Tuesday, September 24, 2019

Just listen

ฟังเติมเต็มชีวิต
           วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยืนยันว่า สรรพสิ่งในโลกคือคลื่นความถี่ คือการสั่นสะเทือน คือพลังงาน. การสั่นสะเทือน นอกจากทำให้เกิดพลังงาน ทำให้เกิดเสียงด้วย แต่ละเสียงมีสี มีรูปแบบเฉพาะ. เมื่อการสั่นสะเทือนอยู่ในความถี่ที่ต่ำมาก ตาคนมองเห็นสิ่งนั้น (แต่ต่ำมาก หูไม่ได้ยิน) และในที่สุดรวมกันเป็นสรรพสิ่งในโลกของวัตถุที่เรามองเห็นได้ด้วยตา.
           ทุกขณะแต่ละคนสั่นสะเทือน ส่วนต่างๆของร่างกายสั่นด้วยความถี่ต่างกัน. แต่ละคนจึงเป็นคอร์ดเสียงเฉพาะคอร์ดหนึ่ง (chord). สุขภาพดี หมายถึง คอร์ดเสียงอยู่ในสภาพสมดุลกลมเกลียว. หูเราเองไม่ได้ยินเสียงคอร์ดของเราเอง แต่หูคนปกติ ได้ยินเสียงอื่นๆอีกมากอย่างน่าอัศจรรย์. หูได้ยินเสียงตลอดเวลา แม้ในยามที่หลับสนิท. เสียงเล็กที่สุดที่หูได้ยิน ก็ทำให้เยื่อแก้วหูสั่นสะเทือน  เสียงดังที่สุดที่หูคนได้ยิน ทำให้แก้วหูสั่นเพิ่มได้ถึงหนึ่งล้านล้านเท่า.  นักวิทยาศาสตร์บอกว่า หูถูกสร้างขึ้นมามิใช่เพื่อการได้ยิน แต่เพื่อฟัง. การฟังเป็นพฤติกรรมที่ตื่นตัว เมื่อเทียบกับการได้ยินที่นิ่งอยู่กับที่. การฟังเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจ เป็นปฏิสัมพันธ์ของร่างกายกับเสียง.  ถึงกระนั้น เป็นทักษะที่ไม่เคยมีผู้ใดสอน.

เสียงคืออะไร?
        มีคำกล่าวในหมู่ชาวฮินดูว่า « Nada Brahma » ที่แปลเอาความได้ว่า โลกคือเสียง. มาจากคำสันสฤต nādabrahma (नादब्रह्म)  นาฎ แปลว่า เสียง กับคำว่า  พรหม คือ เทพเจ้า, รวมกันในความหมายว่า เสียงคือเทพเจ้า หรือ เสียงแห่งเทวะ.[1]
       เสียงเป็นปรากฏการณ์ฟิสิกส์แบบหนึ่ง การศึกษาเรื่องเสียงอยู่ในแขนงของอะคูสติกส์ หรือ โสตสัทศาสตร์. เสียงคือการเคลื่อนไหว. เสียงที่เราได้ยิน เกิดจากการสั่นสะเทือนของโมเลกุลอากาศที่กระทบหรือชนกัน. โมเลกุลในก๊าซหนึ่งกระจายออกไปทุกทิศทาง. โมเลกุลในก๊าซที่อุณหภูมิเย็นๆ เคลื่อนตัวน้อยกว่า ทำให้การปะทะของโมเลกุลมีน้อยกว่าและช้ากว่า. อากาศมิใช่ตัวกลางชนิดเดียวที่กระจายเสียง. เสียงเดินทางในสารเหลวหรือสารแข็งเร็วกว่าในอากาศ เพราะสารเหลวและสารแข็งมีโมเลกุลแน่นกว่าในก๊าซ โมเลกุลกระทบหรือชนกันมากกว่าและเร็วกว่า.  
        ณอุณหภูมิ 0⁰C เสียงเดินทางด้วยความเร็วในอากาศที่ประมาณ 331 เมตรต่อหนึ่งวินาที หรือราว 1230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง. แต่เสียงเดินทางด้วยความเร็วที่ 1450 เมตรต่อวินาทีในปรอทเหลว และที่ 5640 เมตรต่อวินาทีในกระจกหนา. ยิ่งโมเลกุลของตัวกลางที่เสียงผ่านเกาะกันแน่น เสียงยิ่งเดินทางเร็ว. เช่นนี้ ในอวกาศ แทบไม่ได้ยินเสียงใดเลย เพราะโมเลกุลในอวกาศอยู่ห่างไกลกันมาก(แบบสุดขอบฟ้า)  เมื่อโมเลกุลไม่มีการชนกันเลย จึงไม่เกิดเสียง.
        เสียงกระจายออกจากจุดกำเนิดเสียง ในแบบเดียวกับคลื่นวงๆบนผิวน้ำในสระ เมื่อเราโยนก้อนหินลงไป. คลื่นน้ำแผ่กระจายออกจากจุดที่ก้อนหินตกลงในน้ำ และกระจายเป็นคลื่นเป็นวงๆจากจุดนั้น ไปจนถึงขอบสระน้ำนั้น. ยิ่งไกลจากต้นกำเนิดเสียง การกระจายคลื่นยิ่งอ่อนลงๆ เพราะพลังงานลดลง.
        เมื่อเสียงเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหูของคน เยื่อแก้วหูสั่นสะเทือน มีกระดูกชิ้นเล็กๆในหู ที่รับส่งความสั่นนั้นต่อไปยัง cochlea-คอเคลีย ที่อยู่ในหูชั้นใน (เป็นอวัยวะรูปหอยโข่งที่มีน้ำหรือสารเหลวในนั้น) ความสั่นเป็นความกดไปกระทบน้ำในโพรงหูส่วนนั้น ส่งสัญญาณต่อไปยังโครงสร้างอีกส่วนหนึ่งในหูชั้นใน (organ of Corti อยู่ในคอเคลีย) ผู้แปลความเปลี่ยนแปลงของความกดเป็นสัญญาณไฟฟ้า ที่เดินทางต่อไปตามประสาทหูสู่สมอง และสมองในที่สุดแปลสัญญาไฟฟ้านั้นเป็นเสียง. เสียงมีหลายประเภท เป็นเสียงบริสุทธิ์(เสียงที่มีความถี่เดียว), เสียงดนตรี, เสียงพูด, เสียงรบกวน.
เสียงจากหูถึงสมองได้อย่างไร ดูคลิปนี้ >>
        โดยปริยาย หูเป็นประสาทรับเสียงที่สำคัญของคน. แต่คนหูหนวกสามารถรับรู้เสียงได้ด้วยประสาทสัมผัสอื่นๆที่ร่างกายพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนอย่างอัตโนมัติ. เขาสัมผัสการสั่น ความถี่ของเสียงได้ และรู้จักแยกแยะระดับเสียงสูงต่ำด้วย นี่เป็นความมหัศจรรย์ของร่างกายคน.
        เมื่อเกิดเสียงในพื้นที่ปิดแห่งหนึ่ง สมบัติและคุณภาพดีมากน้อยของห้องนั้น (เช่นผนังห้อง เฟอนิเจอร์ในนั้น) เป็นตัวชี้คุณภาพของเสียงที่ได้ยินในห้องนั้น มิใช่เพียงคุณภาพของวงดนตรีเท่านั้น (สั้นๆเช่น กำแพงแข็งสะท้อนเสียง ผิวหน้าอ่อนนุ่มดูดเสียง). เราเรียกคลื่นเสียงที่ได้ยินในบริบทห้องแสดงดนตรีเช่นนี้ว่า คลื่นอะคูสติกส์ ที่แผ่กระจายออกไปทุกทิศทางในห้องนั้น. เสียงสะท้อนหรือเสียงก้องไปมาภายในห้องดนตรีนั้น ทำให้ผู้ฟังเหมือนถูกโอบอุ้มอยู่ในเสียงดนตรีนั้นด้วย... 
        ในแง่ฟิสิกส์ คลื่นอะคูสติกส์ประกอบด้วยโมเลกุลของอากาศ. โมเลกุลเหล่านี้เป็นตัวพยุงเสียงและเคลื่อนที่จากหน้าไปหลัง ขนานไปกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น.  เมื่อคลื่นเสียงผ่านไปในอากาศ โมเลกุลแต่ละตัวแผ่พลังงานส่วนหนึ่งให้กับโมเลกุลที่อยู่ใกล้ๆกัน. และในท้ายที่สุด ยิ่งมีโมเลกุลอากาศเข้าไปกระทบแก้วหูด้วยแรงมากน้อยเพียงใด คลื่นยิ่งกว้างออกและเสียงที่ได้ยิน ยิ่งดัง.  หูรับรู้คลื่นเสียงด้วยตัวแปรเสริมสองแบบ (พารามิเตอร์ parameter) คือ ความถี่ของเสียง และความสูงของคลื่นเสียง (ความแรงเสียงหรือแอมพลิจูด).  เทคนิคการวัดเสียงนั้นค่อนข้างยุ่งยาก โดยทั่วไป คนจึงเลือกวัดความเข้ม หรือความสูงของคลื่นเสียง (intensity / amplitude-แอมพลิจูด) และใช้หน่วยวัดเป็นเดซิเบล (decibels). ความเข้มมากน้อยของเสียงทำให้เราได้ยิน เสียงดัง เสียงดังปานกลางหรือเสียงแผ่วเบา. ส่วนจำนวนคลื่นเสียงต่อวินาที คือความถี่ของเสียง วัดด้วยหน่วย Hertz. ความถี่เป็นตัวกำหนดประเภทของเสียง เป็นเสียงต่ำ เสียงแหลม เสียงทุ้มเป็นต้น. ถ้าคลื่นเสียงมีความถี่สูงและช่องห่างระหว่างคลื่น สั้นๆ  เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงแหลม. ในทางตรงกันข้าม หากจำนวนคลื่นลดลงและระยะห่างระหว่างคลื่นยืดยาวออกไป เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงลึกเข้าในลำคอ (a grave tone).
        เสียงที่มีความเข้มเท่ากัน มีความถี่เดียวกัน ไม่ทำให้เราได้ยินเหมือนกันเสมอไป. อธิบายได้ง่ายๆว่า เพราะน้ำเสียงต่างกัน (timbre fr = eng = ลักษณะเสียงร้อง, ท่วงทำนอง, น้ำเสียง). ในความเป็นจริง มีความถี่อื่นๆที่เข้าเพิ่มในความถี่หลักของเสียง (fundamental frequency หรือ musical pitch ของโน้ต) ความถี่อื่นที่ไม่ใช่ fundamental เรียกว่า harmonic หรือเสียงประสาน/ทำนองประสาน. น้ำเสียงที่ได้ยินขึ้นอยู่กับความเข้มของเสียงประสานเหล่านี้.

เสียงกับการฟัง
          การฟัง คือการจับเสียงที่เราต้องการด้วยการตัดเสียงอื่นๆที่เราไม่ต้องการ ไม่สนใจออก. โดยทั่วไป  ผู้ชายฟังแบบจับความ จับประเด็น. รู้กันบอกกันก็จบลง. ในขณะที่การฟังอีกประเภทหนึ่ง คือการฟังกว้างๆเหมือนขยายพื้นที่ออกไปแต่ไร้จุดหมาย.  ผู้หญิงส่วนใหญ่ฟังแบบนี้ ไม่มีจุดหมายสุดท้ายในใจ ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา โดยไม่ต้องการสาระใดนัก.  เหมือนผู้หญิงสองคนนั่งพูดคุยกัน แม้มองตากัน แต่ต่างคนต่างพูด (พูดออกมาหรือพูดในใจ) ไม่มีใครฟังใครจริงๆจังๆ.
          ปัญหาของการฟัง อยู่ที่สิ่งที่ได้ยิน ส่วนใหญ่เป็นเสียงรบกวนที่อยู่รอบตัว. เสียงแบบนั้น ตามสถิติของสหภาพยุโรป ทำลายสุขภาพและลดคุณภาพชีวิตลงไป 25%  นั่นคือ ชาวยุโรปราว 16 ล้านคนเป็นโรคนอนไม่หลับเพราะสาเหตุเรื่องเสียง.  เสียงได้ฆ่าชาวยุโรป 200,000 คนในแต่ละปี. นี่เป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว.
        หูคนจะได้ยินเสียงใด เสียงนั้นต้องมีความถี่ระหว่าง 20 Hz (ความถี่ที่ลุ่มลึกที่สุด) ถึง 20 000 Hz (ความถี่ที่สูงแหลมที่สุด). ความไวต่อการรับเสียงแปรเปลี่ยนไปตามความถี่ของเสียง. ผู้ชายเสียงทุ้มอยู่ในความถี่ต่ำๆ ส่วนผู้หญิงเสียงแหลมกว่า อยู่ในความถี่สูงกว่า. โดยทั่วไปถือว่า เสียงคนปกติ (หญิงชายรวมกัน) อยู่ในช่วงความถี่ของเสียง (voice frequency) ระหว่าง 250 Hz ถึง 4000 Hz (มากน้อยในระดับใกล้เคียงกันนี้ เพราะยังมีการแยกแยะด้วยว่าเป็นเสียงพูดของชาวยุโรปหรือชาวเอเชีย เพราะระบบเสียงในภาษาตะวันตกกับระบบเสียงในภาษาตะวันออก ที่มีเสียงวรรณยุกต์ ย่อมให้ความถี่แตกต่างกันด้วย).
        ความถี่ของเสียงใดที่ต่ำกว่า 20 Hz เรียกว่าเป็น เสียงอินฟรา หรือ infrasound. หูของสัตว์บางชนิด เช่นตัวตุ่น  จับเสียงที่มีความถี่เพียงไม่กี่ Hz ได้ เพราะประสาทรับเสียงความถี่ต่ำๆของพวกมัน อยู่ที่ 1 หรือ 2 อ็อกเทฟ (octaves). เสียงที่มีความถี่สูงกว่า 20 000 Hz เรียกว่าเป็นเสียงอุลตรา หรือ ultrasound. สัตว์บางชนิดได้ยินอุลตราซาวน์ โดยที่หูคนไม่อาจได้ยิน. สุนัขได้ยินความถี่เสียงสูงสุดที่ 40 kHz ส่วนค้างคาวได้ยินเสียงความถี่ 160 kHz
        หูคนมีสมรรถนะในการรับรู้ความดังของเสียงที่อยู่ระหว่าง 10 ถึง 140 decibels. เหนือเพดานความดังนี้ เสียงที่หูได้ยินจักทำอันตรายแก้วหูได้ หรือหากต่ำกว่าระดับต่ำสุด หูก็จะไม่ได้ยิน. 
         เสียงอยู่ทุกแห่ง (omnipresent) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต. บางทีเสียงทำให้เราหงุดหงิด รบกวนประสาท. แต่มีเสียงอื่นที่ทำให้พอใจ กล่อมให้เคลิ้ม หรือเร้าอารมณ์ เช่นเสียงนก เสียงดนตรี (ดนตรีมีหลายประเภทที่แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน). อย่างไรก็ตาม ชีวิตคนอยู่ในเสียงตลอดเวลา เราจะรู้ตัว จะฟังหรือได้ยินหรือไม่. ยิ่งในยุคของไอที ยุคศตวรรษที่ 21 นี้ คนดูเหมือนจะหนีเสียงไปไหนไม่พ้นแล้ว. โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยเสียง (noises) เป็นเสียงสับสน เสียงซ้อนเสียง เสียงอึกทึกครึกโครม ฟังไม่ได้ศัพท์ (ศัพท์ที่ใช้เพื่ออธิบายเสียงประเภทนี้คือคำ cacophony) รวมถึงสภาพของผู้คนพลุกพล่าน โกลาหล. การฟังในสภาวะเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้และทำให้หูล้ามาก. เพราะคนหูหนวกมากขึ้น หรือไม่ได้ยินเพราะไม่ฟังกันแล้ว  สื่อมวลชน ต้องตะโกนใส่เรา ด้วยการพาดหัวข่าวด้วยตัวอักษรใหญ่ขึ้นๆ เพื่อดึงความสนใจของคน. Julian Treasure จูเลียน เทรเชอร์ ที่ประกาศตนเป็นผู้ชำนาญเรื่องเสียง ได้รวบรวมปัจจัยหลายข้อที่ยืนยันว่า มนุษย์กำลังสูญเสียสมรรถนะการฟัง.


เสียงส่งผลกระทบต่อเรา อย่างไรบ้าง
๑. ทางกาย  เสียงส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนในร่างกายเราตลอดเวลา, ต่ออัตราการหายใจ, อัตราการเต้นของหัวใจ และต่อคลื่นสมองด้วย.  อยู่กับเสียงรบกวนแบบต่างๆนานๆติดต่อกัน ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น adrenaline และ cortisol ออกมาก ที่ไปเปลี่ยนองค์ประกอบของเลือดและโครงสร้างในระบบท่อส่งเลือด. มีการทดลองยืนยันแล้วว่า เพียงคืนเดียวที่นอนไม่หลับสนิทเพราะเสียงรบกวน ทำให้ท่อส่งเลือดแข็งตัวขึ้น.  สถิติปี 2011 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ชาวยุโรปตะวันตกประมาณ 1.6 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมเสียงที่เป็นปัจจัยของสุขภาพเสื่อม. การอยู่ในเสียงรบกวนเสมอๆ เป็นสาเหตุหนึ่งของความดันสูง หัวใจล้มเหลวและสโตร้ก และอาจมีแนวโน้มส่งผลต่อโรคอื่นๆเช่นมะเร็ง เบาหวาน.  เสียงรบกวนแบบต่างๆ ทำให้หลับยาก ความดันโลหิตไม่ลดลงในยามนอน  นานๆเข้านำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตัน.  ในโรงพยาบาลเสียงรบกวนนอกจากส่งผลต่อคนป่วย ยังส่งผลต่อเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานที่นั่นด้วย.  การวิจัยด้านการสื่อสารด้วยคำพูด บ่งบอกชัดเจนว่า คนต้องพูด(ตะเบ็ง)เสียงดังมากขึ้นเพื่อให้ได้ยิน.
       ถ้ามีโอกาส ควรเลือกอยู่ในบริบทเสียงที่ทำให้ผ่อนคลายให้มากที่สุด นอนในที่ไม่มีเสียงรบกวน. หลายคนบอกว่าเสียงคลื่นทะเล ที่มีความถี่อยู่ที่ 12 รอบต่อนาที ทำให้ผ่อนคลาย  อาจเพราะความถี่นี้ ตรงกับเสียงหายใจของคนที่กำลังนอน.  เสียงคลื่นทะเลจึงสะท้อนไปถึงการพักผ่อน และมีนัยยะเชื่อมโยงต่อไปถึงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงพักร้อน.
๒. ทางใจ  โดยเฉพาะดนตรี เป็นเสียงที่มีอำนาจสูงสุด ต่ออารมณ์ของคน (ทั้งอารมณ์แง่บวกเช่นความเพลินเพลิน และแง่ลบเช่นความเศร้า อาลัย).  เสียงในธรรมชาติ เช่นเสียงนกเป็นเสียงที่หลายคนชอบ บอกว่าฟังแล้วมั่นใจ. โบราณนานมาตามชนบท เสียงนกร้องเป็นนิมิตรดี อากาศดี วันไหนไม่มีเสียงนกเลย ผู้คนรู้สึกหวาดๆ บรรยากาศอึมครึม อาจเกิดเหตุร้ายในไม่ช้า. และคนก็เชื่อด้วยว่า เสียงสัตว์ เสียงนกร้องกี่ครั้ง (เกินกว่าปกติ) เป็นการเตือนภัยล่วงหน้า.  
สุนทรภู่กล่าวไว้ในพระอภัยมณีว่า 
        อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป             ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
 ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช                          จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน                       ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ                    อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์                    จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง
อิทธิพลของดนตรี และคำสรรเสริญศิลปะการเล่นการประพันธ์ดนตรี ปรากฏแทรกไว้เสมอเช่นกันในวรรณกรรมตะวันตก ในเทพปกรณัมกรีก โรมัน ในคัมภีร์เก่า เช่นในเรื่องของ Euphesus, Sappho, Pythagoras, Plato, David ในคัมภัร์เก่า และคนอื่นๆอีกจำนวนมาก.
๓. ทางปัญญา  เช่นทำงานในห้องที่เงียบกว่า ทำงานดีกว่า ความคิดแล่นไม่หยุดชะงัก มีประสิทธิผลมากกว่า  ทำงานในห้องโถงยาวใหญ่ที่รวมเจ้าหน้าที่ทุกคน (ห้องทำงานสมัยใหม่ มักเป็นเช่นนี้ เปิดโล่ง เห็นกันทุกคน มีเพียงฉากกั้นเตี้ยๆ เป็นสภาพห้องทำงานที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเสียงรบกวนรอบข้าง มากบ้างน้อนบ้าง โดยยังไม่พูดถึงความเป็นส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ที่ถูกลดลงไปมาก. ประสาทรับเสียงของคนมีแถบความกว้าง (เรียกว่าแบนด์วิดธ์ หรือ bandwidth) ไม่มาก  หูคนจะรับเสียงในแถบเสียงนี้ได้เท่านั้น หากมีเสียงสนทนาของหลายคน เสียงทั้งหลายรบกวนสมาธิในการคิดการทำงานของเขา.
ระบบเสียงก้องเสียงสะท้อนในห้องเรียนที่ไม่ดีพอ ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้ยิน ในที่สุดก็หยุดฟังเสียงครู ผลการเรียนอาจลดลงไปถึง 50%.  ห้องเรียนที่ดี ผนังห้องต้องซึมซับเสียงก้องเสียงสะท้อนในระดับมาตรฐานที่ 0.4 ต่อวินาที.
๔. ทางความประพฤติ  ทุกคนมีประสบการณ์เสียงในบริบทของเมืองใหญ่ เสียงทุกชนิด จากทุกทิศทาง นอกจากเสียงรถยนต์ เสียงเร่งเครื่ง เสียงท่อไอเสีย ยังมีเสียงจากการก่อสร้าง เสียงเจาะหรือขุดถนน ฯลฯ  สรุปว่าเกือบทั้งหมดเป็นเสียงรบกวน. ทำให้ทุกคนเครียด จนสร้างอารมณ์ฉุนฉียวรุนแรง.  เป็นการดีที่จะหนีออกห่างเสียงรบกวนทั้งหลาย ที่ทำลายสมรรถนะการฟังลงไปทุกวันๆ.
เดี๋ยวนี้ การโฆษณาชวนซื้อ ตามท้องถนน ตามร้าน ก็แพร่หลายกันมาก  หากใช้เสียงที่เกินความพอเหมาะพอควร ก็อาจทำให้เสียลูกค้าได้  เพราะทนเสียงโฆษณาที่ดังตลอดเวลาในร้านไม่ไหว.
การสร้างเสียงโลโก้ของสินค้าบางชนิด เป็นวิธีสะดวกและได้ผลมากโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดอีกเลย.  นึกถึงเสียงโลโก้ของ Intel Corporation ของสหรัฐฯ.  ทุกคนจำเสียงริงโทนของโนเกียได้ทันที (Nokia ringtone).  มีผู้ทำสถิติไว้ว่า มันดัง 1.8 ล้านล้านครั้งต่อวันในโลกเราทุกวันนี้.  แน่นอน มันฝังแน่นในความทรงจำของทุกคน.

ประติมากรรมประดับสวน Parque Ibirapuera ชานเมือง São Paulo ประเทศบราซิล  เนรมิตขึ้นเพื่อเตือนให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยจากเสียงดังเสียงรบกวน ของสมาคม ProAcustica


ปกป้องหูตัวเองให้ดีที่สุด ได้อย่างไรบ้าง?
1)  มีผู้แนะนำว่า พยายามอยู่ในความเงียบ อย่างน้อยสามนาทีทุกวัน เพื่อทวงคืนการได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อย เสียงแผ่วๆ จนถึงเสียงความเงียบ.  เราต้องบริหารจัดการเสียงที่อยู่รอบๆตัวเรา เพื่อปกป้องหูเรา หากทำในสถานที่ทำงานไม่ได้  หาหูฟังปิดหูบ้างเป็นครั้งเป็นคราว  เพื่อให้หูได้สัมผัสความเงียบสัมพัทธ์บ้าง. และต้องกล้าที่จะเตือนคนที่ส่งเสียงดังเอะอะรบกวนคนอื่นด้วย.
2) พยายามแยกแยะเสียงในพื้นที่ เช่น ในธรรมชาติ เงี่ยหูฟังเสียงนก นกกี่ตัว เสียงเหมือนกันไหม, ฟังเสียงน้ำ เสียงน้ำไหลไปบนพื้นที่แบบต่างๆ ไหลผ่านอะไร กระทบกรวดหรือหินก้อนใหญ่เป็นต้น. นี่เป็นการพัฒนาคุณภาพของการฟัง.  ฟังเสียงนกสักห้านาทีต่อวัน ก็มีคุณต่อหูมาก. เสียงประเภทดีต่อหูเรา คือ WWB หมายถึง wind, water, birds. ตัวอย่างเสียงในธรรมชาติ ในสภาวะพื้นที่แบบต่างๆ เป็นเสียงที่ดีต่อสุขภาพ.
3) ฟังเสียงในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย (ที่ไม่ดังอึกทึกจนทำให้อารมณ์เสีย) สร้างความอบอุ่นใจว่าอยู่ในโซนส่วนตัวและปลอดภัย  เช่นเสียงเป่าผม เสียงโกนหนวด เสียงผัดกับข้าว เสียงเครื่องบดกาแฟ ฯลฯ ทั้งหมดรวมกันมีนัยยะสำคัญ ในยามที่อยู่ห่างจากบ้าน เสียงเหล่านี้เป็นซิมโฟนีชีวิตที่เชื่อมเรากับบุคคลที่เรารักและคุ้นเคย นำความสุขใจมาให้. 
4) ฝึกฟังเสียงเดียวกัน ด้วยการย้ายจุดฟัง เช่น ไปยืนในมุมอื่นๆของบ้าน ฟังดูความแตกต่าง อะไรที่ทำให้เสียงแตกต่างไป  มีอะไรขวาง ผนังห้องไม่เหมือนกัน เป็นต้น. นี่เป็นการลับประสาทหูให้รู้จักแยกแยะเสียงที่ดีมากวิธีหนึ่ง. ฝึกให้ตั้งใจฟัง ซึ่งอาจเปิดมิติใหม่ นำไปสู่การค้นพบเสียงก้องเสียงสะท้อนใหม่ๆ. ยิ่งพบเสียงใหม่ที่สวยงาม นำความปิติที่ล้ำลึก ดังตัวอย่างของคุณหญิง Evelyn Glennie ผู้ไม่เคยลดละในการจับคลื่นเสียงใหม่ๆ ที่นำเธอเสกสรรค์ดนตรีในแนวใหม่อยู่เสมอ. (Ref. The wonder that is Evelyn Glennie
5) Julian Treasure แนะว่า การแทรกเสียงสั้น เสียงฮึมในลำคอ เสียงหัวเราะ หรือคำสั้นๆเช่น งั้นหรือ อ้าว เอ ว้าว ฮึม ฮะฮ่า ฯลฯ  คำประเภทนี้ เรียกโดยรวมว่า รัสพจน์ (มาจากคำสันสกฤต ร-ส ที่มาเป็นคำ รส ในภาษาไทย)  คำพวกนี้ มีความหมายในบริบท ที่แทรกสร้างสีสันในการฟังการสนทนา.  เป็นการฝึกใช้เสียงสื่อความหมายเสริม โดยใช้คำน้อยที่สุด.
6) เสียงคนเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่มีคนไม่กี่คนที่เรียนรู้การใช้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ที่มีในครอบครอง. ควรเรียน ควรมีการสอนให้ใช้เป็น ร้องเพลงเป็น เข้าร่วมร้องเพลงในกลุ่ม หรือเรียนเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งชนิดใด.  นักดนตรีมักมีสมองใหญ่กว่าคนอื่น. ฝึกดนตรีเป็นยาต้านโรค schizophonia ได้อย่างวิเศษ.  (คำนี้ Murray Schafer เป็นคนคิดขึ้น หมายถึงสภาวะผิดปกติในระบบประสาท ที่ทำให้ได้ยินเสียงคนอื่น ที่ไม่อยู่ตรงนั้นเวลานั้น. แบบหูหลอนว่าคนนั้นอยู่ข้างๆใกล้ๆ)
7)  สมัยเด็กๆ เมื่อเราไม่อยากฟังเสียงใด เราเอามืออุดหู เดี๋ยวนี้เราก็ยังทำแบบนั้นได้ ดีกว่าทรมานหูตัวเองด้วยเสียงที่ไม่น่าอภิรมย์ทั้งหลาย.  ปัจจุบันมีอุปกรณ์หูฟังขนาดเล็ก ที่เราเสียบเข้าในช่องหูแทนนิ้ว. หลายคนใช้หูฟังขนาดใหญ่ครอบทั้งใบหูเลย (headphone) เพื่อหยุดเสียงรบกวน เพื่อปกป้องหูของเขา.  แต่การใช้หูฟัง ก็สร้างปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน. เช่นใช้บ่อยๆทำให้เกิดเสียงหลอน คือตกอยู่ในสภาวะของ schizophonia ได้. การใช้หูฟังมากเกินไป ฟังบันทึกเสียงดนตรีที่เราชอบทั้งหลาย เป็นวงดนตรีฉบับพกพาส่วนตัว หากฟังอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาว ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นการบีบคั้นหูมากเกินไป. นอกจากนี้ เสียงที่ได้ยินใกล้แก้วหูแบบนั้น มักดังเกินไปเพื่อกลบเสียงอึกทึกรอบตัว. แก้วหูทำงานหนักเกินไป. การใช้นานๆ จึงอาจเป็นสาเหตุของความพิการได้ในที่สุด เพราะทำให้สมรรถนะการฟังตามปกติของคนหูปกติ เสื่อมลงไปเรื่อยๆ. มีสถิติระบุว่า ชาวอเมริกันสิบล้านคนมีปัญหาแบบนี้.  ประมาณหนึ่งในหกของวัยรุ่นอเมริกัน มีปัญหาการฟังแล้วจากการใช้หูฟังจนเป็นนิสัย.  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งหนึ่ง ระบุว่า 61% ของนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง มีปัญหาการฟังถดถอยเพราะสาเหตุจากการใช้หูฟัง. (cf. Mathias Basner)[2]  รุ่นเราที่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่า กำลังเลี้ยงรุ่นลูกหลานที่สมรรถนะการฟังถดถอยลงเรื่อยๆ หากเราไม่ปกป้องคุ้มครองพวกเขาตั้งแต่ตอนนี้.  หากจำเป็นต้องใช้หูฟัง ซื้อที่มีคุณภาพดี่สุดที่ทำได้  ฟังอะไรจากหูฟัง ต้องพยายามลดความดังของเสียงลงให้มากที่สุด มิใช่ให้เสียงภายในหูกลบเสียงข้างนอก.  ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกินไป เสียงไม่น่าฟังทั้งหลาย ให้เอามืออุดหู หรือเดินออกจากบริเวณนั้นเลย.
8) เดี๋ยวนี้ คนใช้เสียงบำบัดโรค  เป็นวิธีการรักษาที่วิเศษยิ่ง.  ความจริงคนโบราณใช้กันมาเป็นพันๆปีแล้ว. ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอื่นๆเช่น autism, dementia. ในทำนองของดนตรีบำบัด  ยิ่งเป็นดนตรีที่เสกสรรค์ขึ้นด้วยความตั้งใจอันดีงาม ด้วยความรักความเมตตา ยิ่งมีประสิทธิภาพสูง ดนตรีศาสนา ดนตรีของโมสาร์ท เสียงสวดมนตร์เย็นๆ เสียงทุ้มๆเป็นต้น. ดนตรีหลายประเภทดีต่อสุขภาพจริงๆ.
          นอกจากนี้  ก็ใช้อุลตราซาวน์ได้ด้วย ขณะนี้ มีคนใช้เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยเป็นมะเร็ง. วิธีการรักษาคือการใช้คลื่นความสั่นสะเทือนอุลตราซาวด์ (ความถี่ที่สูงกว่า 20 000 Hz) แตะลงบนตัวบริเวณที่มีปัญหา ให้คลื่นนี้เข้าไปเขย่าอวัยวะภายใน ด้วยความหวังว่า ก้อนนิ่วในไตหรือก้อนเนื้อที่ไม่พึงมีในร่างกาย แตกสลายเป็นอนุภาคเล็กๆที่ร่างกายขับออกไปได้ (เรียกวิธีการรักษานี้ว่า lithotripsy) แทนการใช้มีดเล็กปลายแหลมผ่าตัดก้อนเนื้อออกมา.


คิดต่อไป...
         การสูญเสียสมรรถนะการฟัง มีส่วนมาจากวิวัฒนาการของสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้บันทึกแบบต่างๆ ตั้งแต่กระดาษ เครื่องอัดเสียง วีดีโอ บลูเรย์และอื่นๆ ทำให้การฟัง ความตั้งใจในการฟัง ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ. เดี๋ยวนี้คนไม่สนใจพูดในที่สาธารณะ  ศิลปะการเจารจา การสนทนาพาที (rhetoric หรือ dialectic) ถูกละทิ้งลง กลายเป็นการออกอากาศส่วนตัว สร้างคลิปวีดีทัศน์ของตัวเอง และด้วยเทคโนไอที กำลังกลายเป็นศิลปะการบิดเบือนหรือสร้างให้เชื่อให้หลง. 
          ประสาทสัมผัสเสียงของคนถูดลดความละเอียดลงไปจนถึงขีดอันตรายแล้ว.  เท่ากับว่า การใส่ใจ การเข้าถึงความเงียบ เสียงเล็กเสียงน้อย เสียงพึมพำ เสียงแผ่วเบา เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น. นี่เป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป.  โลกที่ไม่มีใครฟังใคร เป็นโลกที่น่ากลัว. เหมือนดังที่คุณหญิง Evelyn Glennie ได้ตั้งพันธกิจส่วนตัวว่า จะสอนโลกให้ฟัง ให้รู้จักฟัง. 
          เป็นหน้าที่ของเราต่อเยาวชน เราต้องเปลี่ยนโลกให้เป็นโลกของการฟังซึ่งกันและกัน ให้เป็นโลกของความเข้าใจกันและกัน จนเป็นโลกของสันติสุขในที่สุด. 
การฟังเติมเต็มชีวิต เชื่อมต่อติดกับทุกสถานทุกกาล กับโลกกายภาพรอบตัว และแน่นอนเชื่อมจิตวิญญาณ.  ทุกเส้นทางสู่โลกของจิตวิญญาณ  มีการฟัง การทำสมาธิกับการเจริญสติ เป็นศูนย์กลาง. 

          เรามีนักออกแบบผังเมือง สถาปนิก ผู้ดีไซน์สถาปัตยกรรมของชาติ ของยุค อาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัย บ้านส่วนตัว หรืออาคารสำนักงาน พื้นที่สาธารณะทุกแบบทุกชนิด  แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีใครเป็นนักออกแบบสถาปัตยกรรมเสียง สร้างผังเสียงของเมือง แปลนเสียงของอาคารบ้านเรือน ของสำนักงาน ของบ้านที่พักอาศัย ของพื้นที่สาธารณะ. มีกี่คนที่คิดไปถึงการป้องกันพื้นที่ทั้งหลายในโลกของเรา ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากมลภาวะทางเสียง. สถาปัตยกรรมปัจจุบัน มิได้ออกแบบเพื่อลดเสียงหรือควบคุมเสียง  จึงมีส่วนทำลายเส้นประสาทเรา ทำให้เราคลุ้มคลั่งได้. ไม่เพียงแต่คุณภาพชีวิตของเราถูกทำลาย แต่สุขภาพ พฤติกรรมในสังคม การทำงานอย่างมีประสิทธิผล ทั้งหมดตกอยู่ใต้อิทธิพลของเสียงที่ล้อมรอบตัวเราเป็นกำแพงหนาที่ตามองไม่เห็นและที่เราหนีออกไปได้ยากเหลือเกิน. 
          ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องออกแบบเพื่อหูของเรา.  สถาปนิกและดีไซเนอร์ทั้งหลายต้องโฟกัสไปที่ประเด็นต่างๆเกี่ยวกับเสียง  ดังได้กล่าวมาข้างต้น.  เป็นการออกแบบประสบการณ์ ให้เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในมิติที่ตามองไม่เห็น เป็น สถาปัตยกรรมล่องหน (invisible architecture เป็นสำนวนที่ Richard Mazuch สถาปนิกชาวอังกฤษผู้คิดขึ้น) สร้างภูมิทัศน์เสียง (soundscape) ให้เป็นงานศิลป์ชิ้นหนึ่ง ควบคู่ไปกับภูมิทัศน์ทางกายภาพ. การดีไซน์เสียง จักเป็นวิถีใหม่ในอนาคตเพื่อสร้างโลกของเสียงที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ.  งานออกแบบสำหรับอนาคต จำต้องรวมนักอะคูสติกส์ ผู้แทนจากภาครัฐ ครู วิศวกร สถาปนิกฯลฯ เพื่อถกและอภิปรายปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อหู ให้มีพื้นที่เงียบสงบ เสริมสุขอนามัยและจัดระบบการเรียนการสอนการฟังให้ดีที่สุด.
          ด้านการศึกษา จำเป็นต้องเบนการเรียนการสอนไปที่การฝึกฟังและการพัฒนาสมรรถนะที่ละเอียดเกี่ยวกับการจับเสียงเล็กเสียงน้อย ตั้งแต่วัยเด็ก ปลูกฝังให้เป็นทักษะติดตัวไปตลอดชีวิต นำเขาออกจากบริบทเสียงรบกวนทั้งหลาย. ต้องบูรณะฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างคนกับเสียงขึ้นใหม่. การรู้จักฟังสำคัญมาก การฟังคือการทำสมาธิวิธีหนึ่ง ที่ลับประสาทสัมผัสของคนไปถึงที่สุด.
        ประโยคหนึ่งจากยุคศตวรรษที่ 16 กล่าวไว้ชวนคิดว่า  Silence is beautiful... language (is the) decorated silence.  ความเงียบเป็นความงาม  ภาษาเขียนหรือหนังสือ คือความเงียบที่ประดับตกแต่งจนงามตา.
         Robert Koch (1843-1910 นักฟิสิกส์และนักจุลชีววิทยา ชาวเยอรมัน ได้รางวัลโนเบลในปี 1905) เคยกล่าวไว้ว่า « วันหนึ่ง มนุษยชาติ จักต่อสู้กับเสียงอย่างไม่ลดละ เหมือนสู้กับอหิวาตกโรคและโรคระบาด »  ยุคนั้นเมื่อเขาเอ่ยประโยคนี้ ยังคงมีรถม้าแล่นไปบนถนนปูหินกรวด แต่ไม่กี่ปีต่อมา เสียงเครื่องยนต์คำราม ดังกึกก้องไปทั่วกรุงแบร์ลินแต่ละวัน เพราะมีรถยนต์มากกว่า 33000 คัน.
          วันนั้นมาถึงแล้ว ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อเราปราบเสียงได้ สยบและควบคุมเสียงได้  เราจะมาร่วมฉลองกันให้เบิกบาน โล่งใจ สัมผัสความงามของความเงียบในความสงบสุขที่สมบูรณ์

https://www.auditionsolidarite.org/fr/des-bons-conseils/

โชติรส รายงาน
๒๔ กันยายน ๒๕๖๒.



 1. In the form of sound (nada) I recall the [god] Brahma, in the form of sound I recall the [god] Visnu [here: Janardana], in the form of sound I recall the supreme transcendental power (para sakti) [of the great god Siva] – therefore this [whole] world is by its nature sound. (quote of Matanga’s Brhaddesi, 1.18-19)
กล่าวไว้ว่าคัมภีร์ศาสนาฮินดูว่า พระเวทคือเสียงศักดิ์สิทธิ์ คือการสั่นสะเทือน ที่ควบคุมสรรพสิ่งภายในและนอกเหนือ “ความว่าง” (Vacuum). การสร้างและการทำลาย วิวัฒน์ไปรอบๆเสียงศักดิ์สิทธิ์ ที่คือเสียง โอม   โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หมุนโคจรและปกป้องสรรพชีวิตด้วยความถี่ธรรมชาติที่ 7.83 Hz ที่เป็นเสียงความถี่เมื่อพูดคำว่า โอม. เสียงศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู เป็นเวคเตอร์ที่รักษาความสมดุลของโลกและการโคจรของดาวเคราะห์อื่นๆ. คลื่นสมอง(ห้าชนิด) มีบทบาทสำคัญต่อความยืดหยุ่นและหรือการปฏิบัติการ เพื่อปราบหรือบริหารความเครียด เพื่อการทำงานยากๆได้อย่างมีสมาธิ ตลอดจนการนอนหลับอย่างมีคุณภาพในแต่ละคืน. หากมีเพียงคลื่นใดคลื่นหนึ่ง ที่มีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ปัญหาก็เกิด ฯลฯ  Ref. https://haribhakt.com/brain-waves-theory-of-bhagavad-gitas-consciousness-and-vedas/

2.  Mathias Basner, MD, PhD, MSc is an associate professor in the department of psychiatry at the University of Pennsylvania Perelman School of Medicine.  ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Sleep Health and Frontiers in Physiology.