประโยชน์อย่างสุดศักยภาพ ข้าพเจ้าก็ไม่เคยใส่ใจนัก. ต่อไปนี้จักต้องพัฒนาทักษะการรับรู้เสียงแบบอื่นๆมั่งแล้ว.
          จำได้ไม่ลืมความคิดหนึ่ง ที่ได้จากวรรณกรรมเรื่อง A la Recherche du Temps Perdu ของ Marcel Proust ที่แนะให้ข้าพเจ้าติดตามเสียงทุกโอกาสทุกสถานที่  เขากล่าวว่า เสียงวาดภูมิทัศน์.  ข้าพเจ้าเคยเห็นภูมิทัศน์จากเสียงเรียกสวดมนตร์ย่ำค่ำที่ดังก้องแผ่จากหอ minaret ของสุเหร่าที่เมือง Luxor ประเทศอีจิปต์.  ข้าพเจ้าหลับตา ทอดตัวเหยียดยาว ลอยไปตามเสียงดังกังวานนั้น ไปเหนือแม่น้ำไนลในยามโพล้เพล้.  เสียงสวดนั้น อยู่ในระดับเสียงเกือบระดับเดียวกันโดยตลอด มีอะไรที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนสบายใจ มั่นใจในพระอัลลาห์ของเขา เป็นเสียงที่ยอมตน ยอมด้วยความเต็มใจและวางใจว่า ทุกอย่างจะดำเนินต่อไปด้วยดี ดั่งกระแสน้ำไนล ไม่รีบไม่ร้อน นำความสดชื่น ความบริบูรณ์แผ่ไปสองฝั่ง. นั่นเป็นประสบการณ์ที่ได้สัมผัสภูมิทัศน์เสียงแบบหนึ่งในอีจิปต์  ภูมิทัศน์เสียงร้องที่ชาวมุสลิมคนนั้น วาดให้เห็น ยังก้องขึ้นใหม่ทุกครั้งที่เห็นสุเหร่า.
          ข้าพเจ้ามีประสบการณ์เสียงกลอง (ดนตรีประเภทตีหรือเคาะ) ที่ไม่เคยลืมเช่นกัน ทุกครั้งที่ได้ยินบท ouverture ใน Carmina Burana ที่เริ่มด้วยเสียงกลองดังสนั่น. ได้ยินในปี 1970 เมื่อไปชมและฟังดนตรีครั้งแรกที่ปารีส. ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เคยฟังดนตรีนี้ของ Carl Orff.  จู่ๆ เสียงกลองขนาดยักษ์ รัวดังสนั่น สะเทือนมาถึงหัวใจ พร้อมๆกับเสียงนักร้องครวญออกมาว่า  O Fortuna! โอ้โอ๋ อนิจจา โชคลาภ... น้ำตาร่วงผล็อยลงอาบแก้มบัดเดียวกันนั้น ตัวสั่น มือไม้สั่นไปเลย...
คลิกฟังเดี๋ยวนี้ตรงนี้เลยว่า ไม่กี่วินาทีแรกๆนั้น มันส่งผลให้สั่นสะเทือนทั้งร่างทั้งใจอย่างไร. จิตรกรรมของ Joseph Mallord William Turner ที่นำมาประกอบดนตรีท่อนนี้ ก็มีนัยยะสำคัญมากด้วย. >> https://www.youtube.com/watch?v=GXFSK0ogeg4
ไม่ว่าจะเข้าใจคำร้องหรือไม่  เจอเสียง percussion แบบนี้
เริ่มต้นดนตรีด้วยสามสี่วินาทีแบบนี้ ด้วยระดับเสียง ความถี่ ความสั่นแบบนี้ ...
คนที่ไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ย่อมถูกสยบในบัดดลนั้น.
ประสบการณ์นั้น ทำให้พอจะเข้าใจคุณหญิง Dame Evelyne Glennie
ว่าเธอสัมผัสดนตรีด้วยร่างกายเธอทั้งร่างนั้น เป็นอย่างไร
ต่อมา เมื่อค้นหาความหมายของดนตรีท่อนนี้ และเนื้อหาของดนตรีทั้งเรื่องของ
Carl Orff  ทุกอย่างจึงยิ่งฝังลึกลงอย่างถาวรในผัสสะของข้าพเจ้า...
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเลย โชติรสเอ๋ย!

โชติรส รายงาน
๒๑ กันยายน ๒๕๖๒.

* * * * * * *

ภาพส่วนใหญ่นำมาจากอัลบัมภาพในเฟสบุ๊คของคุณหญิงเอง ภาพมีลิขสิทธิ์ ขออย่าได้นำไปใช้ต่อ

ตามไปฟังการสนทนา บทความ บทสัมภาษณ์ ตัวอย่างดนตรี ของ Dame Evelyn Glennie ได้จากลิงค์ข้างล่างนี้ และสำหรับผู้ที่เป็นแฟนคลับของเช้คสเปียร์ ติดตามไปท้ายบทความนี้ การวิจารณ์วรรณกรรมเรื่อง The Tempest ของคุณหญิงท่านนี้ได้ ว่าเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อการลับประสาทการฟังของเธออย่างไรบ้าง.

Evelyn Glennie & Dave Heath African Sunrise / Manhattan Rave with BBC Concert Orchestra (8:49 min).


Evelyn Glennie performs Concerto in C major RV 443, Mov 1 by Vivaldi (3:28 min). Hong Kong : September 2010.

Evelyn Glennie ǀ Playing Around The Office ǀ Part 16 – Metal Drums (June 11, 2019. 5:30 min)

Evelyn Glennie performs PRIM by Askell Masson on anre drum. Filmed in 2006. 11:51 min.

Evelyn Glennie and Traditional Chinese Orchestra play Yiu-Kwong Chung Concerto for Percussion… September 2013, 18:13 min.  

The recording of Bartok’s Sonata with Sir Georg Solti, Murray Perahia, Dame Evelyn Glennie and David Corkhill. 1988. 13:28 min.

Evelyn Glennie plays the Aluphone Bell Tree. Published on October 11, 2011.

Evelyn Glennie – “Clapping Music” by Steve Reich.

How to listen (31:58 min)

1 January 2015.

1 January 2015.

Good Vibrations : My Autobiography
Printed literature. Hutchinson. May 1990.

Reviews Archives.

Our vision and mission.

https://www.evelyn.co.uk/  (then click Music on the right) Evelyn Glennie Playlist. ฟังตัวอย่างดนตรีของเธอ.

12 December 2016.
Dame Evelyne Glennie ได้กล่าวถึงการอ่านวรรณกรรมเรื่อง The Tempest ของเช้คสเปียร์ที่ข้าพเจ้าสรุปใจความดังต่อไปนี้ >>
     เมื่อฉันเริ่มสูญเสียการได้ยินในวัยเด็ก ฉันเริ่มใช้ร่างกายสัมผัสดนตรี. ขณะที่ฉันอ่านเรื่อง The Tempest ของ William Shakespeare แต่ละหน้าที่ฉันพลิกอ่านไปๆ ฉันรู้สึกได้ยินเสียงคำ เสียงเล่า เสียงพรรณนาฉากต่างๆ. คำทั้งหลายเหมือนกำลังตะโกนใส่ฉัน แม้แต่ชื่อเรื่อง ฉันจับเสียงก้อง ความดุเดือดของมันได้ทันที.
           ภาษาของเช้คสเปียร์ นำฉันกลับไปยังภูมิลำเนาของฉัน ฉันเคยอยู่ในฟาร์มบนยอดเนินในเมือง Aberdeenshire. ฉันเดินไปจนถึงสุดหน้าผาบ่อยๆ. บนนั้น ลมพัดใส่หน้าฉัน และฉันได้ยินเสียงลมบนแก้มฉัน. ตัวละคร Miranda ทำให้ฉันรำลึกถึงเสียงเมื่อฉันร้องไห้. ยังจำได้ว่ารู้สึกแสบๆที่แก้ม เมื่อน้ำตาไหลลงอาบแก้มสู่ริมปากฉัน. ฉันอยากให้เช้คสเปียร์รู้ว่าฉันค้นพบความหมายของงานเขียนของเขา และบอกเล่าถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ด้วย ว่าร่างกายทั้งร่างสามารถฟังและได้ยินวรรณกรรมของเขา.  เมื่อฉันอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ฉันได้ยินเสียงปากกาคอแร้งลากขีดขูดไปบนกระดาษ เสียงอยู่เหนือตัวบทละคร. ตัวละครแต่ละตัวสะท้อนเสียง และเช้คสเปียร์ล่อเราเข้าไปในเรื่องราวของตัวละคน โดยใช้เสียงและสี สื่อตัวตนของตัวละครแต่ละตัว.
           สำหรับฉัน เสียงถ่ายทอดความลุ่มลึกของความรู้สึก. ฉันได้พบวิธีทดแทนการไม่ได้ยินของฉัน ด้วยการปล่อยให้ร่างกายของฉันเป็นหูฟัง ทั้งผิวหนัง กระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นเครื่องมือชุดใหม่สำหรับฟังจากการสั่นสะเทือนในบรรยากาศรอบข้าง.  วรรณกรรมเรื่อง The Tempest (ที่นพมาส แววหงส์ แปลว่า พายุพิโรธ)  เล่นไปในโลกสัมผัสของฉัน. เช้คสเปียร์ใช้เสียงสื่อความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงตลอดทั้งเรื่อง ทั้งอารมณ์ขัน ความภาคภูมิใจ ความกังวล ความละอาย อำนาจ หรือการยอมตน. การใช้สีสื่อเสียงของเขา ประทับใจฉันไปตลอดทั้งเรื่อง. ฉันอยากรู้มากว่าผู้แสดงรู้ไหมว่า เขามีโอกาสทองที่ได้สัมผัสมิติของสีแสงของตัวละคร ที่นำจิตสำนึกของพวกเขาเข้าประกบเป็นหนึ่งเดียวเมื่อสวมบทบาทของตัวละครแต่ละตัว. 
          ตลอดชีวิต ฉันพยายามชักจูงคนให้เข้าไปสัมผัสความบริบูรณ์ที่เหนือกว่า ในโลกของเสียง ด้วยเส้นทางของ ความเงียบสมมุติ.  ที่ว่าสมมุตินั้น เพราะฉันเชื่อว่า ไม่มีความเงียบจริง แม้ในโลกของคนหูหนวก ก็มิได้เงียบอย่างที่คนคิดกัน.  จะหาประสบการณ์ความเงียบให้ได้ จำต้องปิดเสียงรอบข้างและมองไปที่เหวลึก ที่แยกเสียงรอบข้างออกจากความเงียบสัมพัทธ์ที่ปรากฏขึ้น. เมื่อปิดเสียงรอบข้างลงได้ ความเงียบก็ปรากฏขึ้น. เมื่อนั้น คนจะค้นพบโลกของเสียงอีกโลกหนึ่ง ที่ทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า มีวิธีฟังต่างๆกันหลายวิธีมาก. เหมือนเมื่อเราเอามือวางลงบนหน้าอก เรารู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ. ฉันได้เรียนได้ฝึกการถ่ายทอดความรู้สึกทั้งมวลด้วยส่วนต่างๆของร่างกาย.  ฉันซาบซึ้งยิ่งกับประโยคที่ Miranda พูดกับ Ariel ผู้พ่อ หลังจากฟังเรื่องราวที่เขาเล่า ว่า «Your tale, sir, would cure deafness.».  หากฟังตามเสียงเล่า มองเห็นสีแต่ละเสียง สัมผัสจิตสำนึกของอาเรียล (Ariel) แล้วไซร้  แม้คนหูหนวก ก็จะกลับได้ยิน.
         วรรณกรรมเรื่อง พายุพิโรธ นี้ รวมและประสมประสานเสียงจำนวนมาก เสียงจากแผ่นดิน ผืนน้ำ จากลม จากคลื่น. ทั้งบทละคร มีจังหวะจะโคลน ความลุ่มหลงเกลียวไปกับอารมณ์. ยิ่งหูฉันไม่ได้ยิน ฉันยิ่งรู้สึกว่าฉันอ่อนไหวกับจังหวะมาก และจังหวะคือวิญญาณของชีวิต.  ฉันต้องเรียนให้รู้แน่แก่ใจว่าแต่ละเสียงถ่ายทอดอะไร แทนนัยยะอะไร. เรื่องแบบนี้ที่คนหูดีทั้งหลาย ถือว่าเป็นธรรมดาเหลือเกิน โดยไม่ต้องใส่ใจคิดเลย.  ร่างกายฉันจึงเป็นหู พื้นผิวหน้าของวัสดุใด กลายเป็นสิ่งสะท้อนเสียง นำความหมายที่ชัดเจนไปยังสมองของฉัน.  เช้คสเปียร์ประพันธ์  เลือกสรรและสลักเสลาคำทั้งหลาย นำผู้ชมผู้ฟังไปสัมผัส ไปแช่ตัว ชุบร่างลงในคลื่นคำต่างๆ จนผู้ชมรู้สึกเหมือนร่วมเป็นหนึ่งเดียวในแต่ละฉาก  เช่นพาเราเข้าไปในรัศมีของพายุที่กำลังกระหน่ำ  ฉันก็เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ ฉันคว้าค้อนและกำไว้แน่นในมือและมันตกลงไปกระทบไม้ เป็นจังหวะเดียวกับที่คลื่นลูกใหญ่โถมเข้าปะทะกาบเรือ. ในทำนองเดียวกันนี้ ฉันก็จินตนาการต่อไป ฉันถ่ายทอดเสียงหลากหลายความถี่ของคลื่นในพายุ หรือจับเสียงแผ่วเบาดั่งลมหายใจคน... สรุปแล้ว ร่างฉันทั้งร่างรับผลกระทบของอารมณ์ความรู้สึกทั้งจากตัวละครและสภาพแวดล้อมของฉากแต่ละฉาก จนถึงนาทีสุดท้าย ที่พายุสงบลง... เหมือนชีวิตที่สยบต่อชตากรรม หยุดดิ้นรน แผ่แสงเรืองรองของความเมตตาในการให้อภัยแก่กัน... ในแบบเดียวกับเมื่อจบการแสดง ร่างของฉันคลายความเกร็งลงไปเรื่อยๆ จนรู้สึกอ่อนโยน และปิติ เมื่อก้มรับเสียงปรบมือของผู้ชม.
            การติดตามตัวอักษรในวรรณกรรมเรื่องนี้ เปิดโอกาสให้ฉันจินตนาการเครื่องดนตรีแบบไหนที่ฉันจะเลือกใช้ได้ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับคำพรรณนาในแต่ละฉากแต่ละตอน. ในฐานะนักดนตรี ฉันต้องค้นหาวิธีต่างๆเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก. ตัวกลางการสื่อความหมายของเช้คสเปียร์ คือคำ และคำของเช้คสเปียร์ กระตุ้นเสียงแบบต่างๆ สื่อความรู้สึกได้อย่างชัดเจนที่สุด.
อีกมุมหนึ่งในบ้านที่มีเครื่องดนตรีสารพัดชนิดที่เธอเรียนและใช้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล. ภาพจากอัลบัมในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ Dame Evelyn Glennie.
เครดิตภาพ :Tom Howard, PromaxBDA

เครดิตภาพ :Tom Howard, PromaxBDA

1 comment:

  1. ได้ส่งลิงค์บล็อกนี้ไปให้ Evelyn Glennie ในเมสเสจ ขออนุญาตใช้ภาพของเธอที่มีในเฟสบุ๊คของเธอ เลขานุการส่วนตัวชื่อ Georgina ตอบมาว่า ยินดีให้ใช้ และอยากอ่านบทความเป็นภาษาอังกฤษ จึงได้แปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ เรียบเรียงดัดแปลงจากประโยคสำนวนเธอเองส่วนใหญ่ นอกจากตอนท้ายสุดที่เกี่ยวกับ ประสบการณ์เสียงของข้าพเจ้าเอง. ส่งเป็นพีดีเอฟไฟล์ไปให้เธอ. เลขา Georgina ตอบมาว่า you have done extremely well writing this and it is extremely accurate.

    ReplyDelete