Wednesday, September 4, 2019

Prana food

ซึมซับแสงสว่างกับเสพลมปราณ
Gabriel Lesquoy กาเบรียล เลสกัว [ก๊ะบรีเอ็ล เลสกัว] ได้ปริญญาพยาบาลศาสตร์บัณฑิตย์แห่งชาติ (Infirmier D.E), ได้ปริญญาบัตรจบหลักสูตรการโค้ช(เพื่อพัฒนาศักยภาพ) จากมหาวิทยาลัยปารีสที่แปด (diplômé en pratiques de coaching, Université Paris VIII), ได้ปริญญาบัตรเวชศาสตร์ฟื้นฟู ด้านความเครียด ความบอบช้ำทางจิต จากมหาวิทยาลัย Pierre et Marie Curie (Paris), ได้ประกาศนียบัตรการแพทย์แผนไทยจากวัดโพธิ์ (Ecole de Médecine Traditionnelle Wat Po, Bangkok, Thaïlande), เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องพลังงานบำบัดเพื่อการผ่อนคลายเส้นประสาท (Sophro-relaxologue, thérapeute énergéticien) และเป็นผู้ฝึกสอนการนวดในท่านั่ง ที่เรียกว่า (Formation Massage Amma Assis หรือสั้นๆว่า Massage Assis ที่พัฒนาจากวิธีการนวดแบบญี่ปุ่น. Amma มาจากคำว่า “an-mo” 安摩 แปลว่า ทำให้สงบผ่อนคลายด้วยมือสัมผัส. แปลว่า สงบ แปลว่า ถู).
         คนกับสุขภาพ ทั้งในเชิงกายภาพ จิตวิทยาและจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่เขาสนใจเสมอมา จึงได้ศึกษาด้านนี้และทำงานในเครือข่ายการแพทย์แขนงต่างๆตลอดเวลาหลายปี เช่น ในแผนกศัลยกรรม, แผนกโรคชรา (geriatrics), แผนกโรคพิษสุราเรื้อรัง (alcohology), แผนกการแพทย์ฉุกเฉินเป็นต้น.
         ตั้งแต่ปี 2003 เขาลาออก เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการขององค์กร (AVEC INSPIRE [อะแว้ค แอ็งสปีรฺ]) ที่เป็นศูนย์สร้างบุคลากรผู้ชำนาญพิเศษในด้านเทคนิคการบำบัดร่างกายและจิตใจที่ตกอยู่ในสภาวะเครียด. ตั้งแต่ปี 2004 เขารับเป็นที่ปรึกษาเป็นโค้ชให้คนไข้เฉพาะรายด้วย และตั้งแต่ปี 2012 ได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการรักษาด้วยพลังงานและคลื่นความถี่.
          เขาเริ่มทดลองใช้ชีวิตด้วยการกินลมกินแสงแดดเป็นอาหาร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2012 เขาไม่กินอาหารอะไรอื่นเลย  เขานั่งสมาธิภาวนา มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง สีต่างๆ กลิ่นต่างๆและบางครั้งบางคราวเท่านั้น ที่เขากินช็อกโกแล็ตนิดหน่อย และเห็ดสดๆ. เขาทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้. ตอนนี้เขาจัดกลุ่มสอนผู้สนใจ ดูแลและโค้ชเพื่อให้แต่ละคนพัฒนาศักยภาพชีวิตด้วยระบบลมปราณและพลังงานแสง. เขาเรียกกระแสนี้โดยเอาคำสันสกฤต ปราณ prana มาใช้เลยว่า อาหารปราณ (nourriture pranique).
          ปราณ « Prana » คำสันสกฤต หมายถึงพลังชีวิตของจักรภพ. พลังชีวิตนี้อยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดด้วย. ในคน ลมปราณไหลไปมาบนสิบสองเส้นทางเมริเดียนภายในร่างกาย (12 meridians). พูดกันมาเสมอว่า ชีวิตหากขาดพลังลมปราณ ก็อยู่ไม่ได้. แพทย์แผนจีนระบุเสมอว่า ความเจ็บป่วยของร่างกาย เกิดขึ้นเพราะการหมุนเวียนในระบบเส้นลมปราณชะงัก ถูกกัก ถูกขัดขวาง หมุนเวียนไปไม่ทั่วทั้งกายฯลฯ.
ระบบ 12 เส้นลมปราณหลักในร่างกาย

         อารยธรรมโบราณกล่าวถึงเรื่องลมแห่งชีวิตหรือลมปราณเสมอ และมีชื่อเรียกต่างกันไปตามภาษาของแต่ละกลุ่มเช่น ชาวกรีกโบราณ เรียกว่า  « pneuma », ชาวอเมรินเดียนเรียกว่า « wakonda »,  ชาวยิวเรียกว่า « ruah », ชาวคริสต์เรียกว่า « lumière » (แสงสว่าง), ชาวจีนเรียกว่า « Qi  » [คี / ขี้]. แต่ละชนเผ่า พัฒนาทักษะในการดูแลอนุรักษ์ลมแห่งชีวิตนี้ให้คงอยู่ในร่างกาย.
        ข้าพเจ้าได้ติดตามอ่านและฟังวิถีชีวิตของกาเบรียล เลสกัว และเห็นว่า เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ. เมื่อชาวตะวันตกในวงการแพทย์ หันมาใช้ปรัชญาและหลักการของแพทย์แผนโบราณจากอินเดีย (ศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา) จีน ธิเบต ไปพัฒนาและสังเคราะห์เป็นกระบวนการรักษาเยียวยาผู้ป่วยชาวตะวันตก เป็นการบำบัดที่ไม่อิงยาใดๆ ทั้งยังเผยแผ่อุดมการณ์ใหม่ในการกินอาหาร ว่า กินน้อยและกินดีกว่า ด้วยการกินลมกินแดด นั่นคือกินพลังงานจากธรรมชาติ.  

         กาเบรียล เลสกัว อาศัยอยู่ในแดนลอแรน (Lorraine, France) ชีวิตผ่านไปในฐานะเป็นนักกายภาพเวชศาสตร์ฟื้นฟูตามความชอบของเขา. วันหนึ่งในปี 2010 เขาได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่งที่พลิกปรัชญาและความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกชีวิตโดยสิ้นเชิง. เขาได้เห็นในรายงานนั้น ว่ามีคน(ในอินเดีย) อยู่ได้ด้วยแสงสว่าง ไม่กินอาหารมาหลายสิบปี. มันเป็นไปได้อย่างไร คนไม่ใช่พืช. เกิดปมปริศนาขึ้นในใจ ว่าคนอยู่ได้ด้วยแสงสว่างหรือ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร จักธำรงชีวิตไว้ได้จริงหรือ นานเพียงใด...
          วันหนึ่งเขาเข้าไปร้านขายอาหาร รอคิวจะซื้อขนมปังไส้เนื้อที่เขาชอบกิน (fougasse ขนมปังชิ้นโตแบนมากกว่ากลมนูน อาจใส่ไส้ชนิดต่างๆเช่นชีส หมูสามชั้น ไก่ ครีม มะเขือเทศ ผัก โอลีฟเป็นต้น). ขณะรอ เขามองไปที่ชิ้นขนมปังที่หมายตาจะซื้อ เขาเกิดเห็นกะโหลกหัวสัตว์วางซ้อนอยู่บนชิ้นขนมปัง ตาจ้องมองเขา. เขาสะดุ้ง ชะงักและก้าวออกจากร้าน เขาหยุดกินเนื้อตั้งแต่วันนั้น. เขาเข้าใจว่า นั่นเป็นตาของจิตสำนึกของเขาเอง. เขาเริ่มตระหนักเรื่องการกิน สิ่งที่กิน.  
         อีกครั้งหนึ่ง เขานึกถึงอาหารจานโปรดที่มีไส้กรอกหมู เนื้อชนิดต่างๆ กินกับกะหล่ำปลีดองสุกนิดๆ (choucroute [ชูครุต] / sauerkraut [เซาหวะเคราตฺ]) ที่มารดาเคยทำให้กินในครอบครัวบ่อยๆ. กำลังจะกิน จู่ๆมีคนถืออาวุธรี่จะเอาชีวิตเขา เขาวิ่งหนี คนนั้นกวดตามเขา. ในที่สุดเขาตัดสินใจ หันหน้ากลับไปเผชิญคนร้ายคนนั้น. ปรากฏว่า คนร้ายกลายเป็นคนยอมจำนน นอนล้มขดตัวที่พื้น มีคนมาอยู่ข้างๆเขา ยื่นอาวุธให้และบอกว่าให้ฆ่าคนนั้นเสีย. เขาไม่อยากฆ่า ไม่จำเป็นต้องทำร้ายเขา แต่คนที่อยู่ข้างๆย้ำซ้ำๆว่า ต้องฆ่าเขา ต้องฆ่า ฟันลงกลางตัวเลย. ในที่สุด เขาเงื้อมมือฟันตัวคนร้าย ท้องแบะออกเปิดกว้าง มีจานอาหาร choucroute โผล่ขึ้นจากท้องคนนั้น จานเพียบด้วยอาหารน่ากิน. เขาตกใจตื่น. เขาเข้าใจว่า ฝันนั้นคือสัญญาณบอกให้เขาตัดขาดจากอาหาร. และเขาก็หยุดกินอาหารหนัก อาหารเนื้อสัตว์ใดๆตั้งแต่นั้น. 

อาหารที่เรียกว่า Choucroute [ชูครุด] อาหารฝรั่งเศส วิวัฒน์จากแบบเยอรมันเดิม.
ภาพจาก rustica .fr

          ตั้งแต่นั้น เขาเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร จากการชอบกินและกินดี ค่อยๆลดปริมาณลง ลดจำนวนครั้งลง. ทุกอย่างเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นงดอาหารสัปดาห์ละวัน แล้วสองวัน สามวัน เป็นต้น. จากการกินสามมื้อ ลดลงเหลือสองมื้อ แล้วเหลือมื้อเดียว และในที่สุดกินเพียงผักและผลไม้.  
            เขาบอกตัวเองว่า สรรพชีวิตเจริญงอกงามในแสงแดดและอากาศ  ตั้งแต่แรกอุบัติขึ้นบนโลกและสืบเรื่อยมากี่ล้านๆปีแล้ว  แสงและอากาศย่อมหล่อเลี้ยงคนได้ด้วยเช่นกัน.  มองในเชิงวิทยาศาสตร์ ก็มีข้อมูลสนับสนุนว่า นอกจากปอดสองข้างในตัวคน  คนยังมีปอดที่สาม ซึ่งคือผิวหนังที่เป็นกรอบนอกสุดของชีวิตคน ที่ก็หายใจออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายด้วย.  ( ผิวหนังคน เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดและเจริญเติบโตเร็วที่สุดของคน. เป็นเสื้อโค้ตตัวหนาในหน้าหนาว, เป็นเสื้อป่านเนื้อดีในหน้าร้อน,  มันขับเหงื่อ ขับเชื้อจุลินทรีย์ออกจากตัว, และดูดอากาศ รับลมเข้าไปในตัว. Ref. https://www.aad.org/public/kids/skin )
           เขาเริ่มซึมซับลมและแดด ด้วยการไปนั่งทำสมาธิใต้ต้นไม้บ้าง, กลางทุ่งนาบ้าง, เอาหน้าผากไปชิดลำต้นไม้และยืนนิ่งอยู่ในท่านั้น...นานๆ.  เขาเริ่มหยุดกินเป็นช่วงๆ เช่น หยุดกินไป 11 วัน ในเดือนกรกฎาคม 2002, หยุดอีก 10 วันในเดือนตุลาคม 2002, อีก 10 วันในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น เป็นต้น.  น้ำหนักเขาลดลงไป 13 กิโลกรัม และอยู่ตัวตั้งแต่นั้น.  เขานอนน้อยลง  นอนคืนละ 3-5 ชั่วโมงก็เพียงพอ  นอนเต็มอิ่มแล้ว ไม่เคยง่วงหรือเซื่องซึม กลับรู้สึกมีชีวิตชีวาเต็มที่ ไม่เคยเหนื่อยหรือเพลีย ไม่ว่ากายหรือใจ.  มาตอนนี้ การกินไม่มีความหมายใดๆสำหรับเขาแล้ว.  เขาเองมหัศจรรย์ใจกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะร่างกายของเขา. ทั้งหมดนี้ เขายังทำงาน เล่นปิงปองเสมอ และเช้คสุขภาพเป็นประจำทุกปี หมอบอกว่า ร่างกายเขาแข็งแรงได้คะแนนเต็ม.

อาหารปราณคืออะไร

          เราเกิดมาก็มีลมปราณ ทุกคนกินลมเป็นอาหารตั้งแต่เกิด. สิ่งมีชีวิตเป็นมอเตอร์พลังงานที่ปั๊มกักต้นทุนลมปราณ จากอากาศของโลกภายนอกกาย และก็หายใจเช่นนี้เรื่อยมา เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเส้นลมปราณ (meridians), ระบบจักระ. ในร่างกาย ลมปราณทำงานของมันอยู่แล้ว แต่อาจอยู่ในสภาวะเฉื่อยชา ติดๆขัดๆ เพราะอาหารแข็งที่เข้าสู่ร่างกาย.
         การเลี้ยงดูร่างกาย มิใช่แค่เรื่องกินให้อิ่มท้องที่มักเป็นจุดหมายเดียวของสามัญชนทั่วไป ดังที่พูดกันในหมู่คนไทยว่า ถึงเวลาก็กินซะให้เสร็จๆ เหมือนถูกบังคับในที. ร่างกายของคนเป็นที่รวมของระบบอวัยวะต่างๆ  และยังเป็นฐานของจิตใจ ของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของความคิด สติปัญญา ของวิญญาณสำนึก ที่รวมกันเป็นตัวตนของคนๆหนึ่ง.  อาหารที่กิน หล่อเลี้ยงสภาวะอื่นๆของความเป็นคนด้วยไหม อย่างไร. เราต้องสร้างความสัมพันธ์กับอาหารที่กินให้เหมาะสม ให้อาหารเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อร่างกาย ต่อความคิด ต่ออารมณ์ความรู้สึก ต่อจิตวิญญาณด้วยพร้อมกัน ให้การกินอาหารเป็นการวิวัฒน์พัฒนาตัวเองในทุกด้านด้วย.
         แต่อาหารส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน มีสารพิษที่ตกค้าง นอกจากที่ติดมาจากแหล่งผลิตอาหารนั้น ยังมากับสารปรุงแต่งอาหาร, สีอาหาร, สิ่งปรุงรส, สารกันบูดเป็นต้น. ร่างกายคนเป็นเครื่องยนต์ผลิตเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาชีวเคมีในกระบวนการย่อยอาหารก็จริง แต่หากมีสารปรุงแต่งแบบนี้จำนวนมากทุกวันๆ อวัยวะต่างๆไม่มีเวลาย่อย ไม่มีเวลากำจัดออก ก็กลายเป็นสารตกค้างสะสมในเลือด ในร่างกาย ที่ก่อปัญหาสุขภาพต่างๆ ตั้งแต่เรื่องอาหารไม่ย่อย สายตาที่แย่ลง หินปูนเกาะ ข้ออักเสบ การแข็งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อฯลฯ ล้วนมาจากสารพิษตกค้างในอาหารทั้งสิ้น.  การกินอาหารหนัก จึงสร้างปัญหาและบั่นทอนร่างกายมากที่สุด บวกกับความเครียดในชีวิตการงาน ชีวิตสังคมเศรษฐกิจ  ชีวิตครอบครัว  ร่างกายจึงทนได้ไม่นาน.
สารพิษที่ตกค้างสะสมตามจุดต่างๆในร่างกายและก่อให้เกิดความผิดปกติแบบต่าง
ภาพจากเว็บเพจที่ https://fitnessfoods.ca/how-toxins-affect-our-health/


          กาเบรียล เลสกัว เห็นจากประสบการณ์ของเขาเองว่า การกินลมกินแดด คือการกินพลังธรรมชาติล้วนๆเข้าไปในร่างกาย เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตตามปกติ เขามีแรงมีกำลังโดยไม่ต้องกินอาหารหนัก.  เมื่อเขาหยุดกินอาหารหนัก ร่างกายไม่ได้เสียพลังงานเพื่อย่อยอาหารหนักๆเหล่านั้นเลย.  ร่างกายถูกปลดแอกจากงานย่อยอาหาร  เขารู้สึกโล่งเบา สบายตัว สบายใจ. ในสภาวะดังกล่าว ร่างกายสร้างฮอร์โมนของความสุข คือ เอ็นดอร์ฟิน (endorphin ที่เปรียบกันว่าเป็นมอร์ฟีนธรรมชาติ กระตุ้นความรู้สึกในด้านบวก), สร้างโดพามีน (dopamine กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท การเคลื่อนไหว ความจำ การเรียนรู้), สร้างฮอร์โมนดีเอชอีเอ (Dhea สารช่วยความสมดุลอารมณ์) เป็นต้น. การสร้างฮอร์โมนของความสุข เป็นไปอย่างอัตโนมัติ (ไม่ต้องกินช็อกโกแล็ตเลย). ตรงตามหลักการของ homeostasis (ศัพท์วิทยาศาสตร์หมายถึง สมรรถภาพของระบบอวัยวะในการธำดงดุลยภาพภายในให้ดีที่สุด) ที่ไม่เพียงสร้างสมดุลทางกาย  ยังปรับสมดุลทางจิต สมดุลทางอารมณ์ และสมดุลทางวิญญาณสำนึก.  ความสบายใจนำให้มองทะลุการมีชีวิต อารมณ์ความรู้สึก จิตสำนึก. นำให้ตระหนักในปัจจุบันขณะ มองทะลุผิวหน้าของสิ่งรอบกาย เหมือนได้เชื่อมตัวเองต่อติดกับโลกที่จริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังภาพมายาที่ตาเห็น ในความถี่ที่สอดคล้องกับสุขภาวะของเขา.
          การกินลมปราณ กินแสงแดด แตกต่างกับการอดอาหาร.  การอดอาหารเป็นไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ระหว่างอดอาหารแต่ละวัน ร่างกายนำสารอาหารที่สะสมไว้ในร่างกายออกมาใช้แทน ซึ่งหมายความว่า สารอาหารสะสมที่เคยมีในร่างกาย จะหมดลงได้.  การอดอาหารแม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นในการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ทำให้อวัยวะภายในสะอาดขึ้น แต่หากอดอาหารนานเกินไป ร่างกายอ่อนล้าลงเมื่อหมดสารอาหารสะสมแล้ว ทำให้ต้องหวนกลับไปกินอาหารอีกครั้งหนึ่ง.  
         ส่วนการเลือกกินลมกินแสงแดด คือเลือกกินพลังงานโดยตรง.  ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า คนเจตนาไม่กินอาหารได้ คือพยายามอดอาหารได้ (ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง)  แต่ไม่เลี้ยงดูร่างกายไม่ได้.  หากอยากมีชีวิตต่อไป ต้องรักตัวเอง จึงต้องกินอะไรที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย.  ในเมื่ออาหารปราณอาหารแสง เป็นอาหารสะอาด เป็นพลังงานสะอาด ที่ร่างกายนำไปใช้ได้เลย ทำไมไม่ลองดูให้รู้ด้วยตัวเองล่ะ? อะไรจะดีกว่าออกซิเจน ดีกว่าน้ำสะอาด. ระบบสุขอนามัยระบบใหม่นี้ ขจัดปัญหาเรื่องอาหารการกิน สุขอนามัยในการกิน ลักษณะการปรุงแต่งอาหารฯลฯ. (ทุ่นเงินและเวลาลงไปเยอะเลย)
           ในฝรั่งเศสผู้ที่เรียกตัวเอง ว่าเป็นผู้กินอาหารปราณ (les praniques) คือผู้ที่ไม่กินอาหารแข็งใดๆเลย ด้วยความหวังในสุขภาพที่ดีกว่า ที่เอื้ออำนวยให้เขาแบ่งบานเต็มศักยภาพ. อาหารปราณจึงอาจเทียบได้กับอาหารของทวยเทพ. ลมปราณในอายุรเวชอินเดีย คือ Qi หรือ คี่ ในแพทย์แผนจีนฯลฯ และที่เป็น ambrosia หรือ nectar น้ำอมฤทธิ์ของทวยเทพกรีกเป็นต้น.
          ปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนมากที่เลือกใช้ชีวิตด้วยการกินลมปราณเป็นอาหารอย่างตั้งใจ  เสพพลังงานที่เป็นพลังจักรวาลที่มีทั่วไปในบรรยากาศโลก. ประมาณกันว่ามีราวสี่หมื่นห้าหมื่นคนในโลก และ400 คนในฝรั่งเศส. ที่เป็นไปได้ เพราะรู้จักปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก จิตสำนึกและจิตวิญญาณให้สอดคล้องกลมกลืนกัน. กินลมปราณเป็นอาหารจึงกลายเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว มีพยานหลักฐาน เป็นแบบอย่างให้เพิ่มพลังบวกให้กับชีวิต เสริมสร้างสุขภาพด้วยพลังดีๆที่อยู่รอบตัว.

เคล็ดลับของการเลี้ยงดูกายและจิต กับวิญญาณสำนึก         

จากประสบการณ์การเลือกกินลมกินแสงสว่างเป็นอาหาร กาเบรียล เลสกัว พบความสมดุลในชีวิตของเขาและใช้ชีวิตช่วยบำบัดความเจ็บป่วยของคนอื่นๆ.  การศึกษาหาความรู้ในหลายกระแสทั้งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กับการแพทย์แผนโบราณ ทำให้เขาสังเคราะห์หลักการที่จักช่วยบำบัดคนทั้งกายและใจที่ตกอยู่ในความเครียดเรื้อรัง. สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตที่แท้จริง ที่นอกจากต้องเลี้ยงดูให้อาหารที่ดีแก่ร่างกายแล้ว ยังต้องหล่อเลี้ยงจิตสำนึกด้วยพลังงานดี พลังงานสะอาด ควบคู่กันไปด้วย. หลักการสามประการของเขาคือ

๑. การอยู่กับปัจจุบันขณะ. ทุกขณะของชีวิต จิตใจลอยไปกับสารพัดเรื่องที่แทรกตัวเข้ามา หรือที่ติดค้างอยู่ในใจ ถ้าไม่ใช่เรื่องในอดีต ก็เป็นเรื่องในอนาคต. คนจึงไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน มิได้อยู่กับสิ่งที่เห็น ที่ฟัง ที่ทำอยู่ตรงหน้า. ความเงียบเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ตรึงคนไว้ในปัจจุบันขณะ. ความเงียบทำให้หูได้ยินชัดขึ้น หรือเงี่ยหูฟัง ตั้งใจฟังเพื่อให้ได้ยินอะไรๆมากที่สุด เมื่อตั้งใจฟัง ก็หยุดอยู่ที่ปัจจุบันขณะ.
        ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเรื่องเล็กน้อยที่พวกหมอสอนศาสนา นักพรต นักบวช นักปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวกไปอยู่ในอาราม คอนแวนต์ ในชนบทแทนการอยู่ในเมือง. ในที่สุดคือการไปฝึกสมาธิและเจริญสติตามลำดับ.
         หลังจากทำงานมาตลอดสัปดาห์ ตลอดเดือน ชาวกรุงชอบออกไปในชนบทแม้เพียงสองสามชั่วโมง  สุดสัปดาห์ หรือยามพักร้อน พาสมาชิกครอบครัวออกไปในชนบท.  ผ่อนคลายความเครียดและรับพลังจากธรรมชาติเป็นอาหารเสริมที่ดีที่สุด.
          80% ของความเจ็บป่วยเกิดจากความเครียด. ร่างกายต้องสร้างฮอร์โมนต้านความเครียด (ฮอร์โมนคอร์ติซอล-cortisol, ฮอร์โมนอะดรีนาลีน-adrenaline). จะให้ฮอร์โมนเหล่านี้ช่วยเท่านั้น มันไม่เพียงพอ ไม่ทัน หรือบางทีงานหนักเกินไป จนอาจเป็นสาเหตุของเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตที่เป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนต้านความเครียดเหล่านี้. การคลายเครียดจึงเป็นประเด็นด่วนในสังคมปัจจุบัน.

๒. การหยุดนิ่งอยู่กับที่. ไม่ได้หมายถึงไม่ทำอะไร แต่หมายถึงการทำอะไรเพียงอย่างเดียวในแต่ละขณะ ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพ ความประณีตแก่สิ่งเดียวที่ทำ. มุ่งอยู่กับงานตรงหน้า ให้เหมือนที่พระเซนญี่ปุ่นที่คราดทรายบนสนาม เป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่ง. งานที่คนภายนอกเห็นว่าจดจ่อมุ่งมั่นทุ่มเทนั้น ตัวพระเอง(น่าจะ)ไม่รู้สึกเกร็งแบบนั้น ตรงกันข้าม เขาทำไปเรื่อยๆ กิริยาท่าทางสงบ สม่ำเสมอ โดยไม่คิดหรือคาดหวังผลลัพท์ที่ต้องวิเศษสุดที่เป็นได้  เพราะถ้าทำงานด้วยสำนึกเยี่ยงนั้น ความเครียดก็เข้าบีบคั้น หมดความสงบสมดุลภายใน.  การหยุดนิ่งอยู่กับที่ คือ อยู่กับ « ที่นี่และเดี๋ยวนี้ » จึงเสริมประเด็นของการอยู่กับปัจจุบันดังที่กล่าวมา.

๓.  การทรงตัวในแนวตั้ง. ผู้คนมักลืมว่า คนมีชีวิตอยู่ทั้งในแนวราบและแนวตั้ง เพราะส่วนใหญ่จมติดอยู่กับแนวราบแนวนอน.  คนสะสมโภคทรัพย์ต่างๆตามกระแสสังคมวัตถุนิยม แผ่ขยายอาณาจักรตัวตนไปบนพื้นที่ กว้างออกๆ ที่กลายเป็นกลไกของการสรรหาสรรพสิ่งมาเพิ่มพูนเพื่อเติมเต็มพื้นที่แนวราบของตัวเอง. ยิ่งมีสมบัติห้อมล้อมมากเพียงใด ให้คนเห็นว่าใหญ่โตหรือโดดเด่นในสังคม แต่ตัวตนแท้จริงเขากลับเล็กลงๆ จมหายไปในกองวัตถุ. นักเดินทางที่มีกระเป๋าใบน้อย ตัวเบา ย่อมไปได้ไกลกว่า เหนื่อยน้อยกว่าการแบกสัมภาระมากมายบนหลัง. นักเดินทางชีวิตก็เช่นกัน หากปล่อยความหลงความยึดติดแบบต่างๆลงไปได้  ตัวเบา จิตโล่งโปร่งสบาย มโนสำนึกย่อมแจ่มกระจ่าง. แนวนอนดึงเราลงบนพื้น.
           ร่างที่ตั้งตรง เป็นเสาอากาศ เป็นเครื่องส่ง เครื่องรับ เชื่อมต่อติดกับทุกอย่าง กับพลังงานรอบตัวและรับพลังงานเข้าสู่ตัว.  แนวตั้งเชื่อมหัวจรดเท้า รับพลังทั้งจากใต้พื้น กับพลังจากเบื้องบน.  แนวตรงของร่างกาย ตามแนวกระดูกสันหลังไปถึงกลางกระหม่อมที่ต่อมไพเนียล (pineal gland) เป็นเส้นทางหลักในอายุรเวชอินเดีย ของแพทย์แผนจีนเป็นต้น. เป็นช่องทางเดินของลำแสง. แสงคือคลื่น คลื่นมีความสั่นสะเทือน แสงคือพลังงาน.
         วิทยาศาสตร์บอกว่า ต่อมไพเนียล เป็นต่อมไร้ท่อ ขนาดเล็กเพียง 5-8 มม. รูปร่างเหมือนเมล็ดสน อยู่ในใจกลางสมอง ที่มีเซลล์คล้ายกับเซลล์ของจอตา จึงรับรู้แสงสว่างได้เช่นเดียวกับตา.  ต่อมไพเนียลสร้างฮอร์โมนรับแสงได้ จึงเป็น “ตาที่สาม” ของมนุษย์ ดังที่ปรากฏกล่าวถึงเสมอในอารยธรรมโบราณตั้งแต่ชนเผ่าซูเมเรียน อีจิปต์โบราณ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ. มักเจาะจงด้วยว่า เป็นที่สถิต ที่แสดงตนของวิญญาณเทพ วิญญาณนักบุญเป็นต้น. ศิลปะแสดงด้วยเส้นรัศมีแผ่ออกรอบศีรษะ หรือลำแสงที่พุ่งจากกลางกระหม่อม หรือเป็นดวงตาดวงเดียวภายในหรือบนยอดของสามเหลี่ยมปิรามิด (ดังที่เห็นบนธนบัตรหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ที่สื่อนัยน์ตาของพระเจ้าที่มองไปทั่วทุกทิศ-the all-seeing eye of God)  หรือเป็นเพชรพลอยติดบนหน้าผากของพระพุทธรูปแบบจีนญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นต้น. 

         คนยืนตัวตั้งตรง จึงเป็นสะพานเชื่อมผืนดินกับแผ่นฟ้า เชื่อมดิน น้ำ ลม ไฟ,  เชื่อมวงจรพลังงาน เป็นวงจรชีวิตและวงจรจิตสำนึกกับจิตวิญญาณได้อย่างชัดเจน. 
ด้านหลังของโครงร่างของคน เห็นเส้นทางของพลังงาน ตั้งแต่ส้นเท้าตรงขึ้นกลางกระหม่อม ที่เชื่อมต่อขึ้นไปในอากาศไปยังดาวดวงหนึ่ง แล้วต่อไปถึงจักรภพ. ภาพจากเพ็จ Palungjit.org
          การอยู่กับปัจจุบันขณะ การหยุดอยู่กับที่ และการทรงตัวตรง รวมกันสร้างความพร้อมบริบูรณ์ที่นำคนพบความสมดุลทั้งกายและใจ ทั้งยังนำวิญญาณสำนึก แผ่ออกไปกว้างจาก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เป็นทุกที่ในขณะเดียวกัน.  

ถือโอกาสนำภาพของดวงตาที่สาม มาลงให้เห็นและเข้าใจกันชัดๆว่า ตรงกับข้อมูลวิทยาศาสตร์-สรีรวิทยาของสมอง. เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ฝึกมองด้วยตาที่สามนี้ และรับพลังดีๆจากจักรวาล.
ภาพจากเว็บเพจ เทียบให้เห็นว่าสัญลักษณ์ดวงตาของเทพรา (Ra) ในอารยธรรมอีจิปต์ สะท้อนให้เห็นลักษณะและตำแหน่งของต่อมไพเนียลในสมองคน.

ภาพพิมพ์แสดงระบบประสาทการมองเห็นที่ René Descartes (1596-1650 ชาวฝรั่งเศส)อธิบายไว้ ลากเส้นทางเดินของแสงจากดวงตาสู่ต่อมไพเนียลและต่อไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ. ปรากฏในหนังสือ Opera Philosophica, 1692.

ที่ตั้งของต่อมไพเนียลระหว่างสมองสองซีกของคน. ปลาก็มีตาที่สามบนหัวด้วย.

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อยู่รอบตัวคน ผ่านเข้าไปถึงต่อมไพเนียล และส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนไหวเป็นพิเศษโดยเฉพาะระบบประสาท พฤติกรรมเพศสัมพันธ์ วงจรการนอนหลับเป็นต้น. ภาพจาก 

ข้อความจากคัมภีร์ใหม่ฉบับของแม็ทธิว เขียนไว้ในความหมายว่า ตาคือหน้าต่างที่แสงส่องผ่านสู่ร่างกาย. 
เมื่อตาดวงนี้เปิด (หมายถึงตาที่สาม) แสงสว่างจักจำรัสไปทั่วทั้งร่าง (เห็นอดีตและอนาคต หรือเห็นไปในสามโลก) » (Matthew 6:22,23)  ภาพจากที่นี่

ดวงตาบนยอดสามเหลี่ยมปิรามิด แผ่รังสีแสงสว่างออกไปโดยรอบ เป็นตราแผ่นดิน
เห็นได้ในธนบัตรหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ. ภาพจาก 123fr.com

ภาพจิตรกรรม ประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ปี 1789” ต่อผู้แทนราษฎรของชาวฝรั่งเศส(เจาะจงในบรรทัดที่ขอบล่าง)  เป็นผลงานของ Jean-Jacques-François Le Barbier.  มีข้อความเหมือนจารึกลงบนแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสตรีสองคน นั่งขนาบซ้ายและขวา ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรสั่งให้พระราชกฤษีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ด้วยความเห็นชอบของพระเจ้าแผ่นดิน ภายหลังการประชุมในสภาฯระหว่างวันที่ 23, 24 และ 25 สิงหาคม ปี 1789.
ตอนบน มือขวาของเทวทูตถือคทาชี้ไปที่ดวงตาภายในสามเหลี่ยมปิรามิดบนท้องฟ้า ส่วนมือซ้ายชี้ลงไปที่ประกาศสิทธิฯ. สื่อให้รู้ว่า มีดวงตาของพระเจ้าคอยจับจ้องติดตามให้เป็นไปตามประกาศนี้.
สตรีด้านซ้ายของภาพ เครื่องนุ่งห่มแบบเรียบไร้เครื่องประดับตกแต่ง บอกให้รู้ว่าเป็นสตรีสามัญชน (ฝรั่งเศสเรียกภาพสตรีรูปลักษณ์แบบนี้ ที่กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของชาวฝรั่งเศส ว่า Mariane-มารีอาน).  แต่มารีอานคนนี้ มิได้สวมหมวกผ้า ที่เป็นสัญลักษณ์ของการสู้เพื่อเสรีภาพ (bonnet phrygien) เพราะการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้วในขณะนั้น แต่เป็นมงกุฎราชินี พร้อมเสื้อคลุมไหล่ตัวใหญ่ที่มีดอกลิลลีปักเป็นระยะ (fleur-de-lis). ทั้งมงกุฎและเสื้อคลุมเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ฝรั่งเศส. มือทั้งสองของสตรีคนนี้ จับปลายโซ่ตรวนที่ขาดแยกจากกันแล้ว. ตามองไปที่ดวงตาของพระเจ้าในท้องฟ้า เหมือนเชื่อและวางใจ. จิตรกรเจาะจงนัยว่า หญิงสามัญชนได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นข้าทาส มีอิสรภาพและเสรีภาพตามประกาศนี้ และมีฐานะเสมอด้วยราชินี.  
ให้สังเกตยอดทวนด้ามยาวที่แบ่งครึ่งภาพนี้  มีหมวกผ้าสีแดง ที่เรียกว่า bonnet phrygien สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวประชา (เหมือนบอกว่าหญิงสามัญชนถอดออก).
ภาพจาก commons.wikimedia.org  ดังเจาะจงว่า Jean-Jacques-François Le Barbier,1789 [Public domain]    

จิตรกรเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลายอย่างในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่สอดคล้องกับการนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ของศิลปินคนอื่นๆร่วมสมัยและที่บันทึกไว้ในเอกสารลายลักษณ์ของยุคนั้น.

โชติรส รายงาน
๔ กันยายน ๒๕๖๒.

No comments:

Post a Comment