Saturday, May 4, 2019

La Gourmandise

รักกิน
เมื่อวาน ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หลังจากอิ่มหนำสำราญในหมู่เพื่อนๆเกือบ ๕๐ คน กลับมานั่งนึกถึงคำบอกเล่าของดันเต้ (Dante, in la Divina Commedia) ที่ลงไปในนรกและพบว่า ผู้ที่เคยทำบาปความตะกละ ถูกส่งลงไปในนรกขุมที่สาม. ทำไมการกินเป็นบาปได้ถึงเพียงนั้นในศาสนาคริสต์.
       ในยุโรป บาปของความตะกละชัดเจนมากขึ้นในยุคเรอแนสซ็องส์. อิทธิพลความรักกินของชาวอิตาเลียนในสมัยเมดีชี และแผ่เข้าสู่ฝรั่งเศสกับ Catherine de Medici เมื่อมาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าเฮ็นรีที่สองยุคนั้นเองที่หนังสือธรรมหรือคำสอนหลายกระแสจากหลายผู้นำและปราชญ์ทางศาสนา แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับความตะกละ และในที่สุดจัดความตะกละเป็นหนึ่งในบาปหนัก ๗ ประการ.
      การกินเริ่มเบนออกจากการกินเพื่ออยู่ สู่การกินเพื่ออวด, จากการกินแบบสมถะ สู่การกินอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย. จากการเก็บกินพืชผลในธรรมชาติและสัตว์ไม่กี่ชนิดที่ล่ามาได้ ไปสู่การสรรหาเลือกเฟ้นความหลากหลายและสิ่งแปลกใหม่ทั้งจากธรรมชาติและจากสรรพสัตว์จากสำนวนที่คุ้นหูในต้นศตวรรษที่ 19 ว่า «บอกสิว่าเธอกินอะไร ฉันจะบอกว่าเธอเป็นคนแบบไหน» (Dis-moi ce que tu manges, je te dirai ce que tu es. Cf. Brillat-Savarin, 1825) มายังสำนวนแมนๆว่า «มองพฤติกรรมการกินของผู้ชาย เธอจะรู้ว่าเขาแสดงความรักอย่างไรบนเตียง» (Regarde comment  un homme mange, tu sauras comment il fait l'amour.) และจบลงที่สำนวนศตวรรษที่ 21 เมื่ออาหารระบุระดับสถานะและตอกย้ำอัตลักษณ์ของคน ของตัวตนของตัวเองเป็นประเด็นสำคัญ ดังสำนวนแนวใหม่ว่า «ดูว่าฉันกินที่ไหน เธอจะรู้ว่าฉันเป็นใคร» (Regarde où je mange, tu sauras qui je suis. Cf. Monte Carlo). 
        ความสุขของการกินเป็นสิ่งที่ห้ามกันยากมากเพราะเป็นทั้งสัญชาตญาณและเป็นผลของวัฒนธรรมยิ่งกว่าสามัญชน พวกบาทหลวงเองนั่นแหละที่ทำบาปเรื่องนี้ เพราะกินดีอยู่ดีเกินไปส่วนในสังคม ไม่มีใครสนใจข้อบังคับของศาสนา ตรงกันข้าม การกินกลายเป็นที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกัน เช่น การครัว การปรุงแต่งอาหารคาวหวาน การจัดอาหาร กระบวนการเสิร์ฟ เครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้วสำหรับดื่ม รวมถึงการประดิษฐ์ช้อนส้อมมีดแบบต่างๆเพื่ออาหารแต่ละประเภท การนั่งโต๊ะ กิริยามารยาท ฯลฯ. ในที่สุด สังคมได้ยกระดับการกินขึ้นเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ไม่มีศิลปะแขนงใดพัฒนากว้างไกลเท่าศิลปะการทำอาหารและโภชนศาสตร์ ที่ดูเหมือนเป็นที่ชอบอกชอบใจของคนส่วนใหญ่ และทำให้เกิดอาชีพใหม่จำนวนมาก ที่รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมกล่องอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก เครื่องครัว การจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ การแข่งขันทำอาหาร การแข่งขันกินมากที่สุดในเวลาน้อยที่สุด จนถึงยาช่วยย่อย ยาแก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อฯลฯ สารพัดจะมีที่เกี่ยวเนื่องกับการกินการเสพ เป็นธุรกิจทำเงินอันดับแรกที่ดูเหมือนไม่มีวันล่มสลาย. 
        ตามไปดูกันว่า เขาพรรณนาคนตะกละไว้อย่างไรในอดีต.

        เริ่มตั้งแต่ต้นคริสตกาล องค์การศาสนาจัดประเภทบาป เพื่อเตือนสติแก่ชาวคริสต์ว่า มนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะตกลงในปลักของบาปคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแบ่งบาปออกเป็นสองประเภทคือ บาปที่ไม่รุนแรง พอจะให้อภัยกันได้ กับบาปรุนแรงขั้นชีวิตตามทฤษฎีเทวศาสตร์ บาปที่รุนแรงขั้นชีวิต (the deadly sins) เพราะบาปนั้นไปทำลายวิญญาณที่เคยมีความรักต่อพระเจ้าและที่ทำให้เขามีความหวังมีศรัทธาในพระองค์ผู้จะแผ่ พระเมตตาวิลาสล้ำ(Grace)ให้เขาหากวิญญาณส่วนนี้ถูกทำลายลง เท่ากับว่าผู้นั้นจะถูกส่งลงนรกแบบไม่ได้ไปผุดไปเกิดตลอดกาลในกรณีที่กลับใจหันหลังให้บาปเลวร้ายที่ได้ทำมา ก็เกิดความจำเป็นต้องไปวิงวอนขอความเมตตาต่อพระเจ้า ต้องไปสารภาพบาป ทำทุกรกิริยาแสดงตนว่าสำนึกกลัวแล้ว และเข้าพิธีเพื่อขอยอมตนยอมจำนนต่อกฎบัญญัติของศาสนาอีกครั้งหนึ่งบาปเลวร้ายเจ็ดประการนี้ เป็นบาปที่มีกันมาแต่เริ่มแรกที่มีมนุษย์แล้ว บาปใดจะให้อภัยกันได้ บาปใดเป็นความชั่วร้ายสุดๆนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การทำบาปนั้น มิได้มีการเจาะจงแบ่งประเภทก่อนกระทำบาปบาปทั้งเจ็ดประเภทเป็นบาปหลักหรือบาปหนัก เพราะทำให้ทำบาปอื่นๆต่อเนื่องกันไปอีก.   
        มีจารึกโบราณหลายฉบับที่กล่าวถึงบาปหนักเจ็ดประการ ผู้สนใจตามไปอ่านรายละเอียดได้ในบล็อกเรื่อง ต้นตำรับจริยธรรมตะวันตก ตามลิงค์นี้ https://chotiroskovith.blogspot.com/2018/10/virtues-vices.html

ศาสนาคริสต์จำแนกแยกแยะบาป เป็นสามกลุ่มใหญ่ดังนี้
ก)  กลุ่มของความอยาก กระหายทางเพศที่เกินขอบเขต ในกลุ่มนี้รวมความตะกละเข้าไปด้วย เพราะในด้านจิตวิทยา ความตะกละกับความกระหายกามนั้นเหมือนกัน
ข)  กลุ่มของความโกรธ
ค)  กลุ่มที่เกี่ยวกับจิตสำนึกและสติ เช่นความหลง การโอ้อวด ความเศร้า ความหยิ่ง การหมดกำลังใจ
ในที่นี้จะยกมาให้เห็นเกี่ยวกับความตะกละเท่านั้น

กู๊ลา- gula (ความตะกละ ตรงกับคำ gluttonyในอังกฤษหมายถึงการกลืนกินอย่างตะกละตะกลาม เห็นแก่กินมากเกินไปจนกลายเป็นความสูญเปล่าของอาหาร (สูญเปล่า เพราะกินโดยไม่ทันรู้รสใด ไม่ได้เห็นคุณค่าของอาหารเป็นต้น เหมือนเอาอะไรก็ได้ยัดใส่ปากให้เต็มๆ)แบบนี้เป็นบาปเพราะกินเกินความต้องการของร่างกายความตะกละเป็นสัญลักษณ์ของสถานะในสังคมโดยเฉพาะในสังคมที่ขาดแคลนอาหารการมีอาหารดีๆกิน จึงอาจเป็นความหลงตัว เป็นการอวดตัวแบบหนึ่ง
       ในคริสต์ศาสนา เขาจัดคู่ความตะกละว่าตรงข้ามกับการรู้จักควบคุมตนเอง รู้จักละเว้นและอยู่ในความพอดีพอเพียง(Temperantia).  ตั้งแต่ศตวรรษที่ บาทหลวงปนตีกุส(Ponticus) เป็นผู้จัดความตะกละให้เป็นหนึ่งในบาปหนักเจ็ดชนิด
       ต่อมาในศตวรรษที่ สันตะปาปาเกรกอรีที่1 (Gregory I) ได้จัดความตะกละอยู่ในกลุ่มเดียวกับความกระหายอยากทางเพศ โดยให้เหตุผลว่า ท้อง(เรื่องกินอยู่ใกล้ท้องน้อย(ฐานของความใคร่)เขาเจาะจงว่าคนทำบาปชนิดนี้ได้ห้าทางคือ
) เวลาที่กิน คือการกินก่อนเวลาอาหาร 
คุณภาพของอาหาร คือการใฝ่หาอาหารอร่อยและคุณภาพดี 
สิ่งกระตุ้น คือการใฝ่หาน้ำซอสและเครื่องปรุงพิเศษเพื่อสนอง ความสุขของเพดานปาก 
ปริมาณ คือการกินเกินความจำเป็นและ
ความปรารถนา คือการกินด้วยความกระหายอยาก นอกกรอบของเหตุผล
        นักเทววิทยายุคกลาง เน้นความตะกละกับบาปกำเนิด ความหยิ่งทะนงตัวและความไม่เชื่อฟัง ดังที่เกิดกับอาดัมและอีฟ(ที่ไปกินผลไม้ต้องห้ามจนในที่สุดถูกพระเจ้าลงโทษผู้นำจิตวิญญาณศาสนายุคนั้นเช่น โทมัส อากีนัส (Thomas Aquinas, 1225-1274 บาทหลวงโดมินิกันชาวอิตาเลียนพิจารณาและเน้น กระบวนการของความตะกละอย่างละเอียดลออ ที่เริ่มตั้งแต่
การใฝ่คิดถึงอาหารก่อนกิน
การกินก่อนเวลาอันควร
การกินอาหารที่หายากและราคาแพง
การกินมากเกินไป
การกินอย่างตะกละตะกลาม
การกินอย่างประณีตที่ให้ความสำคัญกับการกินแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน
การกินอย่างสัตว์
หรือแม้การกินอย่างเบื่อหน่าย (เพราะเท่ากับไม่เห็นคุณค่าของอาหารและไม่รู้คุณคนทำ). 
ทั้งหมดถือเป็นบาปความตะกละที่สอดคล้องกับคำจำกัดความของสันตะปาปาเกรกอรีที่ดังกล่าวมาข้างต้น และที่นำไปสู่การทำบาปชนิดอื่น
        ในปลายยุคกลาง เมื่อความเข้มงวดในการดำรงชีวิตในอารามนักบวช ลดหย่อนผ่อนคลายลง มีการยกเลิกเทศกาลการถือศีลอด (Lent เทศกาลนี้เกิดขึ้นสี่สิบวันก่อนวันอีสเตอร์ เทศกาลนี้เริ่มตั้งแต่วันพุธที่เรียกว่า Ash Wednesday นับติดต่อกันไปสี่สิบวันและจบลงที่วันเสาร์อันศักดิ์ศิทธิ์-Holy Saturday)ในระหว่างสี่สิบวันนี้ ชาวคริสต์ที่ดี อดอาหารหรือกินแต่น้อย ละเว้นการดื่มสุราและการมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งทำทุกรกิริยา เพื่อรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ที่ได้ถือศีลอดในทะเลทรายตั้งแต่นั้น ชาวคริสต์น้อยคนยอมอดอาหาร แต่ก็ยังมีบ้าง.
        ดันเต้ (Dante, in la Divina Commedia) เล่าว่าเมื่อผ่านลงไปในนรกและพบผู้ที่เคยทำบาปความตะกละ ถูกส่งลงไปในนรกขุมที่สาม นอนจมอยู่ในโคลนตมที่เหม็นเน่า ถูกสายฝนดำและเย็นยะเยือกกับน้ำค้างแข็งกระหน่ำมิรู้หยุด.          
        ปลายยุคกลาง ร้อยละห้าสิบของพื้นที่ดินภายในอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นที่ดินของวัดและอารามในคริสต์ศาสนานิทานคำกลอนยุคกลางกล่าวถึง นักบวชผู้อ้วนท้วนสมบูรณ์ ที่ยืนยันให้รู้ว่า เหล่านักบวชกินและอยู่ดีเกินไป ทำให้คิดต่อไปได้ว่า พวกเขาไม่มีเวลาเหลือสำหรับการสวดมนต์ภาวนาหรือการปฏิบัติภารกิจของนักบวช.
        ในศตวรรษที่ 16 มาร์ตินลูเธอร์ (Martin Luther, 1483-1546 ชาวเยอรมัน ผู้ปฏิรูปคริสต์ศาสนาและวางรากฐานของนิกายโปรเตสแตนต์ได้กล่าวโจมตีเหล่า นักเทววิทยาของท้อง ที่ให้ยกเลิกการถือศีลอด ทำให้ชาวคริสต์พอกพูนบาปต่างๆและหมดโอกาสพินิจพิจารณาตนเอง หมดโอกาสชำระล้างร่างกายและจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์
        ฌ็อง กัลวิน (Jean Calvin, 1509-1564 ชาวฝรั่งเศส นักเขียนและนักปฏิรูปศาสนาผู้วางพื้นฐานใหม่ของเทววิทยาเป็นกระแส กัลป์วีนิซึม - calvinisme) ได้เขียน (ใน Traité des Scandales ว่าด้วยเรื่องอื้อฉาวแบบต่างๆที่สื่อนัยต่อต้านคริสต์ศาสนาบริภาษนักบวชที่มี ท้องเป็นพระเจ้า และครัวเป็นศาสนา.  
        ในศตวรรษที่ 17 สันตะปาปาอินโนเซ็นต์ที่ 11 ยืนยันว่า การกินหรือการดื่มที่มีจุดหมายเพื่อสนองรสนิยมการกินส่วนตัวนั้น ถือเป็นบาปการกินเพราะความอยากลิ้มรสอาหารแบบนั้นแบบนี้ เป็นบาป หรือการกินเพื่อใฝ่หาความสุขแม้อาหารจะสามัญอย่างใดก็ถือว่าทำผิดศีลแต่ความพอใจที่เกิดขึ้นในขณะกินอาหารนั้น ไม่ถือว่าผิดเพราะเป็นความรู้สึกธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อสัมผัสรสอาหาร เพราะฉะนั้นเหล่านักบวชอาจกินเนื้อสัตว์แล้วรู้สึกอร่อยได้โดยไม่ผิด

       ปัจจุบันการกินอาหารสำหรับผู้มีเงิน มิใช่เพื่อให้อิ่มท้อง แต่เป็นการสร้างกระแสสังคม เป็นแฟชั่น เป็นวัฒนธรรมที่กระจายไปทั่วโลกที่โทรทัศน์เสนอข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ยกระดับการทำอาหารให้เป็นศิลป์สุนทรีย์ประเภทหนึ่ง ในเมื่อเชฟเนรมิตและเปลี่ยนวัตถุดิบธรรมดาๆให้เป็นอาหารจานวิเศษ เปลี่ยนวัตถุดิบเดียวกันให้มีรสหลากหลายจนถึงสี่สิบกว่ารส(ด้วยซอสแบบต่างๆ)เป็นต้น สร้างความสุขสัมผัสสุดมหัศจรรย์ ที่ติดตรึงใจคนที่ได้ลิ้มรสไปชั่วกาลนาน ประทับเป็นความหลงใหลชื่นชมในความสามารถของเชฟไม่รู้เลือน. Guillaume Tirel dit Taillevent (1310-1395) เป็นผู้เริ่มสร้างกระแสการทำอาหารฝรั่งเศส ที่ปูทางตลอดหลายศตวรรษต่อมาสู่ศิลปะการใช้ชีวิต (l'art de vivre) แบบฝรั่งเศส และในที่สุดสร้างกระแส cuisine gastronomique ไปทั่วโลก. เป็นการทำอาหารที่หลีกเลี่ยงความจำเจของรสชาติและการทำซ้ำๆซากๆจานเดียวกัน เป็นการคิดสร้างเมนูใหม่รสชาติใหม่ เรียนรู้เทคนิคใหม่ แม้วัตุดิบอาจเหมือนเดิมเป็นต้น.
        ฝรั่งเศสยกย่องเชฟของพวกเขาเสมอบุคคลสำคัญของชาติ ตัวอย่างเช่น ต้นศตวรรษที่ 20 Auguste Escoffier [ออกุซ เอสโกฟีเย] ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นจตุรถาภรณ์ (Officier de la légion d'honneurเป็นคนแรกจากรัฐบาลฝรั่งเศส และคนยังจำพระราชดำรัสของจักรพรรดิเยอรมัน Guillaume II ที่ทรงตรัสกับ Auguste Escoffier ว่า "ข้าพเจ้าเป็นจักรพรรดิแห่งเยอรมนี แต่ท่านท่านเป็นจักรพรรดิของเชฟทั้งหมด"  ในฝรั่งเศส Escoffier อยู่ในฐานะของ ราชาของพ่อครัวทั้งหมด และเป็นพ่อครัวของพระราชาทั้งหลาย ("roi des cuisiniers" & "cuisinier des rois"). จริงทีเดียว เขาเป็นผู้เนรมิตอาหารและเมนู ถวายพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ในยุโรป รวมถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 1902) 
        ต่อมาประธานาธิบดี Valéry Giscard d'Estaing [วาเลรี จิ๊สการฺ เด้สแต็งมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตริตาภรณ์ (Commandeur de la Légion d'honneur) ให้แก่ปอล โบกุซ-Paul Bocuse เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1975 ผู้ได้สมญานามว่า พ่อครัวของศตวรรษ ยืนยันเกียรติยศและศักดิ์ศรีในระดับชาติและนานาชาติของเชฟไม่มีใครสนใจเรื่องบาปความตะกละอีกต่อไป และศาสนาก็ไม่(หาญ)หวนกลับไปพูดถึงอีกเลย (อาจยังมีเสียงสะท้อนอยู่บ้างภายในสำนักสงฆ์หรือสำนักชี ในอารามนักบวชเป็นต้น).

        ชนชาติใดก็คงเหมือนๆกับคนไทยที่มีคนชอบกิน รู้จักกินและเลือกกิน มันเป็นผลจากการใช้ชีวิต ในบริบทของเราแต่ละคน ที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร. การต้องคิดเตรียมเสมอในใจว่า วันนี้ครอบครัวจะกินอะไร พรุ่งนี้ล่ะ จะไปซื้ออาหารผลไม้ที่ดีที่ชอบได้ที่ไหนฯลฯ  แม่บ้านต้องวนคิดเรื่องปากท้องของครอบครัวในแต่ละมื้อแต่ละวัน ลูกๆก็เติบโตมากับกับข้าวฝีมือแม่กันทั้งนั้น ที่จะฝังในความทรงจำไปตลอดชีวิต. ห้องสำคัญที่สุดในบ้านคือห้องอาหารที่(เคย)รวมทุกสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะเมื่อลูกๆยังอยู่ในวัยเรียน. โต๊ะอาหาร คือห้องเรียนของลูกๆ เป็นบทเรียนบทแรกเกี่ยวกับสังคมเกี่ยวกับโลก เมื่อพ่อหรือแม่เล่าประสบการณ์ต่างๆในแต่ละวัน แม้ลูกๆฟังบ้างไม่ฟังบ้าง สนใจนิดๆหน่อยๆ มื้อจบลงด้วยการแยกย้ายไปทำสิ่งที่ต้องทำหรืออยากทำ. เมื่อเติบใหญ่ โอกาสกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ความทรงจำเกี่ยวกับวัยเด็ก เกี่ยวกับครอบครัว เกี่ยวโยงไปถึงชั่วโมงกินชั่วโมงฟังที่โต๊ะอาหารเสมอ.
        วัยทำงาน มีเวลาจำกัด มักหาอะไรกินแถวที่ทำงาน. ในวัยเกษียณ หลายคนมีความสุขกับการเดินทางไปกินอะไรอร่อยที่อยู่ไกลในอีกจังหวัดหนึ่งจนถึงอีกประเทศหนึ่ง. คนอีกจำนวนหนึ่งติดอยู่กับความคุ้นชิน ต้องแวะเวียนไปกินสิ่งที่เคยกินมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนตลอดหลายสิบปีในชีวิตความคุ้นชินในชีวิตเป็นเหมือนยาเสพติด และกลายเป็นกิเลสที่ตัดยากที่สุด ไม่ว่าคุ้นชินกับอะไร คน สัตว์หรือสิ่งของบางคนไม่สนใจอยากรู้อยากชิมอาหารอื่น อาหารแบบใหม่ อาหารท้องถิ่น กรณีของนักบวชเป็นต้นสำหรับสามัญชนทั่วไป คนเบื่ออาหาร จนอดอาหาร มองไกลออกไปได้ว่า  เหมือนมีอะไรมาบังมากั้นเส้นทางการเรียนรู้. ในหลายกรณี เกิดจากความไม่อยากรู้อยากเห็น เป็นความขี้เกียจแบบหนึ่ง(ที่เป็นบาปหนักหนึ่งในเจ็ดประการตามขนบศาสนาคริสต์) เป็นความเฉื่อยของนิสัย ที่ไม่เกี่ยวกับการถูกกระตุ้นจากธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาใด. ความเบื่ออาหาร หากเกิดกับผู้มีปัญญา เขาอาจก้าวข้ามไปยังการถือศีลกินเจ ที่นับเป็นก้าวแรกๆบนเส้นทางสู่การทำนิพพานให้รู้แจ้งในมุมมองทางโลก อาหารถิ่นหรืออาหารพื้นเมืองของชาติใด เป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิตจนถึงศิลปวัฒนธรรมของคนชาตินั้น ที่ผู้มีปัญญาจะหยั่งรู้ได้ง่ายที่สุดและต่อยอดไปสู่สังคมศาสตร์ศึกษาได้(cf.บุคคลมีชื่อเสียงด้านนี้ เป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ Claude Levi-Strauss, 1908-2009)

        มองไปทางไหนมุมไหนของถนนในสังคมไทยปัจจุบัน มีแต่ร้านอาหาร ถนนหนทางก็กลายเป็นถนนอาหารริมทาง มีทั้งตำ ต้ม ตุ๋น ปิ้ง ย่างฯลฯ ที่ขายดิบขายดีเรื่อยมา. คุ้นตากันนักว่า เอกลักษณ์หนึ่งของคนฝรั่งเศส คือการถือ(หรือหนีบไว้ใต้รักแร้) ขนมปังดุ้นยาว (la baquette), เอกลักษณ์คนไทย คือการหิ้วถุงปลาสติก เป็นถุงกับข้าว ถุงขนม กล่องอาหาร(เคยมีนักศึกษาญี่ปุ่น อยากทำสาระนิพนธ์เรื่องอาหารถุงของคนไทย แต่อาจารย์ญี่ปุ่นไม่ให้ทำ)
       เสรีภาพในการกินสำคัญยิ่ง ใครจะกินอะไร ไปกินที่ไหน กินเท่าไร ถูกแพงแค่ไหน เป็นสิทธิส่วนตัว เป็นการตัดสินใจตามรสนิยมและความพร้อมของแต่ละคนการหาเพื่อนที่ชอบกินเหมือนกัน ชอบอาหารแบบเดียวกัน เลือกกินระดับเดียวกัน ยิ่งทียิ่งหายาก เพราะเหตุผลต่างๆหลากหลายมิติ มิใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจ รสนิยม แต่เกี่ยวกับพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ อุดมการณ์สังคม ศรัทธาในศาสนาจนถึงปรัชญาส่วนตัว.
       รู้กันดีว่า การร่วมโต๊ะอาหารกับใคร เป็นโอกาสสังเกตอุปนิสัยใจคอของผู้ร่วมโต๊ะด้วยหลายคนคิดเหมือนกันว่า ร่วมโต๊ะกินอะไรกับคนที่ไม่รู้จักมักคุ้น กับคนที่ไม่ถูกอัธยาสัยกัน เป็นความทรมานอย่างยิ่ง. ในทางกลับกัน ก็เป็นโอกาสฝึกนิสัย บ่มเพาะความอดทนจนถึงความเห็นอกเห็นใจในที่สุด. โต๊ะอาหารยังเป็นโต๊ะเรียนรู้อะไรได้หลายอย่าง.
        อย่างไรก็ดีในมุมกว้าง หัวข้อสนทนาเดียวที่น่าจะรวมความรู้สึกร่วมกันจากทุกชนชั้นในสังคมได้ดียิ่งกว่าหัวข้อใด คือการคุยเรื่องอาหาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์การกินอาหารแบบต่างๆ จากกับข้าวบ้านทุ่งไปถึงกับข้าวชาววังมองในมุมนี้ ถือได้ว่าอาหารเป็นสิ่งสมานฉันท์ระหว่างคนทุกกลุ่มทุกสี จนอาจเป็นพลังขับเคลื่อนสู่อุดมการณ์ร่วมกันเช่นความรักชาติได้.

        อ่านๆดูมาตรการว่าด้วยความตะกละ ชัดเจนว่าข้าพเจ้าเป็นคนตะกละเสมอมา แต่วัยอาจมีส่วนลดความตะกละลงได้วันละนิด. ขอคุยสักนิดว่าข้าพเจ้าไม่กินอาหารมื้อเย็นมาหลายปีแล้ว ตอนนี้คิดว่า ต่อไปอาจกินลมแทน หมายถึงอากาศบริสุทธิ์ หมายถึงลมปราณของจักรวาล หมายถึงแสงสว่างในจักรภพ
Sans blaque!
J'aspire donc à me nourrir de l'air et de la lumière.
ตอนนี้ ขอให้มีมื้อเที่ยงอร่อยกินวันละมื้อก่อน
จนกว่าจะเข้าถึงอาหารวิเศษที่เป็นลมปราณของจักรวาล
                                                                                
บันทึกความคิดคำนึงของโชติรส
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒.

ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า Escoffier เชฟขั้นเทพที่โด่งดังมากคนแรกของฝรั่งเศส ผู้ได้สมญานามว่า ราชาของพ่อครัว และพ่อครัวของพระราชาในส่วนที่เกี่ยวกับสยามประเทศของเราในยุคนั้น (สถานทูตไทยณกรุงปารีส สมัยนั้นใช้คำว่า Légation de Siam ตั้งอยู่ที่ 14 avenue d’Eylau – Paris เขต 16 ในปัจจุบัน) ได้เชิญพ่อครัวเอกผู้นี้ ไปทำอาหาร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 1902 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันพระราชสมภพคือวันที่ 20 กันยายน พศ 2396. (ref.) ดังระบุไว้บนแผ่นเมนู(ดูภาพประกอบ) ได้เชิญข้าราชการชั้นสูงของฝรั่งเศสยุคนั้นกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศมาร่วมในงานเลี้ยงนี้ และดื่มถวายพระพรชัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ห้า 
เมนูอาหารนี้ ถ่ายมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ปี 2010 จากนิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์ Musée National d’Art Culinaire (สถาปนาขึ้นในปี 1966 ณบ้านเกิดของ Escoffier ที่ Villeneuve- Loubet, ภาคใต้ของฝรั่งเศส ไม่ไกลจาก Grasse เมืองน้ำหอมของฝรั่งเศส)
เมื่อพิจารณารายการอาหาร เห็นความหลากหลายทั้งวัสดุและวิธีปรุงตามสไตล์จากถิ่นต่างๆในฝรั่งเศส. เนื่องจากไม่มีโอกาสชิมหรือเห็นอาหารชนิดดังกล่าวในยุคของ Escoffier จึงมิอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้. โดยเฉพาะเมื่อเห็นชื่ออาหารจานหนึ่งระบุว่า Carpes Glacées du Paknam ปลาคาร์ปแช่เป็นเกร็ดน้ำแข็ง แต่พอมีคำ Paknam เลยงงๆว่า ปากน้ำบ้านเราหรือ ไปเอาปลามาได้ยังไง ส่งไปทางเรือเป็นเดือน แช่แข็งไปรึไง เมื่อหาคำตอบไม่ได้ จึงขอไม่อธิบายเมนูอาหารในที่นี้

ผู้สนใจติดตามข้อมูลปริศนาปลาคาร์พในเมนูของ Escoffier ได้ที่บล็อกนี้ >>
https://blogchotiros.blogspot.com/2019/05/carps-enigma.html

ตึกที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Musée National d’Art Culinaire (1966) ที่เมือง Villeneuve-Loubet, ใกล้เมืองนีซ Nice ในประเทศฝรั่งเศส. ที่นั่นเคยเป็นบ้านของเขา
เตาและเตาอบ ภาพที่เห็นทางซ้ายและรูปปั้น คือเชฟชื่อดัง Escoffier
ห้องครัวอีกห้องหนึ่ง
ห้องนิทรรศการ ภาพวาด ภาพเขียน เมนูทั้งหลายที่เคยทำมา. เอกสารลายมือจดรายละเอียดของอาหารที่ทำฯลฯ

ประเทศโมนาโค ออกแสตมป์ภาพ Escoffier เป็นเกียรติประวัติแก่เขา
ตัวอย่างกาลาดินเนอร์เมนูเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1902 ที่ภัตตาคารโรงแรมคารล์ตัน กรุงลอนดอน

No comments:

Post a Comment