คุณธรรมของซามูไรพเนจร
ในยุคศักดินาของญี่ปุ่น (1185–1868) มีซามูไรที่เป็นโรนิน (浪人, พเนจรไปตามลำพัง), เป็นซามูไรพเนจร เพราะไม่มีเจ้านาย (大名 ไดมิโอ Daimyo แปลตามคำว่า ชื่อใหญ่. หมายถึงคนมีชื่อเสียง) เจ้านายอาจเสียชีวิตไปแล้ว, หรือหมดอำนาจลง, หรือเจ้านายไม่เลี้ยงแล้ว. ในความหมายดั้งเดิม การเป็นโรนิน หมายถึง ความล้มเหลว ขาดผู้อุปการะ และหากไม่ยอมฆ่าตัวตายเพื่อล้างอายให้แก่ชีวิตที่ล้มเหลว ก็เป็นคนที่สูญสิ้นศักดิ์ศรีไปแล้ว. (การประกอบพิธีฆ่าตัวตายเช่นด้วยการคว้านท้องตัวเอง เรียกว่า seppuku ( 切腹 [เส็บปึ๊กึ]. อักษรจีนตัวแรก แปลว่า ตัด, ตัวที่สอง แปลว่า ช่องท้อง. ทำไมคว้านที่ท้อง? สมัยก่อนในตะวันตกและตะวันออก คนเชื่อว่า วิญญาณสถิตอยู่ที่ท้อง. ผู้สนใจติดตาม อ่านรายละเอียดได้ที่นี่. โรนินต้องเร่ร่อนไปตามทางของเขาเอง. บางคนไปเป็นทหารรับจ้าง หรือเป็นบอดี้การ์ด หรือกลายเป็นโจร ก่ออาชญากรรมไปตามโอกาส.
ภาพเสมือนวัยชรา ฝีมือของ Miyamoto Musashi เอง, ราวปี 1640, ภาพนี้ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์ 島田美術館, 熊本 (Shimada Museum, จังหวัด Kumamoto)
Miyamoto Musashi (宮本武蔵 1584-1645 [มิย้าโมะโตะ มูซาฉิ]) น่าจะเป็นโรนินผู้มีชื่อเสียงที่สุดในยุคศักดินาญี่ปุ่น. ขึ้นชื่อว่าเป็นนักดาบฝีมือเยี่ยม เคยดวลดาบมากกว่า 60 ครั้ง, ชนะทุกครั้ง ไม่มีใครสยบเขาได้. มูซาฌี Musashi ไม่เคยเข้ารับใช้เจ้าขุนมูลนายคนไหนอย่างจริงจัง แม้เจ้านายผู้ทรงอิทธิพลหลายคน อยากรับเขาไว้ในอุปถัมภ์ เช่นโชกุน Tokugawa Ieyasu (Shōgun 將軍 จอมทัพ) ผู้มีความปรารถนาจะรวมญี่ปุ่นเข้าด้วยกันใต้การบริหารควบคุมส่วนกลาง. มูซาฌีคงเห็นด้วยกับอุดมการณ์การเมืองนี้ แต่เขาก็ปฏิเสธรับตำแหน่งครูผู้สอนการฟันดาบที่โชกุนเสนอให้ อาจเป็นเพราะความหยิ่งในตัวเองและนิสัยชอบความเป็นเอกเทศ. เช่นนี้ อาจพูดได้ว่า มูซาฌีเลือกเป็นซามูไรโรนินเอง. ยิ่งเมื่อได้ไปช่วยศึกที่ Sekigahara ที่เขาเกือบเอาตัวไม่รอด เขายิ่งเก็บตัว ปลีกวิเวก, ศึกษาปรัชญา ศิลปะและพุทธศาสนา. ยืนยันกันมาว่า เขาช่ำชองทั้งสามเรื่อง.
ภาพวาดของ Miyamoto Musashi ในวัยฉกรรจ์ เห็นกระบวนท่าการใช้พลองคู่ (พลองแบบจีน 棍). ภาพสแกนจากภาพม้วนเก่าญี่ปุ่น. เครดิตภาพ : User Alkivar on en.wikipedia, Public domain, via Wikimedia Commons.
เมื่ออายุ ๑๕ มูซาฌีได้จาริกบำเพ็ญตนตามวิถีนักรบ (ในแบบของผู้ภิกขาจารไปยังสถานศักดิ์สิทธิ์).
ในกรณีของญี่ปุ่น คือการเดินทางออกไปดูโลกตามลำพังคนเดียว ฝึกฝนตัวเอง
ลับฝีมือในศิลปะการรบ การใช้ดาบ
โดยไม่มีสมาชิกในครอบครัวหรือรุ่นพี่ในโรงเรียนตามไปปกป้องเขา. เรียกการเดินทางฝึกตนแบบนี้ว่า
musha shugyō 武者修行 [หมู่ฌ่าฌิวโย]. ในช่วงชีวิตนี้ เขาได้ดวลดาบหลายต่อหลายครั้ง
ต่อมาได้รับการยอมรับว่า เป็นโรนินคนหนึ่ง
และได้ฆ่าคู่แข่งที่น่าเกรงขามที่สุดในยุคนั้น (Sasaki
Kojiro).
Public domain, via Wikimedia Commons.
หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาหลีกเลี่ยงไม่ดวลดาบ
หยุดการต่อสู้ตัวต่อตัว, ปลีกวิเวกไปอยู่ในถ้ำ
และแต่งหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีมา รวมเป็นหนังสือที่รู้จักกันว่า Dokkōdō (獨行道 [ด๊กโกะโร] ที่แปลกันเป็นภาษาอังกฤษว่า The Path of Aloneness). งานเขียนของเขาครอบหลักปรัชญาของ “วิถีนักรบ” (Bushidō 武士道[อือฌี้โด่]หรือวิถีอัศวิน) ที่มีแล้วในยุคนั้นและแพร่หลายในจีน เกาหลีและญี่ปุ่น
แต่พูดกันมากในบริบทของญี่ปุ่น จึงเป็นที่รู้จักกันว่า วิถีซามูไร. คุณธรรมเจ็ดประการหลักใน
Bushidō คือ ความถูกต้อง (義), ความกล้า (勇), ความใฝ่ดี (仁), สัมมาคารวะ (禮), เกียรติ (名誉), ความสุจริตจริงใจ
(誠),
และความซื่อสัตย์ (忠実) รวมกันเป็นจริยธรรมของนักรบ
ของซามูไร.
ส่วนหนังสือ Dokkōdō รวมหลักปฏิบัติตน 21 ข้อ สำหรับผู้ใฝ่หาความเป็นอิสระบนเอกาวิถี.
หนังสือเล่มนี้ของเขา เผยให้เห็นการใช้ชีวิตที่วิวัฒน์พัฒนาไปกับการรู้จักจำกัดตัวเอง,
การเสียสละและการมีระเบียบวินัย. เมื่อเขาออกห่างจากสังคม เขามุ่งฝึกฝนศิลปะการฟันดาบ
ในขณะเดียวกัน ก็หมายบรรลุปัญญาญาณด้วยวิถีของดาบ, ด้วยวิถีของซามูไร. คิดอย่างผิวเผิน
เหมือนการใช้ความรุนแรงสยบความอยุติธรรมหรือกำราบกลียุค. วิถีดาบจะใช้เป็นวิถีธรรม
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ต้องเชี่ยวชาญทั้งสองด้านอย่างแท้จริง. นึกย้อนไปในชีวิตของพระเยซู
ที่ใช้วิธีอหิงสา ไม่ตอบโต้ใดๆต่อข้อกล่าวหา และจบชีวิตด้วยการถูกตรึงไม้กางเขน.
มหาตมะ คานธีในต้นศตวรรษที่ 20 ก็เช่นกัน นำการต่อสู้ท้าทายอำนาจของสหราชอาณาจักร
ด้วยการแสดงอารยขัดขืนแบบอหิงสา (non violent civil disobedience) ที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกและมีส่วนกดดันศักดิ์ศรีของสหราชอาณาจักรให้ได้อาย
คานธีประสบความสำเร็จ แต่ก็ถูกลอบสังหาร. มาในศตวรรษปัจจุบัน วิธีการที่เหนือกว่า
อาศัยความโลภ ใช้เงินเป็นอาวุธเปลี่ยนทุกอย่างได้ “อย่างนุ่มนวล” โดยไม่ต้องต่อสู้.
วิถีซามูไรของมูซาฌี บนความสันโดษ เป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจคนในยุคเดียวกัน.
มูซาฌีได้มอบหนังสือ Dokkōdō แก่อนุชนรุ่นหลัง, เป็นมรดกความคิดและความประพฤติ ที่นำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและมีศักดิ์ศรีเยี่ยงซามูไร.
ชาวญี่ปุ่นถือว่าหนังสือเล่มน้อยนี้ เป็นวรรณกรรมอมตะ
แม้ว่ายุคซามูไรได้สิ้นสุดลงไปนานแล้ว หลักปฏิบัติตน 21
ข้อของมูซาฌี ยังคงดลใจและเร้าใจชีวิตชาวญี่ปุ่น(และคนอื่นๆ) ไปในทางดี มีศีลธรรมเป็นแกน,
ช่วยให้คนรู้จักโฟกัส, พุ่งความสนใจไปยังเหตุการณ์ตรงหน้า เรื่องตรงหน้า.
การรู้จักโฟกัสในทุกเรื่อง คือการเห็นทางที่ควรไป เห็นสิ่งที่ต้องทำบนเส้นทางนั้น
และไม่หลงหลุดออกไปสู่ทางแห่งกามสุขหรือลาภยศสรรเสริญ ที่คอยกู่ร้องเรียกล่อใจทุกย่างก้าว.
ชีวิตทุกวันนี้ในสังคมบริโภคที่ขันเกลียวรัดแน่นมากขึ้นๆ น่าหดหู่และลำเค็ญใจมากกว่าชีวิตในสังคมยุคก่อนๆ.
หลักปฏิบัติ 21 ข้อของมูซาฌี มิยาโมโต มีดังนี้
๑. ยอมรับทุกสิ่ง ตามที่มันเป็น. บนเส้นทางของชีวิตที่มุ่งความเป็นตัวของตัวเอง ของการอยู่ตามลำพังในความโดดเดี่ยว
การยอมรับสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น เป็นก้าวสำคัญ. ซามูไรต้องเริ่มจากศูนย์
จากความไม่รู้ สู่การตระหนักถึงพลังของจิตสำนึก
ก่อนจะก้าวไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์. ในกรณีสุดโต่ง
ก็ยอมรับความตายด้วยเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ไว้. การฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง
จึงตั้งอยู่บนอุดมการณ์ของการตายอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะการมีชีวิตที่ผิดพลาดคือความเสื่อมเกียรติ.
เมื่อทำผิด ก็ยอมรับผิด และยอมตายล้างผิด ถือเป็นความกล้าหาญอันสูงส่งของความเป็นคน.
๒. อย่าแสวงหาความสุขเพื่อความสุข. แม้ว่ามูซาฌีจะเป็นโรนิน เขายึดมั่นในคุณธรรมเหนือความสุขความพอใจทางโลก. เขาอาจเป็นนายทหารรับจ้าง, เป็นโจรฯลฯ แต่เขาเลือกที่จะพัฒนาจิตวิญญาณของเขา ฝึกฝนความชำนาญในศิลปะการใช้ดาบ, และสละเวลาเพื่อทำประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์สุขของตัวเอง. ความสุขความพอใจควรเป็นเพียงผลพลอยได้จากการสั่งสมคุณธรรม. ความหมายของคุณธรรมต่างกันไปตามยุคสมัย เฉกเช่นจริยธรรมและค่านิยมในสังคม. แต่เรายังแยกได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมแบบใดเป็นไปเพื่อกามสุข และพฤติกรรมแบบใดเป็นการทำดีเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน. การหลงอยู่กับอาหารรสดี ความบันเทิงราคาแพงราคาถูก, ตัณหาและราคะ, ไม่ผิดไปจากการถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนแห่งโลกียวิสัย เช่นนี้ โอกาสบรรลุจิตวิญญาณขั้นสูง ลดน้อยลง, การบรรลุความเป็นเลิศในศิลปะการใช้ดาบ ก็หลุดลอยไป.
๓. ไม่ว่าในสถานการณ์ใด อย่าปล่อยตัวให้จมอยู่ในอคติ. ความรู้สึก สำคัญ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น. แต่เมื่อต้องตัดสินใจ จะเอาความรู้สึกเป็นเกณฑ์ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะความรู้สึกมักเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการคิดที่ขาดเหตุผล เป็นอุปาทานของความเป็นจริง. ดังนั้น อคติที่แทรกในเกือบทุกกรณี จึงอาจนำไปสู่ปฏิกิริยาตอบโต้ที่ผิดหรือคลาดเคลื่อนได้... จำเป็นต้องสำรวจความรู้สึกด้วยความโปร่งใส เท่ากับมีสติว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งในทางกายภาพและในจิตสำนึก, ให้รู้ตัวว่าถูกครอบงำด้วยอารมณ์ไหม เกิดจากความโกรธหรือความกลัวไหม. หากเป็นเช่นนี้ ควรปล่อยให้ฝุ่นที่ตรลบในจิตสำนึกค่อยสงบลงก่อนตัดสินใจ, ในการศึกสงครามก็เช่นกัน ต้องสู้รบด้วยจิตสำนึกที่แจ่มกระจ่างมิใช่ด้วยอารมณ์.
๔. คิดถึงตัวเองนิดหน่อย แต่คิดถึงโลกให้มากๆ. มูซาฌีเป็นคนที่น่ากลัวแต่ก็เป็นคนสมถะสุดๆ. เขาเห็นความไร้ความหมายของตัวเองในภาพใหญ่ของสังคม แต่ไม่ย่อท้อในการรักษาผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าความพอใจหรือไม่พอใจส่วนตัว. การคิดถึงตัวเองน้อยลง เท่ากับยอมรับว่าตัวเองไม่สำคัญ. ชีวิตคนมีค่า แต่ต้องนึกด้วยว่า ถ้าตายพรุ่งนี้ โลกจะยังคงหมุนต่อไป. นึกถึงตัวเองในจักรวาล ร่างกายที่เล็กกว่าผงฝุ่น เช่นนี้ จะคิดยกตัวเหนือสิ่งใด เหนือธรรมชาติได้อย่างไร ในเมื่อเราเองต้องพึ่งพาธรรมชาติ. จักรวาลกว้างใหญ่ไพศาล ซับซ้อนเกินพรรณนา ลึกล้ำกว่าตัวอีโก้ภายในหัวคน หากเข้าใจความจริงดังกล่าว จะอวดตัวไปไย. โรนินเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตดังกล่าว และเมื่อเขายืนเผชิญหน้าโลกด้วยตัวตนเขาคนเดียว ย่อมตระหนักถึงความกระจิริดและความเปราะบางของเขาเอง. เป็นการดีที่จะลองเทียบชีวิตเราเองกับเม็ดเกลือ จะเห็นอนิจจัง. มองให้ทะลุสัดส่วนความเป็นตัวเราในสภาพแวดล้อม และให้เป็นสิ่งเตือนสติอยู่เสมอ เพื่อลดความพองโตของอีโก้ ลดหลอกลวงตัวเอง.
๕. ตลอดชีวิต ต้องคอยสลัดตัณหาออกจากตัว. ความปรารถนากับความไม่แยแส เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน. ตัณหาคือรากของทุกขเวทนา, คือการผูกความสุขของเรากับสิ่งที่อยู่นอกกายเรา. การยึดติดกับความต้องการของเรา คือการกวดตามสิ่งภายนอกด้วยคิดว่า หากได้สิ่งที่ต้องการมา ก็จะมีความสุข. มูซาฌีบอกว่า “ ไม่มีอะไรนอกตัวเราที่จะทำให้เราดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น รวยขึ้น เร็วขึ้น หรือฉลาดขึ้น. ทุกสิ่งอยู่ภายในตัวเรา. ทุกสิ่งตั้งอยู่ภายในตัวเรา อย่าไปหาอะไรนอกตัวเรา ” แม้โลกภายนอกจะกว้างไพศาลเพียงใด แม้ตัวเราเองจะกระจิริดเพียงใด กุญแจสู่การมีชีวิตที่ดี อยู่ภายในตัวเราเอง. ดังนั้น เราควรถ่อมตน โฟกัสไปที่การกระทำของเราภายในจักรวาล โดยไม่หวังจะสกัดอะไรจากจักรวาล. การปรารถนาสิ่งที่อยู่นอกการควบคุมของเรานั้น ไม่ใช่ยุทธวิธีเพื่อการมีชีวิตที่ดีมีความสุข. การทำสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรานั้น โดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อิสระ ไม่ถูกควบคุม ไม่ถูกกีดขวาง.
๖. อย่าเสียใจสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว. การรู้จักสำรวจตัวเอง รู้ตัวว่าทำอะไรผิดพลาดไปหรือทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นทักษะที่มีค่ามาก โดยเฉพาะเมื่อต้องการสานความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและมีความหมาย ต้องหลีกเลี่ยงข้อบกพร้อเก่าๆมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต. แต่การประณามตนเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหนหลัง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น. ไม่มีทางอื่นดีไปกว่า การก้าวเดินต่อไปข้างหน้า. บ่อยๆที่สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นเพื่อผลักเราไปข้างหน้า. ความละอายใจและความเสียหายจากข้อผิดพลาดของเรา ช่วยให้เกิดปัญญาสุขุม, หยุดย้ำคิดเรื่องในหนหลัง, ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นเพื่อมิให้เรื่องแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกในอนาคต. ท่านดาไลดามะเคยกล่าวไว้ว่า “ เมื่อแพ้ ต้องไม่เสียบทเรียน (ต้องเก็บความพ่ายแพ้นั้นเป็นบทเรียน)”. ดังนั้นอะไรที่ดูเหมือนแย่ๆในตอนนี้ อาจพลิกไปเป็นสิ่งดีเลิศประเสริฐศรีได้ในอนาคต หรือคลี่คลายไปในทิศทางใดก็ได้ ที่เราคาดหรือทำนายไม่ได้.
๗. อย่าอิจฉา. เมื่อเผชิญโลกคนเดียวเหมือนโรนิน ความขัดเคืองมักอยู่ไม่ไกลตัว. การต้องอัปเปหิตัวเองออกไปจากชุมชน, ไม่มีสิ่งที่คนทั่วไปมี โดยเฉพาะพวกวัตถุนอกกายหรือเครือข่ายสังคม. โรนิน จึงคือคนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง, เร่ร่อนไปตามดินแดนต่างๆ, ไร้บ้านไร้คนรู้จัก จนไม่มีใครอยากต้อนรับ. ในสภาวะดังกล่าว จึงอิจฉาคนอื่นได้ง่าย, หากเป็นโสด ก็อิจฉาชีวิตคู่, หากจนก็อิจฉาคนรวยเป็นต้น. ชีวิตโดดเดี่ยวแบบโรนิน ต้องไม่สั่งสมอารมณ์อยาก อารมณ์โกรธ อารมณ์อิจฉาตาร้อน. ทั้งหมดเป็นเรื่องเสียเวลามาก.
๘. อย่าจมอยูในความเศร้าโศกเพราะการพลัดพรากจากกัน. การพลัดพราก เกิดขึ้นได้หลายแบบหลายลักษณะ. การจากไปชั่วคราวเพราะออกเดินทาง, ย้ายที่ตั้ง, หรือตายจากไป, หรือถูกพรากจากสิ่งของที่เคยมีเคยใช้ เช่น เพชรพลอย เงินทอง. โดยทั่วไป การถูกพรากจากของรักหรือคนรัก ทำให้เป็นทุกข์. ครูอาจารย์ย้ำเสมอว่า แท้จริงแล้ว เรามิได้เป็นเจ้าของอะไรแม้กายของเราเอง. มูซาฌีเป็นโรนินและนับถือพุทธศาสนา จึงย่อมตระหนักถึงพระธรรมข้อนี้ดี. เขาฝึกตนให้คุ้นชินกับการอยู่คนเดียว และไม่ปล่อยให้การพลัดพรากแบบใดรบกวนเขา. โรนินยอมรับธรรมชาติชั่วคราวของสรรพสิ่ง รวมถึงสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ นั่นคือความตาย. นักรบหรือซามูไรต้องยอมรับความตาย เพราะในชีวิตจริง ความตายแวดล้อมเขาอยู่ทุกด้าน ไม่ว่าความตายของศัตรู ของผู้ร่วมรบ รวมทั้งความตายของตัวเขาเองในสนามรบเป็นต้น. หากยอมรับความตายได้ก่อนตายจริง ก็จะไม่หวาดหวั่นหรือเสียสติ.
๙. การขุ่นเคืองและการก่นบ่นไม่รู้จบ ไม่ดีสำหรับตัวเอง ไม่ดีสำหรับคนอื่น. หลายคนเสียเวลาไปกับความขุ่นเคือง, การบ่นเรื่องต่างๆ เป็นกับดักที่คนพลาดตกลงไปได้ง่าย. คนที่มีความคิดเห็นรุนแรงเกี่ยวกับโลกว่าควรจะเป็นอย่างไร, สายตาคอยจับจ้องวิเคราะห์ทุกอย่าง จึงมีเรื่องให้บ่นได้ไม่หยุด. เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่าเขาโฟกัสไปที่คนอื่น ไม่ได้มองวิเคราะห์ตัวเอง. สำหรับโรนิน การบ่นเรื่องต่างๆไม่หยุด เป็นการเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์. โลกอยู่นอกอำนาจเรา. ปกติชีวิตก็มีอะไรที่ไม่เสมอกัน ไม่ยุติธรรมอยู่แล้ว แต่ละคนมีความชำนาญต่างกัน มีพรสวรรค์ไม่เหมือนกัน สวยหรือหล่อไม่เหมือนกัน สุขภาพดีเลวไม่เท่ากัน. แล้วเราจะเปลี่ยนความไม่เสมอกันดังกล่าวหรือ, จะทำได้ไหม, ควรทำหรือ. เปลี่ยนโลกได้ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ประเด็นให้เศร้าหมอง. ใช้ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดที่ทำได้. มาร์กุส เอาเรลีอุส (Marcus Aurelius) สโตอิกคนสำคัญ กล่าวไว้ว่า ใจกว้างกับคนอื่น แต่เข้มงวดกับตัวเอง.
๑๐. อย่าปล่อยตัวให้ตกอยู่ในอำนาจของความใคร่ความรัก. ในนี้หมายถึงความรักโรแมนติกบนฐานของความใคร่. สังคมทั่วไป มองว่าประสบการณ์ความรักไม่ใช่เรื่องเลวทราม, เป็นอารมณ์ที่ปนความขลัง, มีค่าพอสำหรับการติดตาม. ในฐานะของซามูไรโรนิน ความรักแบบนี้ ไม่ช่วยให้เขาก้าวหน้าในศิลปะการฟันดาบ หรือเจริญในธรรม, ไม่น่าจะเป็นทางแห่งความสุข. แต่คนเลือกเส้นทางเดินของตัวเองได้. ในชีวิตจริง เล่ากันว่า มูซาฌีไม่แต่งงาน แต่มีบุตรบุญธรรม ที่คงสะท้อนความหวังที่จะสอนถ่ายทอดวิชาให้กับชนรุ่นต่อไป, ปลูกฝังวิถีแห่งดาบควบคู่กับวิถีธรรม.
๑๑. อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง. การเลือกปฏิบัติตามจริตเลือกที่รักมักที่ชัง ทำให้จิตย้ายไปพึ่งสิ่งที่อยู่นอกกาย. เมื่อพบสิ่งที่ถูกจริต เราพอใจ, แต่เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ เราก็ผิดหวัง. เท่ากับเราให้ปัจจัยภายนอกมีอำนาจเหนืออารมณ์ความรู้สึก. ความสงบของเรา จึงขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่นำชีวิตเรา. ในชีวิตของมูซาฌี เขาต้องเผชิญกับคนมากหน้าหลายตา ในสถานะกาณ์แบบต่างๆ แต่เขารู้จักควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบเสมอ จึงไม่พลัดออกจากเส้นทางที่เขาเลือกเดิน. การมีความรักชอบพอรุนแรง เป็นอันตรายต่ออุดมการณ์ชีวิต. จึงต้องคอยตรวจสอบสิ่งที่มากระทบอยู่เสมอ เพื่อโฟกัสไปยังสิ่งสร้างสรรค์ และเมื่อทำดีที่สุดแล้ว ก็ไม่คอยผลของการกระทำ.
๑๒. อย่ากังวลเกินไปกับสถานที่อยู่. มูซาฌีเดินทางพเนจรไปทั่วทั้งญี่ปุ่น อยู่ไปตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ปราสาทถึงถ้ำในป่า. แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เส้นทางสู่อุดมการณ์ของเขาไม่เคยเปลี่ยน. คนในยุคปัจจุบัน เน้นการมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดี, เลือกเพื่อนบ้านที่มีระดับ, เครื่องเรือนที่แสดงรสนิยม. เมื่อยึดติดกับสภาพที่พักอาศัย ก็เกิดกังวลว่าวันหนึ่งสภาพดีๆนั้นจะหายไป, หรือหากยังไม่พอใจนัก ก็เริ่มมองหาบ้านหลังอื่นๆต่อไป. ยิ่งคนที่เบื่อง่าย เชื่อว่าหากย้ายบ้าน เขาจะมีความสุขขึ้น. แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงความสะใจชั่วคราว. กว่าจะเข้าใจในที่สุดว่า ความพอใจต้องเกิดจากภายในก่อน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บ้านจะเล็กเพียงใด, หากพอใจ ก็หมดความกังวลไปได้เรื่องหนึ่ง และไปโฟกัสกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุได้เต็มที่.
๑๓. อย่าหลงใหลในรสชาติอาหาร. คนส่วนมากเสพความสุขจากการกินอาหารดีๆ. บ้างใช้เวลานานมากในการดื่มการกิน. อุปนิสัยดังกล่าวส่งผลร้ายในระยะยาว. มูซาฌีไม่แนะนำให้เสพสุขแบบนี้. สโตอิกในยุคกรีก ก็ส่งเสริมให้คนกินอาหารแบบง่ายๆ. เซโน (Zeno of Citium) เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อคนหลงติดอยู่กับอาหารหรูราคาแพง เขาไม่รู้คุณค่าของความเรียบง่าย. ยิ่งกินอาหารดีๆมากเท่าใด ก็ยิ่งแสวงหาอาหารที่เหนือกว่า ดีกว่าไปเรื่อยๆ. การไม่รู้จักกินอยู่อย่างพอประมาณ นำไปสู่ความตะกละกินและสร้างปัญหาสุขภาพในที่สุด. คนตะกละกินตะกละดื่ม ไม่มีสติในการกิน ไม่รู้จักค่าของอาหารตรงหน้า เพราะติดอยู่กับปริมาณการกินเพื่อสนองความอยาก มากกว่าสนองรสนิยมการกินที่ประณีต. สิ่งที่ทำได้ตามวิถีของพระสงฆ์ คือการกินอย่างมีสติในปริมาณพอเหมาะ และจำกัดความอยาก โดยไม่ยึดติดกับรสอาหาร เช่นนี้ก็ไม่ทำให้กินมากเกินไป. ความอยากกินเพราะอยาก จะค่อยๆลดลง สู่การกินเพื่อเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกาย.
๑๔. อย่ายึดติด เก็บกองสมบัติ(บ้า)ที่เราไม่ใช้. มูซาฌีน่าจะเห็นประโยชน์ของการมีวิถีชีวิตที่จำกัดที่สุด มีสมบัติติดตัวน้อยที่สุด, ในเมื่อเป็นซามูไรโรนิน ย่อมไม่หอบสมบัติติดตัวจนพะรุงพะรังเพื่อความคล่องตัว. เขาเพียงต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อการเดินทางและเอาตัวรอดในทุกสถานะ. หลายคนสะสมสรรพสิ่งราวกับว่า ยิ่งมีสมบัติมากยิ่งมีความสุข. อาจเป็นเช่นนั้นในตอนแรก แต่ยิ่งมีก็ยิ่งอยาก. จนในที่สุดสมบัติทั้งหลายกลายเป็นนายเป็นภาระกดทับบนบ่าทั้งสอง วางก็ไม่กล้า แบกไปตลอดเวลาก็ทำไม่ไหว. ทั้งหมดสร้างความกังวล จนเป็นความกลัวว่าจะสูญเสียสมบัติเหล่านั้นไป. เพราะฉะนั้น คนที่มีเป้าหมายชีวิตที่สูงกว่า บรรลุความสุขที่ประณีตกว่าการสะสมสมบัติ ย่อมหยุดสนใจสะสมวัตถุ. อยู่โดยไม่พึ่งสมบัติวัตถุใดหากไม่จำเป็น, จะไปไหน ก็รู้สึกตัวเบา ใจโล่งโปร่งใส ทำให้โฟกัสไปยังคุณค่าดีๆอื่นๆ.
๑๕. อย่าหลับหูหลับตา ทำตามความเชื่อตามประเพณีที่สืบทอดมา. พฤติกรรมของคนในสังคม ไม่ผิดไปจากพฤติกรรมภายในฝูงสัตว์. คนจำนวนมากทำตามๆกันตามค่านิยมในสังคม ไม่ใช่เพราะนั่นเป็นสิ่งดีที่สุดแต่เพราะทุกคนทำกัน จึงสะดวกและง่าย ไม่สร้างปัญหา. มูซาฌีตระหนักถึงอันตรายของการทำตามผู้นำ(ในยุคนั้น) โดยไม่แยกแยะ เท่ากับกำลังบีบสามัญสำนึกของตัวเอง, บีบการรู้คิดด้วยเหตุผล จนถึงศีลธรรมในใจเขา. สิ่งที่สืบทอดมา หาได้หมายความว่าไม่มีข้อบกพร่อง. (ยุคต่อมา โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ martial arts เรียกว่า Ko-ryū 古流 [โกริว] old school ที่สถาปนาขึ้นก่อนปี 1876 ยิ่งมีบทบาทสำคัญมาก เพราะครูใหญ่เป็นนักการเมือง บางทีก็คือองค์จักรพรรดิเอง). ดังนั้น การเชื่ออะไรตามขนบที่ทำกันมา ไม่ใช่เป็นทางที่ดีที่สุดเสมอไป. มูซาฌีอยู่อย่างโรนิน อย่างนักพรต ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ห่างจากสังคมจากกฎระเบียบต่างๆ. ผลประโยชน์หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนของการปลีกตัวออกไปอยู่ห่างจากชุมชน เป็นโล่กันเขาออกจากอิทธิพลภายนอก, และมองสังคม มองโลกจากจุดยืนที่ไกลออกไป. จึงเป็นการง่ายกว่าสำหรับเขา ที่จะตัดสินใจเลือกหลักการที่ดีสำหรับเขาเองและไม่ถูกกฎสังคมสยบไปเสียทุกเรื่อง.
เหยี่ยว(ชนิดหนึ่ง)บนต้นไม้ไร้ใบ (枯木鳴鵙図, Koboku meigeki-zu) ภาพวาดหมึกฝีมือของ Miyamoto
Musasihi ยืนยันว่า เขาสนใจศิลปะแขนงต่างๆ, เป็นสิ่งเสริมศิลปะการต่อสู้ของเขา.
ภาพนี้ยิ่งทำให้เดาอุดมการณ์และหลักปรัชญาของเขา ดุจเหยี่ยวตัวเดียวบนยอดไม้,
มองกวาดพื้นที่. เครดิตภาพ : Wikimwdia Commons, Public domain.
๑๖. อย่าสะสมอาวุธ หรือฝึกใช้อาวุธเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้. มูซาฌี พกดาบยาวและดาบสั้น ไม่ใช่เพื่ออวด แต่เพราะเขาชำนาญการต่อสู้ด้วยดาบสองด้าม. (สนใจเรื่อง ดาบญี่ปุ่น ตามไปที่นี่). การมีดาบสองด้ามเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของวิถีซามูไร. เขาอธิบายไว้ในหนังสือ Book of Five Rings (五輪書, Go Rin no Sho ในราวปี 1643 รวมเทคนิคและปรัชญาของศิลปะการต่อสู้) ว่าอาวุธแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์เฉพาะ. เช่นดาบติดตัวใช้ในสถานที่จำกัดเมื่ออยู่ใกล้ตัวคู่ต่อสู้, เทียบกับหอก (เช่น spear หรือ halberd) ที่เหมาะกับการใช้ในสนามรบ. แม้ว่าจะมีอาวุธให้เลือกหลายประเภทที่มีหน้าที่ต่างๆกัน มูซาฌีไม่แนะนำให้สะสมอาวุธ และไม่ฝึกฝนการใช้อาวุธเกินประโยชน์ใช้สอยโดยตรง, ให้ยึดเป้าหมายของการใช้งาน, อย่าเสียเวลามั่วสุมกับพฤติกรรมที่ไม่จำเป็นอื่นๆ, หรือลงทุนหาซื้ออาวุธมาเพิ่มโดยไม่จำเป็น, หรือใช้เวลาไปกับการสร้างเครือข่ายกับคนที่ไม่มีความหมายใดๆ. ทั้งหมดนี้เพราะคิดแยกแยะไม่ได้ว่า ต้องการอะไรเพื่อบรรลุเป้าหมาย, และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว. ซามูไรปกติฝึกฝนอาวุธหลายชนิด ทั้งดาบทั้งพลอง(ท่อนไม้หรือเหล็ก ด้ามยาว), เขาต้องรู้ศักยภาพและเอกลักษณ์เฉพาะของอาวุธที่ใช้ จึงจะทำให้เขาเป็นนักรบที่ยืดหยุ่นในสนามรบทุกประเภท : « นักรบที่ดีไม่ควรมีอาวุธที่ชอบเป็นพิเศษ. การคุ้นชินกับอาวุธชนิดเดียวเป็นข้อบกพร่องรุนแรง พอๆกับการไม่รู้จักอาวุธที่ใช้ดีพอ. นักรบต้องไม่เลียนแบบคนอื่น (ใช้อาวุธตามคนอื่น) แต่เลือกอาวุธที่ตัวเองรู้จักใช้อย่างถูกต้อง. ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผู้นำทหารหรือพลทหาร ที่มีความยึดติดกับอาวุธชนิดหนึ่งชนิดใดเท่านั้น.» ดังนั้นการรบจนชนะ เป็นกระบวนการที่ละเอียดประณีต. มูซาฌีต้องการชี้ทางสายกลางระหว่าง การขาดโฟกัสในการกระทำ กับการยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดสิ่งเดียว.
๑๗. อย่ากลัวความตาย. การตระหนักรู้ว่า คนต้องตาย เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเป็นซามูไร, ถูกสอนถูกฝึกให้ใช้ดาบสู้จนตัวตาย. เมื่อยอมรับการฝึกฝนอย่างไม่ลดละในวิถีซามูไร นักสู้พร้อมไปสงครามมีความตายเคียงข้างเขา. กล่าวโดยรวม วิถีซามูไร คือการยอมรับยอมจำนนต่อความตาย. เมื่อยอมรับความตาย ก็หยุดกลัวตาย, เมื่อไม่กลัว ก็ไม่กังวลว่าต้องเสี่ยงชีวิตในสนามรบ. ดังนั้นไม่ว่าในสนามรบหรือในการต่อสู้ตัวต่อตัว การยอมรับความตายทำให้ฮึกเหิมมาก. บางทีความตายอาจเป็นประตูทางผ่านไปยังอะไรที่น่าสนุกน่าสนใจกว่าการมีชีวิต ก็เป็นได้. หากความตายหมายถึงเพียงการไม่มีชีวิต อย่างน้อยเราก็ถูกปลดปล่อยจากความทุกข์สารพัดชนิดที่มากับชีวิต. สรุปแล้ว อย่ากังวลกับความตายเลย เพราะเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร.
๑๘. อย่าสั่งสมโภคทรัพย์หรือที่ดินสำหรับวัยชรา. คำสอนนี้ ชี้ชัดว่า มูซาฌีกินอยู่สมถะที่สุด, เขาอยู่เพื่อเกียรติ, ชัยชนะ, เพื่อยกระดับฝีมือและเกื้อกูลมนุษยชาติด้วยปัญญาสุขุมของเขา. เขาต่อสู้กับคู่แข่งตัวต่อตัวคนแล้วคนเล่า รู้ทั้งรู้ว่าอาจตายเพราะดาบของคู่แข่ง. ชีวิตเยี่ยงโรนิน ย่อมไม่ใฝ่หาโภคทรัพย์หรือที่ดินสำหรับวัยชรา. ในยุคปัจจุบัน ทุกคนทำงานเพื่อสิ่งเหล่านี้ ยอมสละเวลาและพลังงานทั้งหมดเพื่อรายได้ ลงทุน สร้างธุรกิจเพื่อใช้ในยามแก่เฒ่า. มูซาฌีไม่ได้บอกว่า อย่าสนใจเรื่องวัยชรา. พุทธศาสนา ไม่ได้ต่อต้านการทำงานหาเงิน ตราบใดที่มีสัมมาอาชีวะและใช้เงินเพื่อสิ่งดีๆ เพื่อช่วยเหลือคนอื่นเป็นต้น. แต่การใช้พลังงานวิ่งตามความร่ำรวย น่าเหน็ดเหนื่อยมาก จนอาจทำลายสุขภาพได้ (ดังตัวอย่างที่เราได้รู้เห็นในชีวิตมหาเศรษฐียุคปัจจุบันหลายคน). เราอาจต้องถามตัวเองว่า การบรรลุความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในที่สุดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราจริงหรือ. กรณีของมูซาฌี ความสำเร็จของเขาคือการเป็นนักดาบทั้งในเชิงศิลปะและในเชิงปฏิบัติจริง. เขาทุ่มทั้งชีวิตและจิตใจ. แต่ละคนมีวิธีการบรรลุศักยภาพสูงสุดหลายวิธี ที่ไม่เกี่ยวกับการสั่งสมโภคทรัพย์. การพัฒนาความพอใจต่อสภาวะปัจจุบัน อิ่มเอมกับชีวิตในแต่ละขณะอย่างเต็มที่. เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากมาย ก็ผ่านวัยชราได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือขัดสน.
๑๙. บูชาพระพุทธเจ้า และ(หรือ)เทพเจ้าทั้งหลาย โดยไม่หวังความช่วยเหลือจากท่านเหล่านั้น. การบูชาพระพุทธเจ้าในฐานะปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณ หรือเชื่อในเทพเจ้าอื่นๆ, ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่รับผิดชอบชีวิตของเราเอง. ลัทธิศาสนาและมุมมองทางปรัชญา อธิบายว่าทำไมเราจึงมาเกิดบนโลกนี้. ตอบคำถามที่แฝงอยู่ในใจว่า ทำไมต้องตาย แล้วอยู่ไปทำไมเป็นต้น. โชคดีหากเราเลือกเชื่อ เลือกศาสนาเองได้. แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราหลงงมงาย ว่าจะได้เห็นปาฏิหาริย์ ได้ลาภ หรือหวังให้พระเจ้าหรือเทพองค์ใดมาช่วยบันเทาทุกข์. มูซาฌีบอกว่าอย่าสวดมนตร์เพื่อขอ. สวดเสริมกำลังใจกำลังปัญญาเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค เพื่อรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าให้ดีที่สุด เยี่ยงนักรบที่พึ่งแรงพึ่งปัญญาของเขาเองทุกขณะในสนามรบ.
๒๐. คุณอาจทอดทิ้งร่างของคุณ แต่คุณต้องรักษาเกียรติยศไว้. วิถีซามูไรเป็นวิถีของเกียรติและศักดิ์ศรี. การรักษาเกียรติ สำคัญกว่าการรักษาชีวิตรอด. แต่เกียรติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม. ฟรานซิส ซาเวีย มิชชั่นนารีโรมันแคทอลิก เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ไปถึงประเทศญี่ปุ่นในราวปี 1550. ฟรานซิส ซาเวีย ได้สาธยายว่า ชาวญี่ปุ่นให้ค่าสูงมากกับเกียรติยศ การศึกและการใช้สรรพาวุธ, พวกเขารู้สึกตนว่าเหนือกว่าชนทุกชาติ. คุณค่าและความรุ่งโรจน์ทางทหาร, ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการศึก, ถูกยกระดับขึ้นเป็นเกียรติยศสูงสุดของชาติ. เรารู้กันดีว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนั้น สปิริตของ Bushido เป็นเกียรติยศและความภูมิใจสูงสุดของทหารที่ออกรบและตายเพื่อจักรพรรดิ. การยอมแพ้แก่ศัตรู ถือว่าเป็นความขี้ขลาดที่ชาวญี่ปุ่นรับไม่ได้. ผู้ที่ยอมแพ้แก่ฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะเคยต่อสู้อย่างเหี้ยมหาญและอย่างเต็มศักดิ์ศรีมาแล้ว แต่เมื่อยอมแพ้แก่ศัตรู เขาไม่เหลืออะไรแล้วในชีวิต จะถูกเหยียดหยามไปจนตาย, เขาไม่มีค่าใดเหลือแล้ว. แต่ละคนมีวิธีการธำรงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของเขาเอง ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่เขาเติบโตมาด้วย. ถ้าเราคิดว่าเกียรติสำคัญกว่าชีวิต การยอมตายเพื่อรักษาเกียรติ ก็มีค่าคู่ควรกัน. แต่หากเราไม่ไยดีกับเกียรติยศ เราคงเลือกที่จะรักษ์ชีวิตไว้. สำหรับมูซาฌี ค่าของเกียรติ อยู่เหนือชีวิตและความตาย.
๒๑. อย่าหันเหไปจากเส้นทางของซามูไร. วิถีซามูไรต้องทุ่มเททั้งกายใจ ไม่มีพื้นที่ให้โลเลหรือเบนทิศทางไปได้. วิถีของมูซาฌีเป็นวิถีดาบ. มูซาฌี ได้ใช้วิถีดาบเป็นเส้นทางสู่วิถีธรรม สู่อุดมการณ์อันสูงส่ง ที่นอกจากสยบความกลัวตาย ยังทำให้เขาเป็นบุคคลตัวอย่างของการทำดีเพื่อความดี เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นๆ. ชีวิตของมูซาฌี เป็นหลักฐานยืนยันว่า คนสามารถบรรลุอะไรมหัศจรรย์ได้ ถ้าลงมือทำอย่างทุ่มเทด้วยชีวิตจิตใจ.
เครดิตภาพจากเว็บนี้ : https://bobbydreamer.com/82-miyamoto-musashi-21-rules
หลักการคิดกับการใช้ชีวิตของมูซาฌีหลายข้อ
เป็นหลักจริยธรรมในลัทธิศาสนาอื่นๆด้วยเช่นกัน และก็เป็นส่วนหนึ่งในวัตรปฏิบัติของชาวพุทธที่ดี. หลายข้อก็โยงไปได้ถึงสโตอิซิซึมของกรีซ.
กล่าวกว้างๆ Dokkōdō เป็นธรรมะสั้นๆง่ายๆเตือนใจทุกคนได้.
โชติรส
รายงาน
๒๔
เมษายน ๒๕๖๔.
ข้อมูลอ้างอิงที่น่าสนใจจากเว็บตัวอย่างข้างล่างนี้ >>
***http://www.miyamotomusashi.eu/index.html (มูซาฌีกับพาโนรามาชีวิตในยุคนั้น)
***https://www.youtube.com/watch?v=bhlvYmn1IUQ (Miyamoto Musashi : The Way of the Ronin
(Dokkōdō), Dec 17, 2020). (วิถีซามูไรโรนินของมูซาฌี)
***https://www.youtube.com/watch?v=-5-utpPP1Tw (คลิปวีดีโอเวอชั่นม็อก(mock)ซามูไร ของชายอเมริกันคนหนึ่ง สรุปหลักการของ Dokkōdō ของคนยุคใหม่)